"ศูนย์ฯ สิริกิติ์" เข้าร่วมโครงการ "คนไทยไร้ E-Waste" กับ AIS ตั้งจุดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งกำจัดอย่างถูกวิธี ตอกย้ำการเป็น "ศูนย์ฯ ประชุม สีเขียว"
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตอกย้ำการเป็น "ศูนย์ฯ ประชุมสีเขียว" จับมือกับ เอไอเอส (AIS) สนับสนุนการจัดการขยะ E-Waste อย่างถูกวิธี โดยตั้งจุดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภายในศูนย์ฯ สิริกิติ์ พร้อมชวนคนไทยยุคดิจิทัลกำจัดขยะอย่างถูกวิธี เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน และรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ได้ร่วมโครงการ "คนไทยไร้ E-Waste" กับ AIS เพื่อแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ออกจากขยะประเภทอื่นๆ และส่งต่อไปยังหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี โดยเปิดจุดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste บริเวณเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ชั้น LG
นายสุทธิชัย บัณฑิตวรภูมิ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กล่าวว่า ทางศูนย์ฯ สิริกิติ์ ยินดีที่ได้เข้าร่วมโครงการ "คนไทยไร้ E-Waste" กับ AIS ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี สอดรับกับพันธกิจหลักของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในการรักษาสิ่งแวดล้อม และพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
โดยผู้เข้ามาใช้บริการที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ หรือชุมชนใกล้เคียง สามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต สายชาร์จ หูฟัง แบตเตอรี่มือถือ มาทิ้งได้ที่จุดรับขยะภายในศูนย์ฯ สิริกิติ์
นอกจากนั้น ยังได้จัดวางถังแยกขยะประเภทต่างๆ เพื่อให้ผู้มาใช้บริการภายในศูนย์ฯ สิริกิติ์ ได้รับความสะดวก และง่ายต่อการทิ้งขยะอย่างถูกวิธี โดยขยะที่ผ่านการคัดแยกจะเข้าสู่กระบวนการ Recycle และ Upcycle เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติตามระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยจัดสรรให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์มากที่สุด
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์ และธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวว่า นอกจากการพัฒนาเครือข่ายแล้ว AIS ยังวางนโยบายในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อม สร้าง Ecosystem ในการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้โครงการ "คนไทยไร้ E-Waste" ตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้ให้คนไทยตระหนักถึงปัญหา สร้างกระบวนการจัดเก็บเพื่อให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบ Zero Landfill ตามมาตรฐานสากล ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่หลากหลาย
โดยครั้งนี้ ได้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มาเป็นหนึ่งในเครือข่ายด้าน Green Partnerships โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน.