ผู้แทน UN Thailand ชื่นชมสุดยอดหัตถศิลป์หัตถกรรมภูมิปัญญาไทยในนิทรรศการ “สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ” พร้อมเน้นย้ำ ร่วมขับเคลื่อนงานกับชาวมหาดไทยเพื่อส่งเสริมต่อยอดภูมิปัญญาไทยตามพระดำริฯ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชนตามเป้าหมาย SDGs
วันที่ 16 มิถุนายน 2566 ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นำคณะผู้บริหารระดับสูงขององค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Thailand) เข้าชมนิทรรศการ "สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ" เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สนองพระมหากรุณาธิคุณด้วยทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชภาระในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณีกิจในด้านการส่งเสริมงานหัตถศิลป์หัตถกรรมของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการปฏิบัติภารกิจงานด้านศิลปาชีพและดูแลการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา ทรงนำความรู้ด้านผ้าและเครื่องแต่งกาย ตลอดจนประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นมาพัฒนาการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ รวมถึงการจัดทำนิทรรศการ "สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ" (Decades of Style: The Royal Wardrobe of Her Majesty Queen Sirikit) ซึ่งเป็นนิทรรศการแรกในฐานะที่ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาและหัวหน้าภัณฑารักษ์
นอกจากนี้ยังทรงนำความรู้ด้านผ้าไทยและเครื่องแต่งกายจากฝีมือคนไทย ตลอดจนประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นมาส่งเสริมถ่ายทอดให้กับประชาชนคนไทยในถิ่นทุรกันดาร และทรงมาต่อยอดพระราชกรณียกิจทั้งปวง โดยพระราชทานพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" เพื่อพัฒนาศักยภาพและแนวความคิดตลอดจนกรรมวิถีผลิตผืนผ้าของช่างทอผ้าทั่วประเทศไทยที่แต่เดิมมักจะคุ้นชินกับการถักทอผ้าตามลวดลายแบบดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดตกทอดมา ให้ได้มีการปรับเปลี่ยนขนาด ลวดลาย และเทคนิคต่างๆ
รวมทั้งทรงส่งเสริมในด้านแฟชั่นแห่งความยั่งยืน (Sustainable Fashion) ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง ให้ประชาชนได้ปลูกพืชพันธุ์ต้นไม้ให้สี เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม"
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า นิทรรศการ "สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ" เป็นการจัดแสดงบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจผ่านฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในช่วงเวลาต่างๆ ตามยุคสมัยที่ล้วนออกแบบและตัดเย็บด้วยผ้าจากฝีมือของคนไทยเป็นส่วนใหญ่ เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้นำการเผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยให้เป็นที่ประจักษ์ด้วยพระองค์เองผ่านการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นำผลงานช่างฝีมือของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ไปจัดแสดงทุกครั้งที่เสด็จฯ เพื่อส่งเสริมให้ผ้าทอและงานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระดำริและทรงทุ่มเทพระวรกายอย่างหนักในการรังสรรค์นิทรรศการนี้ให้ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบและสมพระเกียรติ เพื่อสะท้อนถึงพระราชกรณียกิจอันใหญ่หลวงของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงส่งเสริมยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยในทุกภูมิภาค ด้วยทรงเล็งเห็นว่าภูมิปัญญาเหล่านี้เป็นงานหัตถศิลป์หัตถกรรมที่ทรงคุณค่าของประเทศชาติที่ควรค่าแห่งการอนุรักษ์และสงวนรักษาไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบสานให้คงอยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป
ทั้งนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ร่วมเข้าใจชมนิทรรศการ "สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ" ซึ่งเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น. ณ ห้องจัดแสดง 1-2 พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง ถึงเดือนเมษายน 2568
ด้านนางกีต้า ซับบระวาล (Ms. Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวภายหลังการเข้าชมนิทรรศการ “สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ” พร้อมคณะผู้แทนจากหน่วยงานยูเอ็น โดยได้ยกย่องความมุ่งมั่นและองค์ความรู้ด้านแฟชั่นที่ประยุกต์เข้ากับความงดงามของผืนผ้าฉลองพระองค์ที่เห็นได้ประจักษ์ชัดผ่านนิทรรศการอันทรงคุณค่านี้ แสดงให้คนไทยทั่วทั้งประเทศ และคนทั่วทั้งโลกได้รับรู้ได้โดยทันทีว่า ภูมิปัญญาอันล้ำค่าที่มีมาแต่ก่อนเก่าของบรรพบุรุษไทย
โดยเฉพาะในงานหัตถศิลป์หัตถกรรม สามารถสร้างรายได้นำมาซึ่งการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) อาทิ เป้าหมายที่ 1 : ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ เป้าหมายที่ 3 : สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย เป้าหมายที่ 8 : ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน เป้าหมายที่ 12 : สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 : ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น และเป้าหมายที่ 17 : เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น
โดยองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และข้าราชการทุกระดับทั่วทั้ง 76 จังหวัดที่ทำงานด้วยความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ตามพันธกิจ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ตลอดมา เพื่อต่อยอดและนำองค์ความรู้เหล่านี้เสริมสร้างอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนคนไทยตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป.