• Future Perfect
  • Articles
  • รู้จัก "ตลาดคาร์บอน" แหล่งซื้อขายคาร์บอนเครดิต

รู้จัก "ตลาดคาร์บอน" แหล่งซื้อขายคาร์บอนเครดิต

Sustainability

ความยั่งยืน10 ส.ค. 2566 14:31 น.
  • รู้จัก "ตลาดคาร์บอน" แหล่งซื้อขายคาร์บอนเครดิต 
  • "ตลาดคาร์บอน" (Carbon Market) เป็นแนวคิดในการใช้กลไกตลาดเป็นแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • ทั้งนี้ เราสามารถแบ่ง "ตลาดคาร์บอน" ออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ และตลาดแบบสมัครใจ


หลังจากที่เราได้อธิบายเกี่ยวกับ ความหมายของ คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ไปแล้วว่า คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บ ได้จากการทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบ "Project Base" หรือในระดับโครงการ มีหน่วยเป็น "ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า" เช่น โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ ฯลฯ ซึ่งต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และกระบวนการของแต่ละมาตรฐานในการทำโครงการ

กรณีของประเทศไทย คาร์บอนเครดิต คือ ใบรับรองปริมาณความสำเร็จในโครงการลด/กักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินโครงการ T-VER ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบ ทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และเมื่อได้รับรองผลการลดก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิตแล้ว ผู้พัฒนาโครงการจึงจะสามารถนำคาร์บอนเครดิตนี้ไปขายในตลาดคาร์บอนได้

ซึ่งก็มีหลายคนสงสัยว่า แล้ว "ตลาดคาร์บอน" หน้าตาเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน


"ตลาดคาร์บอน" (Carbon Market) หรือตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต 

สำหรับ "ตลาดคาร์บอน" (Carbon Market) หรือตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั้น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้ให้คำนิยามไว้ว่า เป็นสื่อกลางในการซื้อขาย แลกเปลี่ยน "คาร์บอนเครดิต" โดยใช้แนวคิดการใช้กลไกตลาดเป็นแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิลดลง และยังทำให้ผู้ที่ก่อมลพิษ หรือปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมีต้นทุนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้องบรรเทา หรือชดเชยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโลก และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวนด้วย

ทั้งนี้ ตลาดคาร์บอน แบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่

1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory carbon market) คือ ตลาดคาร์บอนที่จัดตั้งขึ้น จากผลบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมาย ซึ่งต้องมีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ออกกฎหมาย และเป็นผู้กำกับดูแลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยผู้เข้าร่วมในตลาดจะต้องมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Legally binding target) ในทางกลับกัน หากผู้เข้าร่วมในตลาด ไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ก็จะถูกลงโทษ ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการบัญญัติกฎหมาย

2. ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market) คือ ตลาดที่เกิดจากความร่วมมือของผู้ประกอบการ หรือองค์กร โดยความสมัครใจ โดยอาจจะมีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง แต่ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย 

ขณะที่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ก็สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ เช่นกันคือ

1. ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือ ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ

2. ซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) เป็นการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง โดยไม่ผ่านตลาด

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจถูกกำหนดโดยผู้กำกับดูแลตลาด ขณะที่การตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส ตามหลักการของการตั้งเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ หรือ Science Based Target (SBT).

ข้อมูลจาก : องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

SHARE
03:41

ดราม่า! รถบรรทุกขนของช่วยน้ำท่วมไม่ได้ไปต่อ โดนจับคาด่านชั่งเพราะน้ำหนักเกิน

Follow us

  • |