• Future Perfect
  • Articles
  • "Textile Recycling" เทรนด์เสื้อผ้ารักษ์โลก ทางออก "ขยะสิ่งทอ"

"Textile Recycling" เทรนด์เสื้อผ้ารักษ์โลก ทางออก "ขยะสิ่งทอ"

Sustainability

ความยั่งยืน20 ก.ค. 2566 10:38 น.
  • Fast Fashion คือ สินค้าแฟชั่น ใส่ตามกระแส มีการผลิตออกมาเป็นจำนวนมากในเวลาสั้นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่ค่อนข้างสูง แต่ใส่ไม่นานก็เอาต์
  • รู้หรือไม่ Fast Fashion เป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
  • Textile Recycling เทรนด์เสื้อผ้ารักษ์โลก หนึ่งในทางออก "ขยะสิ่งทอ"

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบช็อปปิ้งเสื้อผ้า เทรนด์ไหนมา ฉันต้องมี เทรนด์ไหนดี ต้องซื้อมาประดับตู้แล้วละก็ อาจจะต้องตระหนักไว้ด้วยว่า คุณก็เป็นหนึ่งในต้นตอทำลายสิ่งแวดล้อม จากเสื้อผ้าที่เป็น Fast Fashion เหล่านี้

Fast Fashion คืออะไร

Fast Fashion หมายถึง สินค้าแฟชั่นต่างๆ ใส่ตามกระแส ต้นทุนต่ำ ขายในราคาถูก มีการผลิตออกมาอย่างรวดเร็วและจำนวนมาก เพื่อตอบสนองกับความต้องการซื้อสูง และมีอายุการใช้งานสั้น หรือไม่นานก็เอาต์แล้วนั่นเอง

Fast Fashion ตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

แม้อุตสาหกรรมแฟชั่น จะสร้างสีสันให้กับผู้บริโภค ได้แต่งตัวตามสไตล์ของตัวเอง แต่อีกด้าน อุตสาหกรรมสิ่งทอ หรือผู้ผลิตเสื้อผ้า กำลังถูกถามถึงความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ ถูกระบุว่า เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษเป็นอันดับต้นๆ คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมนี้ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงประมาณ 1.2 พันล้านตันต่อปี รวมถึงสร้างขยะมหาศาล 

ที่ผ่านมา มีข้อมูลว่า สถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) ระบุว่า เสื้อผ้าที่ผลิตจากใยฝ้าย 1 ตัว ต้องใช้น้ำในการปลูกฝ้ายถึง 2,700 ลิตร ทำให้บางประเทศที่เป็นฐานการผลิตเสื้อผ้าอาจต้องสู้กับปัญหาการขาดแคลนน้ำซึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตจากโพลีเอสเตอร์ หรือเส้นใยสังเคราะห์ เท่ากับว่าเรากำลังสวมใส่เชื้อเพลิงฟอสซิล 

ซึ่งนี่เป็นเพียงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพียงส่วนหนึ่ง ที่เกิดจากอุตสาหกรรมสิ่งทอเท่านั้น


ทางออก "ขยะสิ่งทอ"

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันแบรนด์ต่างๆ หลายแบรนด์หันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม และนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของอุตสาหกรรมนี้ แต่ก็ยังเห็นว่า มีเสื้อผ้าแฟชั่นมหาศาลที่ถูกทิ้งเป็นภูเขาขยะในหลายประเทศ การกำจัดขยะเหล่านี้ บางประเทศก็จะถูกนำไปเผา วัตถุดิบหลอมละลายเป็นสารเคมีที่ไหลลงสู่ทะเล วนกลับมาสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมไม่จบไม่สิ้น

จากปัญหาข้างต้น อุตสาหกรรมแฟชั่น จึงเริ่มแก้ไขปัญหาตลอดทั้งซัพพลายเชนที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการลงนามกฎบัตรสหประชาชาติด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยผู้ลงนามตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดซัพพลายเชนลง 30% ภายในปี 2573 และไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินแห่งใหม่ขึ้นในโรงงานขอบเขตที่ 1 และ 2 ภายในปี 2568 ด้วย

ซึ่งในปัจจุบัน มีแบรนด์ชั้นนำ ร่วมลงนามเป็นจำนวนมาก กว่า 90 บริษัท กระจายตัวอยู่ในหลายประเทศ โดยมีแนวทางปฏิบัติ คือ การใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต, การเลือกวัสดุที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมและอย่างยั่งยืน, การขนส่งคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ, เสริมสร้างการรับรู้ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น, การทำงานร่วมกับสถาบันการเงินและผู้กำหนดนโยบาย และการขับเคลื่อนธุรกิจสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

Textile Recycling เทรนด์ใหม่ วงการแฟชั่น

เสื้อผ้าจากวัสดุรีไซเคิล หรือ จากขยะสิ่งทอ (Textile Recycling) เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้น หลังจากที่หลายแบรนด์ชั้นนำ หยิบมาเป็นจุดขายในเสื้อผ้าบางคอลเลกชัน หรือทั้งไลน์การผลิต โดยวัสดุที่ใช้สำหรับการรีไซเคิลสิ่งทอสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

  • ขยะสิ่งทอก่อนการบริโภค (Pre-consumer) ส่วนใหญ่เป็นเศษด้าย เศษผ้า ที่เหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
  • ขยะสิ่งทอหลังการบริโภค (Post-consumer) ได้แก่ สิ่งทอที่ถูกทิ้ง เสื่อมสภาพ หรือผ่านการใช้งานแล้ว เช่น เสื้อผ้าเก่า และของใช้ต่างๆ ภายในบ้าน

 

สำหรับกระบวนการผลิต Textile Recycling เป็นเสื้อผ้าแฟชั่นนั้น จะเริ่มจากการแกะวัสดุแข็งที่มากับเสื้อผ้า เช่น ซิป กระดุม ฯลฯ ออก ก่อนจะนำไปตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แยกสีเพื่อเข้าสู่กระบวนการแปลงสภาพ ใช้ตัวทำละลายกำจัดสิ่งแปลกปลอมและอัดขึ้นรูป เพื่อนำมาปั่นเป็นเส้นใยรีไซเคิล สำหรับการผลิตเสื้อผ้า หรือผลิตภัณฑ์สิ่งทอใหม่

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า การผลิตสิ่งทอจากเส้นใยรีไซเคิล จะช่วยลดปริมาณของการใช้น้ำ ได้มากถึง 95% และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 45% ต่อปี ว่ากันว่าเทียบเท่าการปลูกป่า 50,000 ต้น

แต่เนื่องด้วยการผลิตเสื้อผ้าที่มาจากเส้นใยรีไซเคิลมีหลายขั้นตอน และยังทำได้ยาก จึงส่งผลให้มีราคาที่ค่อนข้างสูง ถ้าเทียบกับเสื้อผ้าลักษณะเดียวกัน ดังนั้น จึงอาจตอบโจทย์กับกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ หรือให้ความใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อม.

SHARE

Follow us

  • |