• Future Perfect
  • Articles
  • อาเซียน จับมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม Climate Change พร้อมยกระดับอาเซียนบวกสาม

อาเซียน จับมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม Climate Change พร้อมยกระดับอาเซียนบวกสาม

Sustainability

ความยั่งยืน4 ส.ค. 2566 14:00 น.

อาเซียน จับมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมยกระดับอาเซียนบวกสาม เพิ่มขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ

วันที่ 4 สิงหาคม 2566 นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายจาก นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมหารือเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 2 (2nd ASEAN-US High Level Dialogue on Environment and Climate Change) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 20 (20th ASEAN Plus three) ร่วมกับผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจา ณ เมืองโบโกร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

โดยในการประชุมร่วมกับสหรัฐอเมริกา ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมและความก้าวหน้าการดำเนินงานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค อาทิ United State Environmental Protection Agency (USEPA) และ USAID และหารือถึงเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับประเทศ รวมถึงได้พิจารณาร่างแผนงานอาเซียน–สหรัฐอเมริกา ด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกำหนดการจัดการประชุมหารือระดับรัฐมนตรีอาเซียน–สหรัฐอเมริกา ด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 1 (1st ASEAN-U.S. Ministerial Dialogue on Environment and Climate) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ณ สปป.ลาว

ในส่วนของการประชุมอาเซียนบวกสาม ที่ประชุมได้มีการหารือถึงข้อริเริ่มความร่วมมือด้านขยะพลาสติกในทะเลของอาเซียนบวกสาม ซึ่งประกอบด้วย ประเทศสมาชิกอาเซียน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐเกาหลี ในการดำเนินงานโครงการภายใต้ศูนย์ Regional Knowledge Center for Marine Plastic Debris ณ ประเทศญี่ปุ่น

และยังได้หารือถึงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับทั้งสามคู่เจรจา ได้แก่ 1. อาเซียน-จีน ในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน กรอบการดำเนินงานความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียน-จีน (Framework of ASEAN-China Environmental Cooperation) เมืองยั่งยืนและการลดขยะพลาสติกในทะเล เป็นต้น 

2. อาเซียน-ญี่ปุ่น ในด้านการจัดการขยะ มลพิษทางทะเล ความหลากหลายทางชีวภาพ สารเคมี (สารปรอทในเครื่องมือการแพทย์) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการลดการปล่อยก๊าซและการปรับตัวและความโปร่งใส

และ 3. อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ในด้านคุณภาพอากาศ เครือข่ายข้อมูลดาวเทียมตรวจติดตามมลพิษทางอากาศ (PANDORA) ความร่วมมือด้านการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ ความร่วมมือเกาหลี - แม่โขง (ROK-Mekong) ในด้านการจัดการน้ำ การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อริเริ่มความร่วมมือในอนาคต Green Transition Initiative (GTI) เป็นต้น.

SHARE
00:51

"เมฆสีขาว" ลอยไหลข้ามเทือกเขาตาง๊อก จ.สระแก้ว ปรากฏการณ์ธรรมชาติสุดงดงาม

Follow us

  • |