นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ประชุมมอบนโยบายแก่ประธานแม่บ้านมหาดไทย 14 จังหวัดภาคใต้ ชูโครงการ "ถังขยะเปียกลดโลกร้อน" จัดการขยะจากครัวเรือน สร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต
วันที่ 11 ก.ค. 66 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการปฏิบัติภารกิจของสมาคมแม่บ้านมหาดไทยให้แก่ประธานแม่บ้านมหาดไทย 14 จังหวัดภาคใต้ โดยมีสมาชิกจากสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด คณะกรรมการและสมาชิกชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
ดร.วันดี เปิดเผยว่า เป็นโอกาสดีที่สมาคมแม่บ้านมหาดไทยส่วนกลางได้มาร่วมพบปะและประชุมขับเคลื่อนงานร่วมกับพี่น้องชาวแม่บ้านมหาดไทยภาคใต้อีกครั้ง ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจขับเคลื่อนงาน ด้วยพลังความเสียสละ พลังจิตอาสา เดินไปด้วยกันเพื่อ Change for Good สอดคล้องกับประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศได้ร่วมลงนามกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย
ก่อนหน้านี้เราได้รับทราบและมีมติร่วมกันในการขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมสำคัญร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทย การประชุมวันนี้จึงเป็นการทบทวนแนวทางการพิจารณาผลการปฏิบัติงานของประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด เพื่อรับพระราชทานรางวัลเพชรดอกแก้ว ประจำปี 2566 จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์การประกวด ได้แก่ การขับเคลื่อนโครงการ "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" โครงการ "การส่งเสริมการสร้างสุขอนามัยให้แก่เด็กและแม่" โครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" โครงการ "ครอบครัวมหาดไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม" และโครงการ "การให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้" ซึ่งจะมีการประเมินผลจากการนำเสนอผลงานในวันที่ 19 ก.ค. 66 และจะประกาศผลรางวัลในวันที่ 31 ก.ค. 66
ดร.วันดี กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของแม่บ้านมหาดไทยที่ได้ขับเคลื่อนโครงการ "ถังขยะเปียกลดโลกร้อน" มาอย่างต่อเนื่องหลายปี โดยในปีนี้ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามประกาศใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทย เพื่อส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถประเมินคาร์บอนเครดิตจากการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อจำหน่ายเป็นรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่น โดยมี ดร.ประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย และศาสตราจารย์ ดร.ชนาธิป ผาริโน ที่ปรึกษาสมาคมฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต ร่วมกับผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body : VVB) ลงพื้นที่ทวนสอบโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน
จนกระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา เราได้ร่วมกันประกาศความสำเร็จการจัดการขยะอาหารจากครัวเรือน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบรรลุเป้าหมายประเทศไทยที่ยั่งยืน (MOI’s Success on Food Waste Management for Climate Action and a Commitment to Sustainable Thailand) ของจังหวัดนำร่องทั้ง 4 จังหวัด คือ จังหวัดลำพูน สมุทรสงคราม เลย และอำนาจเจริญ โดย บมจ.ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK เป็นผู้รับซื้อคาร์บอนเครดิตในราคา 260 บาท/ตัน
ซึ่งในเฟสแรกสามารถซื้อขายได้จำนวน 3,140 ตัน เป็นเงิน 816,400 บาท กลับคืนสู่ชาวบ้านในท้องถิ่น และวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการดำเนินโครงการประเมินการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อการคัดแยกขยะ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และได้รับ "คาร์บอนเครดิต" ระยะที่ 2 ใน 22 จังหวัด โดยภาคใต้มีจังหวัดนครศรีธรรมราช และนราธิวาส จึงอยากให้มีการขับเคลื่อนโครงการนี้ และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง
เพราะนอกจากรายได้ที่กลับคืนสู่ท้องถิ่นชุมชนแล้ว การได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจากอาหารพืชผักสวนครัวที่ปลอดภัยที่ได้สารบำรุงดินจากขยะเปียก อันเป็นผลต่อยอดในโครงการ "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากความมั่นคงทางอาหารแล้วยังสามารถช่วยตัวเอง ช่วยครอบครัว ช่วยชุมชนด้วย
ดร.ประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ที่ปรึกษานายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ครัวเรือนสามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้ ซึ่งเห็นได้จากการประกาศความสำเร็จจากการจัดการขยะอาหารจากครัวเรือน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบรรลุเป้าหมายประเทศไทยที่ยั่งยืนของกระทรวงมหาดไทย ที่สามารถวัดปริมาณและสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ จึงอยากให้ประชาชนตื่นตัว พร้อมใจกันทำอย่างสม่ำเสมอ จนเกิดเป็นความต่อเนื่อง ทำให้การใช้ชีวิตของตัวเองเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ระบบนิเวศ สภาวะแวดล้อมเหมาะกับลูกหลาน เพื่อให้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี
ดร.วันดี กล่าวในช่วงท้ายว่า สำหรับการขับเคลื่อนที่พวกเราแม่บ้านมหาดไทย "เป็นกำลังหลักสำคัญ" ก่อให้เกิดกระแสการนิยมชมชอบผ้าไทย การแสดงแบบผ้าไทยในทั่วภาคใต้และทั่วประเทศ คือ การน้อมนำพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มารณรงค์ส่งเสริมเป็น "ผู้นำต้องทำก่อน" ทำให้เกิดการตื่นตัวเป็นกระแสการหันมาสวมใส่ผ้าไทยของประชาชนในทุกพื้นที่
สมาคมแม่บ้านมหาดไทยจึงได้จัดโครงการประกวดกิจกรรม "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" โดยมีเกณฑ์การประกวด คือ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดขับเคลื่อนโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" อย่างต่อเนื่อง การประสานการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยสู่แฟชั่นที่ยั่งยืน (Sustainable Fashion) การส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการนำอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไทย
การส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Young OTOP) ให้มีส่วนร่วมในโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" มีความคิดสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนกิจกรรม "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือช่างทอผ้า มียอดการจำหน่ายเพิ่มขึ้น และมีการประชาสัมพันธ์ขับเคลื่อนโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ในหลากหลายช่องทาง.