• Future Perfect
  • Articles
  • ความพิเศษ "หญ้าแฝก" ใช้อนุรักษ์ดินและน้ำ เสริมชุมชนรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก

ความพิเศษ "หญ้าแฝก" ใช้อนุรักษ์ดินและน้ำ เสริมชุมชนรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก

Sustainability

ความยั่งยืน9 ส.ค. 2566 13:45 น.
  • ความพิเศษของ "หญ้าแฝก" มีลักษณะเด่นหลายประการ
  • "หญ้าแฝก" ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ
  • การใช้หญ้าแฝกเป็น "นวัตกรรมสังคม" เพื่อเป็นเครื่องมือหนุนเสริมชุมชน ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

"หญ้าแฝก" ถือเป็นพืชที่เจริญเป็นกอ สามารถพบได้ในสภาพธรรมชาติทุกภาคของประเทศ บางแห่งเจริญอยู่อย่างหนาแน่น บางแห่งกระจายอยู่ทั่วไป การนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การฟื้นฟูทรัพยากรดิน และรักษาสภาพแวดล้อม จึงไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่เป็นวัชพืชในพื้นที่ 

สำหรับหญ้าแฝกเป็นพืชที่เจริญเติบโตโดยการแตกกอ เส้นผ่าศูนย์กลางของกอประมาณ 30-40 เซนติเมตร ความสูงประมาณ 0.5-1.5 เมตร ใบหญ้าแฝกมีลักษณะแคบประมาณ 0.6-1.0 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 50-75 เซนติเมตร การเจริญเติบโตในแนวดิ่งมากกว่าแนวข้าง มีระบบรากยาวหยั่งลึก 1.5-3.0 เมตร แต่แผ่ขยายด้านข้างเพียง 50-60 เซนติเมตร สามารถเก็บกักน้ำและความชื้นได้ดี

ลักษณะพิเศษของหญ้าแฝก

การที่หญ้าแฝกถูกนำมาใช้ปลูกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องมาจากมีลักษณะเด่นหลายประการ ดังนี้

  • มีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายด้านข้าง
  • มีการแตกหน่อและใบใหม่ ไม่ต้องดูแลมาก
  • หญ้าแฝกมีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อได้ตลอดปี
  • ส่วนใหญ่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ทำให้ควบคุมการแพร่ขยายได้
  • มีใบยาว ตัดและแตกใหม่ง่าย แข็งแรงและทนต่อการย่อยสลาย
  • ระบบรากยาว สานกันแน่น และช่วยอุ้มน้ำ
  • บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์
  • ปรับตัวกับสภาพต่างๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป
  • ส่วนที่เจริญต่ำกว่าผิวดิน ช่วยให้อยู่รอดได้ดีในสภาพต่างๆ

ความสำคัญของหญ้าแฝก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาเรื่องหญ้าแฝกด้วยพระองค์เอง โดยมีจุดประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ความพิเศษของหญ้าแฝก คือมีรากจำนวนมากประสานกัน สามารถยึดดินไม่ให้พังทลาย เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริที่ช่วยพัฒนาชาวเขาและพื้นที่ทำมาหากิน นอกจากการป้องกันดินและน้ำแล้ว ยังขยายโครงการทำวิจัยเพื่อมองหาประโยชน์ของหญ้าแฝกเพิ่มเติม โดยนำใบหญ้าแฝกไปทำเป็นเครื่องจักรสาน เนื่องจากมีความเหนียวและทนทาน นอกจากนี้ยังได้นำหญ้าแฝกไปผลิตเป็นยาอีกด้วย

ขณะที่ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ให้เป็นคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเน้นการใช้หญ้าแฝกเป็น "นวัตกรรมสังคม" เพื่อเป็นเครื่องมือหนุนเสริมชุมชนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งในมิติสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ สู่การบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับ สำนักงาน กปร. จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่รัชกาลที่ 9 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษาและต่อยอดโครงการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาล 9 โดยเฉพาะเรื่องหญ้าแฝก ซึ่งมีประโยชน์ในการรักษาดินและน้ำ ช่วยพัฒนาพื้นที่ที่เป็นหลุมเป็นบ่อ เป็นเนิน เชิงเขา สำหรับเก็บน้ำเพื่อจะดำเนินการเพื่อการเกษตร ป้องกันไม่ให้ดินพังทลาย

ทางด้าน ผศ.ดร.อุ่นเรือน เล็กน้อย อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ อธิบายถึงการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉบับที่ 7 ว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับมอบหมายจากสำนักงาน กปร. ให้เป็นผู้จัดทำแผนแม่บทดังกล่าว ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี โดยเน้นเรื่องการอนุรักษ์ดิน และน้ำ ทั้งเชิงรุก เชิงรับ เชิงแก้ไข และเชิงป้องกันในแผนฉบับนี้เรามุ่งเป้าหมายให้เป็นไปตาม 3 ยุทธศาสตร์ที่วางแผนไว้ ประกอบด้วย

การสืบสานวัฒนธรรมการใช้แฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การรักษา เผยแพร่และสร้างองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการใช้หญ้าแฝกเพื่อให้เป็นนวัตกรรมเพื่อสังคม ทำให้พี่น้องเครือข่ายต่างๆ ปรับบริบทในการอยู่ร่วมกัน เป็นเครื่องมือสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ การต่อยอด โดยเน้นไปที่การขยายเครือข่ายในระดับชุมชน หมู่บ้าน ประเทศ และเครือข่ายนานาชาติร่วมกับเครือข่ายหญ้าแฝกทั่วโลก

ส่วนการนำองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับวิศวกรรมมาใช้พัฒนาหญ้าแฝก ศ.ดร.สุเชษฐ์ ลิขิตเลอสรวง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า งานวิจัยก่อนหน้านี้ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับการใช้หญ้าแฝกช่วยชะลอน้ำ ไม่ทำให้เกิดภัยดินถล่ม การเสริมกำลังของราก โดยการวิเคราะห์เชิงตัวเลข เก็บข้อมูลในห้องปฏิบัติการติดตามประเมินผลต่างๆ ในการใช้หญ้าแฝกเพื่อการป้องกันภัยดินถล่มในภาคสนามในส่วนของงานวิจัยที่ทำระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาบันวิจัยสังคม ในการจัดทำแผนแม่บทครั้งนี้ เป็นการทำงานแบบ 2 ศาสตร์ โดยมีหญ้าแฝกเป็นเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำงานวิชาการไปรับใช้สังคมอย่างเป็นรูปธรรมเป็นการผนึกกำลังกันรับใช้สังคมด้วยกัน.

SHARE

Follow us

  • |