• Future Perfect
  • Articles
  • ไทยเข้าสู่ "เอลนีโญ" ปานกลาง 100% คาดยาวนาน 3-5 ปี

ไทยเข้าสู่ "เอลนีโญ" ปานกลาง 100% คาดยาวนาน 3-5 ปี

Sustainability

ความยั่งยืน15 มิ.ย. 2566 18:43 น.

คณะวิจัย สกสว. และหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ ร่วมเฝ้าระวังผลกระทบจากเอลนีโญอย่างใกล้ชิด ชี้ไทยเข้าสู่ "เอลนีโญ" ปานกลาง 100% คาดยาวนาน 3-5 ปี สถานการณ์ภัยแล้งที่ยืดเยื้อ อาจส่งผลให้น้ำขาดแคลน  

วันที่ 15 มิ.ย. 2566 นางปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านบริหารจัดการน้ำ สำนักงานวิจัยแห่งชาติและทีมคณะวิจัย พร้อมด้วยนักวิชาการจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมชลประทาน ร่วมกันแถลงผลการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแนวโน้มของสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศไทย จากปรากฏการณ์เอลนีโญ ในช่วงปี 2566-2570 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ระดับปานกลาง 100 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าอาจจะมีปรากฏการณ์เอลนีโญต่อเนื่องติดต่อกัน 3-5 ปี ตั้งแต่กลางปี 2566 ไปจนถึง 2570 ได้ เนื่องจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีพัฒนาการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลการวิจัยพบว่า ปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติในประเทศในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2566 อาจจะมีน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำท่าย้อนหลัง 15 ปี ถึง 28%

นายไชยาพงษ์ เทพประสิทธิ์ นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ หนึ่งในคณะผู้วิจัย กล่าวว่า แม้ปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะที่เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ยังมีปริมาณรวมกัน 11,202 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังเพียงพอต่อการบริโภคและการทำเกษตร ไปจนถึงฤดูแล้งในปี 2567

แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ หากปรากฏการณ์เอลนีโญยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงปี 2568 หรือถึงปี 2570 ตามแบบจำลองคาดการณ์ทางวิทยาศาสตร์ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยในระยะยาวได้ เฉพาะหากเกิดสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2568-2569

อย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัย และทีมนักวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำทุกหน่วยคงต้องมีการติดตามวิเคราะห์พัฒนาการของปรากฏการณ์เอลนีโญในประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อหาทางบรรเทาผลกระทบที่มีต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด

ด้าน นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า จากสถานการณ์เอลนีโญในช่วงนี้ กรมชลประทานมีนโยบายที่เน้นการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด และใช้การบริหารจัดการน้ำในระดับเทียบเท่าการบริหารจัดการน้ำในช่วงภัยแล้ง แม้ว่าในปีนี้ปริมาณน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ยังมีปริมาณน้ำรวมกันมากกว่าปี 2565 แต่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาพรวมทั่วประเทศมีปริมาณที่ลดลงทุกแห่ง โดยเฉพาะที่เขื่อนแม่กลองและเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งส่งผลต่อการทำการเกษตรในบริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลอง

ดังนั้น ต้องมีการสำรองน้ำให้เพียงพอ โดยเฉพาะต้องมีการกักเก็บน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งรณรงค์ให้ชาวนาพักนา ลดการปลูกข้าวนาปรัง และรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทน เพราะจากการคาดการณ์ปริมาณน้ำของเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ณ วันที่ 1 พ.ค. 2566 หากสถานการณ์เอลนีโญมีความรุนแรง เขื่อนหลักทั้ง 4 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันเพียง 15,699 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำให้เพื่อการบริโภคและการเกษตรเพียง 9,0003 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น.

SHARE
00:51

"เมฆสีขาว" ลอยไหลข้ามเทือกเขาตาง๊อก จ.สระแก้ว ปรากฏการณ์ธรรมชาติสุดงดงาม

Follow us

  • |