ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้อนรับ ผอ.สำนักการต่างประเทศ เมืองโยโกฮามา ร่วมเดินหน้า City-to-City Collaboration for Zero-Carbon Society ส่งเสริมการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วานนี้ (4 ก.ค.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ นายโทรุ ฮาชิโมโต ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น และคณะ โดยมี นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ ร่วมให้การต้อนรับ
สำหรับประเด็นการหารือกันในวันนี้ ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนความเห็น เรื่อง การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองโยโกฮามาภายใต้บันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองโยโกฮามา (Memorandum of Understanding on Technical Cooperation on Sustainable Urban Development) ฉบับ พ.ศ. 2566–2569
ซึ่งเมืองโยโกฮามา ได้นำบันทึกความเข้าใจฯ ที่นายกเทศมนตรีเมืองโยโกฮามา ลงนามแล้วมามอบให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อโปรดพิจารณาลงนามด้วย รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลกิจกรรมของสำนักงานผู้แทนเมืองโยโกฮามา ณ กรุงเทพมหานคร โดยผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ เมืองโยโกฮามา ได้เชิญผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้แทนไปประชุม Asia Smart City Conference (ASCC) ระหว่างวันที่ 13-15 พ.ย. 66 ณ เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น
นอกจากนี้หลังจากการเข้าเยี่ยมคารวะ ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น และคณะ จะเดินทางไปร่วมการประชุมเปิดตัวโครงการ (kick off) โครงการ City-to-City Collaboration for Zero-Carbon Society ปีที่ 2 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ที่สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ด้วย
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม มีความร่วมมือกับเมืองโยโกฮามา ดังนี้
1. การลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองโยโกฮามา (Memorandum of Understanding on Technical Cooperation on Sustainable Urban Development) ซึ่งเมืองโยโกฮามาได้ให้การสนับสนุนด้านเทคนิคและด้านวิชาการในการส่งเสริมการพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำแก่กรุงเทพมหานครในภาคส่วนต่างๆ เช่น การจัดการพลังงาน การจราจรและขนส่ง ตลอดจนการจัดการขยะและน้ำเสีย เป็นต้น
2. โครงการ City-to-City Collaboration for Zero-Carbon Society ซึ่งเป็นการทำงานคู่ขนานกับแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564–2573 (ฉบับปัจจุบัน) เพื่อเป็นการส่งเสริมการดำเนินโครงการ/กิจกรรมภายใต้แผนแม่บทฯ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม รัฐบาลญี่ปุ่น เป็นผู้สนับสนุนโครงการฯ ระยะเวลารวมประมาณ 3 ปี โดยมีระยะเวลาโครงการในช่วงแรกตั้งแต่เดือนกันยายน 2565-มีนาคม 2566 ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก
กิจกรรมหลักที่ 1 การส่งเสริมการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย 3 กิจกรรมย่อย ได้แก่ การจัดกิจกรรมการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ (ออนไลน์) การพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน และการรับรองการพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน
ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครร่วมกับเมืองโยโกฮามาได้จัดประชุมเสวนา "กรุงเทพมหานครกับการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน เพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์" เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 65 และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเผยแพร่แผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564-2573 ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเขตกรุงเทพมหานคร
โดยสำนักสิ่งแวดล้อมร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาโครงการ (บริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด) ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมหลักสูตรการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรด้านพลังงานของกรุงเทพมหานครให้แก่ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จำนวน 2 ครั้ง มุ่งเน้นให้เข้าใจสถานการณ์พลังงานของประเทศไทย เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก เช่น แผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งการจัดการพลังงานภายในอาคาร เพื่อให้แต่ละหน่วยงานเกิดความรู้และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานกรุงเทพมหานครในการลดใช้พลังงานต่อไป
กิจกรรมหลักที่ 2 การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 3 กิจกรรมย่อย ได้แก่ การเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดสัมมนาหรือการประชุมเชิงปฏิบัติการ และแนวทางการส่งเสริมเครือข่ายการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้เข้าสำรวจความต้องการ และช่องว่างด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคเอกชนเรียบร้อยแล้ว
จากนั้นได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 65 ภายใต้ชื่อ "The 1st Workshop on Net Zero Emissions Business Opportunity under Bangkok-Yokohama City-to City Program" โดยมีผู้แทนจากบริษัทเอกชนญี่ปุ่นและไทยเข้าร่วมการประชุมฯ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์กว่า 100 หน่วยงาน และมีผู้เข้าร่วมกว่า 170 คน ซึ่งแบ่งช่วงการประชุมเป็น 4 ช่วงหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านของพลังงาน (ไฮโดรเจน แอมโมเนียม และระบบการดักจับคาร์บอน) เมืองอัจฉริยะและระบบจัดการพลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า และคาร์บอนเครดิตกับแนวคิดการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม
และกิจกรรมหลักที่ 3 การพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความตระหนักและเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการพัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย กิจกรรมย่อย ได้แก่ การดำเนินการสำรวจโครงการลดก๊าซเรือนกระจกใหม่ การพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก และการรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานโครงการฯ.