• Future Perfect
  • Articles
  • "ขยะพลาสติก" ในทะเล มลพิษทางสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ควรมองข้าม

"ขยะพลาสติก" ในทะเล มลพิษทางสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ควรมองข้าม

Sustainability

ความยั่งยืน24 ก.ค. 2566 08:00 น.
  • ทุกๆ ปีจะมีขยะพลาสติกประมาณ 12 ล้านตัน ที่ถูกทิ้งสู่ท้องทะเล และมหาสมุทร ซึ่งล้วนมาจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น
  • ขยะพลาสติกบางชนิดอาจใช้เวลาย่อยสลายถึง 450 ปี ขณะที่บางส่วนจะแตกตัวกลายเป็น "ไมโครพลาสติก" และปนเปื้อนอยู่ในท้องทะเล และสิ่งมีชีวิต
  • แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) จะประกาศว่าไมโครพลาสติก ที่รับเข้าสู่ร่างกายมนุษย์จะถูกขับออกได้ แต่หากยังหลงเหลืออยู่ในร่างกาย ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายประการ

ปัญหาขยะในทะเล นับได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศที่ต้องแก้ไข และไม่ควรมองข้าม เพราะส่วนใหญ่คือ "ขยะพลาสติก" ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นขยะจากระบบระบายน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ขยะที่ถูกทิ้งบนชายหาด และบริเวณชายฝั่งจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งขยะเหล่านี้เมื่อไม่ได้จัดการ หรือทำลายให้ถูกต้องเหมาะสม สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในท้องทะเล

จากสถิติพบว่าทุกๆ ปีจะมีขยะพลาสติกประมาณ 12 ล้านตัน ถูกทิ้งสู่ทะเล และมหาสมุทร ซึ่งมีเพียงร้อยละ 5 ที่พบเห็นเป็นชิ้นส่วนลอยอยู่ในทะเล ส่วนที่เหลือมักจม หรือล่องลอยไปตามกระแสน้ำ อยู่ใต้ท้องมหาสมุทรทั่วโลก เนื่องจากส่วนใหญ่มีน้ำหนักเบา จึงถูกคลื่น ลม กระแสน้ำ น้ำขึ้นน้ำลง พัดพาไปได้ไกล

ซึ่งขยะพลาสติกบางชิ้นอาจจะใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี แต่บางชนิดอาจย่อยสลายจนกลายเป็น "ไมโครพลาสติก" ชิ้นเล็กๆ แล้วไปปนเปื้อนอยู่ในระบบนิเวศ รวมถึงห่วงโซ่อาหารในท้องทะเล และย้อนกลับมาทำร้ายมนุษย์เองจากการบริโภค หรือดำรงชีวิตอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่มีไมโครพลาสติกกระจายอยู่เต็มไปหมด

"ไมโครพลาสติก" คืออะไร

ไมโครพลาสติก หรือ Microplastics คือ อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มักเกิดจากการย่อยสลาย หรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ หรือเกิดจากพลาสติกที่มีการสร้างให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งาน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 

  1. ไมโครพลาสติกปฐมภูมิ คือ พลาสติกที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาให้มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร เพื่อการใช้ประโยชน์เฉพาะด้าน สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเล จากการทิ้งของเสียโดยตรงจากบ้านเรือนสู่แหล่งน้ำ และไหลลงสู่ทะเล
  2. ไมโครพลาสติกทุติยภูมิ คือ พลาสติกที่เกิดจากกระบวนการสลายตัวของพลาสติกขนาดใหญ่จนมีขนาดเล็กลงจากการย่อยสลายทางกล ย่อยสลายทางเคมี ย่อยสลายทางชีวภาพ และย่อยด้วยแสง โดยเฉพาะ รังสีอัลตราไวโอเลต หรือ UV ทำให้พลาสติกแตกตัวกลายเป็นสารแขวนลอยปะปนอยู่ในแม่น้ำและทะเล

"ไมโครพลาสติก" เป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่ถูกกล่าวถึงและได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่ได้ถูกจัดการอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ทำให้ส่วนหนึ่งอาจถูกพัดพาลงสู่แหล่งน้ำและทะเลจนก่อให้เกิดปัญหาแพขยะทะเลได้ในที่สุด

โดยเฉพาะพลาสติกที่ถูกแสงแดด หรือแรงกระแทกจากคลื่น ลม และกระแสน้ำในแหล่งน้ำและทะเล จนแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ และแพร่กระจายได้ง่าย ทำให้ถูกไปสะสมตามร่างกายของสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ อีกทั้งยังสามารถเป็นวัสดุตัวกลางที่สะสมสารพิษอื่นๆ อีกด้วย

ผลกระทบของไมโครพลาสติก

แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) จะประกาศว่า ไมโครพลาสติก ที่รับเข้าสู่ร่างกายมนุษย์จะถูกขับออกผ่านการขับถ่ายได้ ปัจจุบันยังไม่พบอันตราย และยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม แต่อาจจะต้องตั้งคำถามว่า แล้วหากไมโครพลาสติกถูกขับออกไม่หมด และมีระดับที่เล็กลงล่ะ

ทั้งนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้คาดการณ์ถึงไมโครพลาสติกที่สามารถส่งผลต่อมนุษย์ได้หลายประการในระยะยาว ดังนี้

