- รู้จักความหมายของ "คาร์บอนเครดิต"
- "คาร์บอนเครดิต" ต่างจาก "สิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก" อย่างไร
- องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. มีหน้าที่ให้การรับรองปริมาณการปล่อย การลด และการชดเชยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาโครงการและการตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง
เรียกว่ากระแส "ความยั่งยืน" และ "สิ่งแวดล้อม" กำลังเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจ ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งก่อนหน้านี้ที่เป็นกระแสมากๆ คงเป็นเรื่องของ "คาร์บอนเครดิต" ถูกนำมาใช้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เพื่อหวังลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ
คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คืออะไร? สำคัญอย่างไร?
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. อธิบายว่า คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บ ได้จากการทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบ "Project Base" หรือในระดับโครงการ เป็นกลไก "ภาคสมัครใจ" มีหน่วยเป็น "ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า" เช่น โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ โครงการผลิตพลังงานความร้อนโดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวล โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน โครงการปลูกป่าไม้และอนุรักษ์ป่า เป็นต้น ซึ่งต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และกระบวนการของแต่ละมาตรฐานในการทำโครงการ
กรณีของประเทศไทย คาร์บอนเครดิต คือ ใบรับรองปริมาณความสำเร็จในโครงการลด/กักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินโครงการ T-VER ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบ ทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และเมื่อได้รับรองผลการลดก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิตแล้ว ผู้พัฒนาโครงการจึงจะสามารถนำคาร์บอนเครดิตนี้ไปขายในตลาดคาร์บอนได้
โดยผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตส่วนใหญ่ เป็นบริษัทหรือบุคคลที่ทำ CSR ซื้อคาร์บอนเครดิตไปใช้ในการชดเชยเพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutral ทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ การจัดประชุม/สัมมนา หรืองานอีเวนต์ และระดับบุคคล ส่วนผู้ขายหรือผู้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก จะเป็นองค์กรภาครัฐ เอกชน สาขาการผลิต/บริการใดก็ได้ หรืออาจจะเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสนใจในการเข้าร่วมทำโครงการของผู้พัฒนาโครงการ หากไม่ทำก็ไม่มีบทลงโทษ
สำหรับประเทศไทย ได้เข้าร่วมให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต เมื่อ 28 สิงหาคม พ.ศ.2545 โดยไทยอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่ไม่ถูกบังคับให้มีพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่สามารถร่วมดำเนินโครงการได้ในฐานะผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตจากการดำเนินโครงการ
ก่อนที่ในปี พ.ศ.2550 คณะรัฐมนตรี มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ขึ้น ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้บริการ ดูแล และกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการวัด การรายงาน และการทวนสอบ และให้การรับรองปริมาณการปล่อย การลด และการชดเชยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาโครงการและการตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
คาร์บอนเครดิต ต่างจากสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไร
ในเรื่องของ "คาร์บอนเครดิต" และ "สิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก" ยังมีหลายคนสงสัยว่า มันต่างกันอย่างไร เพราะหลายๆ ครั้งก็จะเจอว่า คาร์บอนเครดิต เป็นสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เกี่ยวกับ "สิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก" (Allowance) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก อธิบายว่า คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อนุญาตให้ปล่อยได้ภายใต้ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) หรือ Cap and Trade ซึ่งเป็นกลไกประเภท “Site Based” หรือ “Facility Based” ในระดับองค์กรที่ใช้กำกับดูแลผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของประเทศให้ลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยส่วนใหญ่จะมีภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งรัฐบาลจะจัดสรรสิทธิฯ ให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงๆ พร้อมกับเป้าหมายในการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหากโรงงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าสิทธิฯ ที่ตนเองมี จะต้องไปซื้อสิทธิจากโรงงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าเป้าหมาย หรือสิทธิฯ ที่ได้รับนั่นเอง ในทางกลับกัน โรงงานที่มีสิทธิฯ เหลือ สามารถขายสิทธิฯ ได้
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะมองว่า เรื่อง "คาร์บอนเครดิต" ยังเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่หากคิดให้ดี จะพบว่า การที่เราสนับสนุนสินค้าในภาคอุตสาหกรรม ที่ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกออกมามากๆ จนสร้างผลกระทบทำให้เกิด "ภาวะโลกร้อน" จะบอกว่าเป็นเรื่องไกลตัวคงไม่ได้.
อ้างอิง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)