- รู้จัก "หญ้าทะเล" ระบบนิเวศชายฝั่ง ที่มีความสำคัญกับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล
- หญ้าทะเล แหล่งกักเก็บคาร์บอนชั้นยอดของมนุษย์ กำลังสำคัญของการผลักดันภารกิจ Net Zero
- เช็กสถานภาพของ "หญ้าทะเล" 12 ชนิดในประเทศไทย และความสำคัญของการอนุรักษ์
อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า ปัจจุบันนี้ทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพราะทุกพื้นที่ต้องประสบปัญหาและผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งมีตัวการสำคัญมาจาก ก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์" ที่ถูกปล่อยมาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์
หลายประเทศทั่วโลกจึงเข้าร่วม และทำเริ่มภารกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission โดยมีเงื่อนไข คือ การสร้างสมดุลให้กับสภาพภูมิอากาศของโลก ด้วยวิธีการจำกัด หรือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศให้น้อยที่สุด จนกลายเป็นศูนย์ ให้สำเร็จภายใน ค.ศ.2065-2070
ซึ่งทางเลือกที่หลายหน่วยงานมักพูดถึงกันบ่อยในช่วงนี้ คือ การเพิ่มพื้นที่และปริมาณการกักเก็บคาร์บอนจากระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง หรือ Blue Carbon หลังจากมีผลวิจัยชี้ว่ามีประสิทธิภาพกักเก็บและดูดซับคาร์บอนได้สูงกว่าป่าสีเขียวบนบก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "หญ้าทะเล" แหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีประสิทธิภาพสูง แม้มีพื้นที่น้อยกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ ของมหาสมุทรทั้งหมด แต่สามารถกักเก็บคาร์บอนในมหาสมุทรไว้ได้ถึงปีละ 10-18% หรือคิดเป็นปริมาณ 19.9 กิกะตันของคาร์บอนในทะเล
"หญ้าทะเล" คืออะไร
หญ้าทะเล หรือ seagrass เป็นกลุ่มของพืชดอกเพียงกลุ่มเดียวที่มีวิวัฒนาการและปรับตัวจนดำรงชีวิตอยู่ได้ในทะเล โดยลักษณะโครงสร้างภายนอกคล้ายคลึงกับหญ้าที่อยู่บนบก และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณน้ำตื้นที่มีแสงแดดส่องถึง โครงสร้างของใบมีความซับซ้อน มีส่วนประกอบดังนี้
- ราก เป็นส่วนที่ใช้ในการดูดซึมสารอาหารและแร่ธาตุจากในดิน ทั้งยังช่วยในการยึดเกาะกับพื้นดิน ทำให้หญ้าทะเลมีความมั่นคง
- เหง้า เป็นส่วนของลำต้นที่เจริญคืบคลานไปใต้พื้นผิวดิน
- ใบ เป็นส่วนที่ใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสงเพื่อสร้างอาหาร มีรูปร่างแตกต่างกันตามแต่ละชนิดของหญ้าทะเล มีทั้งชนิดที่ใบมีลักษณะเป็นแผ่นแบน และชนิดที่เป็นท่อกลม ใบของหญ้าทะเลใช้เป็นลักษณะสำคัญในการจำแนกชนิดของหญ้าทะเล
แหล่งรวม "หญ้าทะเล" ในน่านน้ำไทย
ในปัจจุบัน หญ้าทะเลทั่วโลกจะมีประมาณ 58 ชนิด โดยสามารถพบเจอได้ทั่วไปทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น สำหรับประเทศไทยสามารถพบหญ้าทะเลได้ในหลายพื้นที่ เช่น แหล่งน้ำกร่อย หรือปากแม่น้ำที่ติดป่าชายเลน ชายฝั่งน้ำตื้นที่มีพื้นทราย หรือทรายปนโคลน และที่ลึกติดกับแนวปะการัง จำนวน 12 ชนิด
ได้แก่ หญ้ากุยช่ายทะเล, หญ้ากุยช่ายเข็ม, หญ้าใบมะกรูด หรือหญ้าอำพัน, หญ้าเงาใบเล็ก, หญ้าเงาแคระ, หญ้าเงาใส, หญ้าชะเงาใบมน, หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย, หญ้าคาทะล, หญ้าชะเงาเต่า, หญ้าตะกานน้ำเค็ม และหญ้าต้นหอมทะเล
ซึ่งสามารถพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทย และทางฝั่งอันดามัน ยกเว้น "หญ้าตะกานน้ำเค็ม" ที่สามารถพบแค่เฉพาะทางฝั่งอ่าวไทยเท่านั้น โดยแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุดในน่านน้ำไทย คือ บริเวณเกาะลิบง จังหวัดตรัง
ประโยชน์สารพัดของหญ้าทะเล
หญ้าทะเล เป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญมากต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล เพราะเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลและสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ได้แก่ กุ้ง หอย ปูม้า ปลา ไส้เดือนทะเล ตลอดจนสัตว์เล็กๆ นานาชนิด รวมถึงยังเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์ใหญ่หายากที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างพะยูน และเต่าทะเล
นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในด้านที่อยู่อาศัย เพราะเป็นแหล่งวางไข่ และอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการกรองและปรับปรุงคุณภาพน้ำ เนื่องจากมีระบบรากที่คอยยึดจับเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี
หญ้าทะเล แหล่งกักเก็บคาร์บอนชั้นยอดของมนุษย์
นอกจากหญ้าทะเลจะมีความสำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิตในน้ำแล้ว ยังมีความสำคัญต่อโลกของเรา เนื่องจากหญ้าทะเลถือเป็นระบบนิเวศที่ดูดซับคาร์บอนได้ดีที่สุด แม้ว่าจะมีพื้นที่น้อยกว่าร้อยละ 0.2 ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด แต่กลับกักเก็บคาร์บอนไว้ได้ถึงร้อยละ 10 ต่อปี หรือเกือบ 50 เท่า
และยังรวมไปถึงระบบนิเวศทางทะเลอื่นๆ อาทิ พื้นที่ป่าชายเลน และป่าพรุน้ำเค็ม ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ล้วนมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนในอากาศ หรือที่เราเรียกกันว่า Blue Carbon ที่สามารถดูดซับคาร์บอนลงไปกักเก็บไว้ในใต้ดินได้ถึงร้อยละ 50-99 ถือเป็นความหวังในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
สภานภาพของ "หญ้าทะเลไทย" และภัยคุกคามในปัจจุบัน
แม้หลายหน่วยงานจะหันมาให้ความสำคัญกับระบบนิเวศท้องทะเลมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทรัพยากรชายฝั่งมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงมาก ซึ่งระบบนิเวศหญ้าทะเลก็เป็นด่านแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ จากมนุษย์ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ท้องทะเลต่างๆ เช่น การขุดลอกร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ และการก่อสร้างท่าเรือ เป็นต้น ส่งผลให้พื้นที่หญ้าทะเลถูกทำลายโดยตรง
- การพัฒนาชายฝั่งทะเล เช่น การก่อสร้างที่ก่อให้เกิดตะกอนชะล้างลงสู่ทะเล โดยตะกอนดังกล่าวจะปกคลุมใบหญ้าและปิดกั้นการสังเคราะห์แสงของหญ้าทะเล
- การเดินเรือ และการสัญจรทางน้ำ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อแหล่งหญ้าทะเล ทำให้ใบหญ้าทะเลถูกตัดขาด หน้าดินถูกคุ้ย เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนในน้ำ ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล
- การทำประมงบางประเภท เช่น คราดหอย เรืออวนลากขนาดเล็ก เรืออวนรุน เรืออวนทับตลิ่งขนาดใหญ่ ที่ทำการประมงในแหล่งหญ้าทะเล ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่แหล่งหญ้าทะเล และสัตว์ทะเล
- น้ำเสียตามชายฝั่งทะเล เช่น การทำเหมืองแร่ ท่าเทียบเรือ สะพานปลา โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชนบ้านเรือน และการทำนากุ้ง ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล
นอกจากนี้การเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลอาจเกิดจากปัจจัยธรรมชาติ คือ ภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศและน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น ทำให้การกระจายตัวของหญ้าทะเลเปลี่ยนแปลง และเน่าตายจากภัยธรรมชาติอื่นๆ เช่น สินามิ และพายุ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า "หญ้าทะเล" มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางชายฝั่ง และสิ่งมีชีวิตบนบก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการกักเก็บคาร์บอนที่จะเป็นกำลังหลักในการผลักดันภารกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์
ดังนั้น เราจึงต้องร่วมส่งเสริม และปลูกหญ้าทะเลมากยิ่งขึ้น รวมถึงต้องช่วยอนุรักษ์โดยการลดกิจกรรมที่ทำลายหญ้าทะเล ทำให้หญ้าทะเลมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อช่วยโลกเราต่อไปในอนาคต.
อ้างอิงของมูลจาก : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