  • รบกวนฮอร์โมนในร่างกาย ไมโครพลาสติกมีสารที่เรียกว่า Bisphenol A (BPA) เป็นส่วนประกอบของพลาสติก BPA อาจเข้าไปรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ มีผลกระทบกับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่คอยควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ BPA ยังอาจมีส่วนทำให้ฮอร์โมนเพศชายมีการเปลี่ยนแปลงได้ มีผลกระทบถึงการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชาย
  • เด็กมีพัฒนาการลดลง สาร BPA มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ทำให้ความจำและระบบประสาทลดลง
  • ขัดขวางการทำงานของเส้นเลือด เนื่องจากหลายคนอาจรับไมโครพลาสติกเข้าไปมากกว่า 1 หมื่นชิ้นต่อปี จากการกินอาหารทะเลและดื่มน้ำจากขวดพลาสติก ไมโครพลาสติกซึ่งมีขนาดเล็กเท่าแบคทีเรียอาจเข้าสู่กระแสเลือดและปิดกั้นทางเดินเลือดได้ในที่สุด
  • ทำให้เกิดโรคมะเร็ง หากไมโครพลาสติกฝังเข้ากับเนื้อเยื่อในร่างกาย อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง เพราะไมโครพลาสติกอาจปล่อยสารพิษ หรือโลหะหนักที่ติดจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่เนื้อเยื่อ
  • เป็นตัวกลางนำสารพิษ ไมโครพลาสติกมีคุณสมบัติที่สามารถดูดซับ หรืออุ้มน้ำได้ จึงสามารถเก็บเอาสารพิษบางประเภท เช่น สารพิษในยาฆ่าแมลง DDT ในน้ำ คือเมื่อไมโครพลาสติกยิ่งอยู่ในทะเลนานก็จะยิ่งดูดซับความเป็นพิษเอาไว้ ส่วนสัตว์เล็กในทะเลที่กินไมโครพลาสติกเข้าไป ก็จะรับสารพิษนั้นเอาไว้ด้วย เมื่อคนนำมากินก็จะได้รับสารพิษตกค้างจากสัตว์เหล่านั้นเช่นกัน

ปัญหา "ขยะพลาสติก" กับท้องทะเลไทย

อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าความสวยงามของทะเลไทยนั้นขึ้นชื่อติดอันดับโลก แต่รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทย ก็ติดอันดับที่ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน ซึ่งปล่อยขยะมากถึง 1 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โฟม เป็นต้น

ถัดมาคือ ขยะจากการทำการประมง เช่น อวน เชือก เป็นต้น รวมไปถึงขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นจากบุคคล ครัวเรือน อุตสาหกรรม ที่ทิ้งขยะลงแหล่งน้ำต่างๆ จากลำคลองสู่แม่น้ำ ท้ายที่สุดแล้วก็จะมีขยะส่วนหนึ่งลงสู่ท้องทะเล ซึ่งปัญหาขยะล้นทะเลไทย เป็นเพียงหนึ่งในหลายปัญหาที่สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการขยะที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการเติบโตของเศรษฐกิจ

โดย กรมควบคุมมลพิษ ได้สำรวจปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศ ในปี 2556 พบว่า ประเทศไทย มีปริมาณขยะมูลฝอยรวม 26.77 ล้านตัน แต่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 7.2 ล้านตัน และขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์อยู่ที่ 5.1 ล้านตัน

ในขณะที่ขยะมูลฝอยจำนวน 6.9 ล้านตัน ไม่ได้นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ส่วนอีก 7.6 ล้านตัน คือปริมาณขยะมูลฝอยที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ จะเห็นได้ว่าเกินครึ่งของขยะมูลฝอยในประเทศไทยยังไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างผลประทบอย่างกว้างและลุกลามมาถึงท้องทะเลไทย ดังที่เรามักเห็นข่าวสัตว์ต่างๆ ต้องสังเวยชีวิตไปกับเศษขยะพลาสติกที่อยู่ตามทะเลและชายหาด

แนวทางแก้ปัญหา "ขยะพลาสติก" ตกค้างในทะเล

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แนะนำการแก้ปัญหาทิ้งขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเล ซึ่งนอกจากจะช่วยทะเล สัตว์ทะเล และชายฝั่ง ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังช่วยให้สถานการณ์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และมลพิษของโลกดีขึ้นด้วย ดังนี้

  1. ใช้วัสดุอื่นทดแทนพลาสติก ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ใช้ถ้วย จาน และหลอดกระดาษ ใช้โฟมชานอ้อย หรือใบตองในการห่ออาหาร หรือลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
  2. ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายที่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์
  3. รีไซเคิล นำผลิตภัณฑ์พลาสติกเก่านำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle และ Reuse)
  4. ติดตั้งทุ่นดักขยะ ในบริเวณคลองท่อระบายน้ำโดยใช้ตาข่ายและอวน หรือแห ดักขยะจากบริเวณปากแม่น้ำ หรือปากคูคลองระบายน้ำป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกหลุดไหลลงทะเล
  5. เผาทำลายขยะอย่างถูกวิธี เผาทำลายเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยใช้เตาเผาขยะที่ถูกหลักวิชาการ และนำพลังงานมาผลิตกระแสไฟฟ้า
  6. การรณรงค์ร่วมกันเก็บขยะตกค้างในระบบนิเวศชายหาด ปะการัง และป่าชายเลน เพื่อลดปริมาณขยะลงสู่ทะเล

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดจะเห็นได้ว่า "ไมโครพลาสติก" เป็นอันตรายเงียบที่เราต้องตระหนักและหาทางป้องกัน โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้มีการทิ้งขยะพลาสติกลงไปในทะเล โดยการลดการเกิดขยะพลาสติกเริ่มต้นได้ง่ายๆ ที่ตัวเรา เพื่อช่วยโลกและช่วยรักษาชีวิตตัวเอง.

SHARE
02:26

นาทีช็อก! “หนุ่มจีน” ลื่นตกหน้าผา ระหว่างเดินป่าฝนตก กล้อง 360 องศา จับภาพนาทีเฉียดตายไว้ได้

Follow us

  • |