• Future Perfect
  • Articles
  • BCG Model คืออะไร ให้ประโยชน์อย่างไรกับประชาชนและภาคธุรกิจ

BCG Model คืออะไร ให้ประโยชน์อย่างไรกับประชาชนและภาคธุรกิจ

Sustainability

ความยั่งยืน13 ก.ค. 2566 16:11 น.
  • ทำความรู้จัก BCG Model ให้ประโยชน์อย่างไรกับประชาชนและภาคธุรกิจ
  • แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์
  • อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ก็เริ่มที่จะนำ BCG โมเดล มาปรับใช้ในองค์กร เพื่อมุ่งสู่การแข่งขัน ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม โดยมองถึงความยั่งยืนเป็นสำคัญ

อย่างที่รู้กันดีว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวช้า ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศมีรายได้น้อย ถึงปานกลาง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า BCG Economy Model ด้วยการต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่เป็นจุดแข็งของประเทศ ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจาก “ทำมากแต่ได้น้อย” ไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก” กระจายโอกาส รายได้ ไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง ด้วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน

ซึ่งการพัฒนาและขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ เนื่องจากความท้าทายสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ในทศวรรษหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การระบาดของโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ การแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการลดลงของทรัพยากร

ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาอย่างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนแรงกดดันหรือข้อจำกัดเป็นพลังในการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดการเร่งรัดพัฒนาความสามารถในการฟื้นตัว และการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก 

BCG Model คืออะไร

BCG โมเดล คือ โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม เพื่อความยั่งยืน โดยประกอบไปด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ

B = Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มผลผลิต, สร้างมูลค่าเพิ่ม หรือความหลากหลายทางชีวภาพ

C = Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การใช้ทรัพยากรคุ้มค่า ใช้ผลิตภัณฑ์เต็มวงจรชีวิต และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ 

G = Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว สร้างความยั่งยืน ลดก๊าซเรือนกระจก ลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด

ซึ่ง BCG จะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นแค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และความยั่งยืน เปลี่ยนข้อได้เปรียบจากความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน



BCG โมเดล กับ 4 ยุทธศาสตร์

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 

ยุทธศาสตร์ที่ 1:  การสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากร และความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ธรรมชาติ บนพื้นฐานของความอยู่ดีกินดีของมนุษย์รวมถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำตามหลักการหมุนเวียน

ยุทธศาสตร์ที่ 2: การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ศักยภาพของพื้นที่โดยการระเบิดจากภายใน เน้นการตอบสนองความต้องการในแต่ละพื้นที่เป็นอันดับแรก ต่อยอดและยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3: ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน นำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมายกระดับประสิทธิภาพการผลิต ลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ การหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ หรือการนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ยกระดับมาตรฐานและให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นลักษณะเศรษฐกิจแบบ “ทำน้อยได้มาก” แทน

ยุทธศาสตร์ที่ 4:  เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต/บริการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด สร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบกรอบแผนยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 โดยยกให้เป็น "วาระแห่งชาติ" สำหรับการดำเนินวิถีชีวิตใหม่หลังการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (Post COVID-19 Strategy) พร้อมให้นำแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้เป็นกรอบการทำงานของงบประมาณปี 2565 ด้วย



ตัวชี้วัดการเติบโตอย่างยั่งยืน

แล้วอะไรคือ ตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจของประเทศที่ใช้ BCG Model ได้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

ทั้งนี้ มีการวางวิสัยทัศน์ เป้าหมายและตัวชี้วัด ปี 2570 เอาไว้ เป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน BCG Model ดังนี้ 

เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

  • มูลค่า GDP ของเศรษฐกิจ BCG เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท
  • สัดส่วนผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูงเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20
  • การเพิ่มขึ้นของรายได้ของเศรษฐกิจฐานรากไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50

ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

  • ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ 10 ล้านคน
  • จำนวนผู้ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและทุพโภชนาการต่ำกว่าร้อยละ 5
  • จำนวนผู้เข้าถึงยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ราคาแพงแม้ในภาวะวิกฤติได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 3 แสนคน
  • จำนวนชุมชนมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 20

สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  • ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลง 1 ใน 4 จากปัจจุบัน
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 เมื่อเปรียบเทียบกับ ปี 2548
  • ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู เช่น เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ 32 ล้านไร่

การพึ่งพาตนเอง

  • จำนวนผู้ที่ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะที่สูงขึ้น ไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน
  • จำนวนสตาร์ตอัพและ IDEs (Innovative Driven Enterprises) ที่เกี่ยวข้องกับ BCG 1,000 ราย
  • ดุลการชำระเงินทางเทคโนโลยีขาดดุลลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20
  • การนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจะเห็นว่า ภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่ ได้นำ BCG โมเดล มาปรับใช้ในองค์กร เพื่อมุ่งสู่การแข่งขัน ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม โดยมองถึงความยั่งยืนเป็นสำคัญ

SHARE

Follow us

  • |