ปลัด มท.ปลุกนักเรียนนายอำเภอ ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา ประยุกต์ใช้สู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
วันที่ 17 มิถุนายน 2566 ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Action Learning) หลักสูตร "ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" พร้อมมอบนโยบายและข้อเสนอแนะในการนำเสนอของผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ รุ่นที่ 82 โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอรุ่นที่ 82 ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการให้นักเรียนนายอำเภอ รุ่นที่ 82 ได้มาใช้ชีวิตร่วมกันที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก ถือเป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคมและกระบวนการกล่อมเกลาทางวิชาการ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการในด้านต่างๆ มาพบปะ พูดคุย และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ช่วยให้ทุกคนได้พัฒนาองค์ความรู้ และที่สำคัญคือ การสร้างแรงปรารถนา (Passion) ให้เกิดขึ้นในตัวของพวกเราทุกคน เพื่อจะได้ไปทำสิ่งที่ดี Change for Good ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทยทุกคนให้ความสำคัญกับการสร้างทีมและได้จัดให้มีการอบรมโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยให้นายอำเภอเชิญชวนผู้ที่มี Passion ในการที่จะทำสิ่งที่ดีให้แก่พี่น้องประชาชน มาร่วมกันใช้ชีวิต ได้มีโอกาสร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ซึ่งการทำงานเป็นทีมต้องอาศัยผู้นำที่จะเป็นโซ่ข้อกลางในการให้ทุกส่วนมาทำงานร่วมกัน
การอบรมหลักสูตรนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือการให้พวกเราทุกคนเข้าใจแนวทางการทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ และเพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่า เราทุกคนจะเอาแต่ได้ "ไม่ได้" แต่เราต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมต่อพี่น้องประชาชน
เราจะเอางานของกระทรวงมหาดไทยไปสู่ประชาชน ให้เกิดผลประโยชน์เพียงภารกิจของกระทรวงเดียวไม่ได้ แต่ต้องบูรณาการงานของภาคีเครือข่ายทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ไปขับเคลื่อนให้เกิดผลประโยชน์ด้วย เพราะงานทุกงานคืองานของเราที่มีมีเป้าหมายคือการ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" เพื่อพี่น้องประชาชน และหากทุกคนรู้จักการให้สิ่งที่ดี ท่านก็จะได้รับสิ่งที่ดีกลับคืน
ดังนั้น ผู้นำต้องไม่ละเลยการอ่าน การคุย การทำความเข้าใจเรื่องราว และการใช้สติปัญญาในการตัดสินใจ ช่วยกันคิดสิ่งที่ดีก่อนนำไปถ่ายทอดสื่อสารไปสู่ภาคีเครือข่าย ซึ่งนายอำเภอจึงต้องสร้างทีมเหล่านี้ให้เข้มแข็ง เพื่อไปสร้างภาคีเครือข่ายในระดับหมู่บ้าน อันจะนำไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หมู่บ้านยั่งยืน คือ การทำให้ประชาชนมี Basic Need หรือมีปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการอย่างครบถ้วน คือ มีสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่ครบถ้วนเพียงพอ ซึ่งหมู่บ้านยั่งยืนมีดัชนีตัวชี้วัดประกอบด้วย มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและถูกสุขลักษณะ มีความมั่นคงทางอาหาร บ้านเรือนมีความสะอาดเรียบร้อย มีความปลอดภัยทางชีวิตและทรัพย์สิน มีความสามัคคีร่วมมือกัน มีจิตอาสา มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มบ้าน มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ วัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามให้เด็กเยาวชน
การจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ต้องเริ่มต้นจากประชาชนทุกครัวเรือนสามารถทำได้ด้วยตนเองและคนในสังคมต้องทำเป็น อาทิ การปลูกพืชผักสวนครัว น้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการ "บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง" และ "ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน" ทั้งพื้นที่ว่างบริเวณโดยรอบของบ้านและพื้นที่สาธารณะ
การปลูกต้นไม้ทดแทนเพื่อให้อากาศบริสุทธิ์ หรือความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่ม ที่คนในชุมชนสามารถทอผ้าด้วยตนเอง มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ใช้สีธรรมชาติเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการคัดแยกขยะครัวเรือน โดยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารเหลือทิ้ง ซึ่งหากคนในครัวเรือนมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่คนรุ่นใหม่ ทำให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ก็จะนำไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน สอดคล้องกับที่เราได้ลงนาม MOU ร่วมกับ UN ในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทำให้เกิดสิ่งที่ดีกับประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ขอให้นักเรียนนายอำเภอรุ่นที่ 82 ทุกคนตระหนักไว้เสมอว่า "คนมหาดไทยเป็นเจ้าภาพที่แท้จริงในการทำหน้าที่เป็นผู้นำการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ไปสู่พี่น้องประชาชน" โดยมีภาคีเครือข่าย (Partnership) ตามเป้าหมายที่ 17 เป็นส่วนสำคัญ ด้วยการนำของผู้นำที่มีหัวใจและ Passion ไปช่วยกันทำให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืน และต้องช่วยกันทำให้เกิดการ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้กับสถาบันชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็น 3 เสาหลักที่ทำให้พวกเราทุกคนอยู่กันอย่างมีความสุข
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเสาหลักที่สำคัญ คือ เสาหลักของวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ที่เป็นเครื่องมือในการสร้างความรักความสามัคคีให้ประชาชนทุกคน ที่จะต้องถ่ายทอดไปสู่เด็กและเยาวชน ซึ่งหากเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ก็จะทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ส่งผลให้พี่น้องชาวมหาดไทยก็จะมีความสุขใจว่าทุกคนได้ช่วยกันทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ซึ่งตนมั่นใจว่าทุกคนในที่นี้จะ "Action now" ทำทันที และจะช่วยกันทำให้ประชาชนคนไทยมีความสุขอย่างยั่งยืน