• Future Perfect
  • Articles
  • ชูแนวคิด Upcycle เปลี่ยนขยะพลาสติกสู่นวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุน

ชูแนวคิด Upcycle เปลี่ยนขยะพลาสติกสู่นวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุน

Sustainability

ความยั่งยืน2 พ.ค. 2566 07:27 น.

“Upcycle” หรือแนวคิดการนำเอาขยะเหลือใช้กลับมาทำให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เป็นแนวคิดที่กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก

โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ผู้คนต้องดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่ (New Normal) เกิดการบริโภคอาหารและน้ำที่บรรจุในภาชนะพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากและกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้น

ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงปัญหาขยะล้นโลกและเริ่มมุ่งเน้นการดำเนินชีวิตภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนำเอา “พลาสติก” ที่ผ่านการใช้แล้วมาสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น บล็อกผนัง รวมถึงกระเป๋าสะพายแบรนด์ต่างๆ งานศิลปะ เสื้อนักกีฬา

ที่น่าสนใจล่าสุดคือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ดำเนิน นโยบาย BCG หรือโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน เพิ่มคุณภาพชีวิต เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ได้สนับสนุนการนำขยะพลาสติกที่ยังมีประโยชน์แต่ไม่สามารถจำหน่ายต่อไปยังเอกชนได้อย่าง เช่น พลาสติกโคมไฟหน้ารถ รองเท้ายางที่ถูกทิ้งตามริมชายหาดและถุงน้ำยาล้างไต มาสร้างเป็น “นวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะพลาสติก” ด้วยการสนับสนุน ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ที่นอกจากจะลดปริมาณขยะพลาสติก เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ยังเป็นประโยชน์ด้านความปลอดภัยของทหาร สร้างความมั่นคงให้กับประเทศอีกด้วย

รศ.ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล
รศ.ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล

นวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนถือเป็นหนึ่งในผลผลิตของ “โครงการการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมจากขยะพลาสติกในชุมชนภาคเหนือตอนล่างประเทศไทย” มี รศ.ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ

“โครงการนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนเป็นการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามวาระแห่งชาติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ในการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบและครบวงจร ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจสีเขียวที่สามารถสร้างมูลค่าของเสียเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและรักษาความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยต้นแบบนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนจากขยะพลาสติก วช.และมหาวิทยาลัยนเรศวรจะส่งมอบให้กับกองทัพภาคที่ 3 ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และจากนั้นจะขยายไปยังกองทัพภาคอื่นๆต่อไป เพื่อสนับสนุนความมั่นคงของประเทศ” ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงโครงการนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนที่มาจากนโยบาย BCG

ขณะที่ รศ.ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล หัวหน้าโครงการนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุน เล่าว่า โครงการนี้เกิดจากความต้องการสร้างจิตสำนึกที่ดีจากการใช้ประโยชน์จากสิ่งของเหลือใช้และเพื่อสร้างสรรค์สื่อนวัตกรรมเชิงเนื้อหาที่จะนำไปสู่การสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์จากขยะพลาสติกที่ได้รับการยกระดับให้เป็นสินค้ารวมทั้งการนำวัสดุที่เหลือใช้กลับมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างรายได้ โดยทีมวิจัยลงพื้นที่เทศบาลบ้านคลอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเมืองที่ประสบความสำเร็จด้านความร่วมมือกับภาคเอกชนคือบริษัทวงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในการบริหารจัดการขยะ และสนใจที่จะนำเอาผลงานวิจัยครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์กับ
ต.วังตะคร้อ อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย ที่สนใจจะร่วมในกระบวนการวิจัยและมีความรู้เรื่องวิธีการจัดการขยะ ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ของกองทัพภาคที่ 3 ค่ายพระนเรศวรมหาราชและโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงเสนอการนำขยะพลาสติกมาทำเสื้อเกราะกันกระสุนที่สามารถช่วยรักษาชีวิตทหารซึ่งทำให้มีราคาถูกลง โดยทีมวิจัยร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มน. และมีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับทหารทั้งกองทัพภาคที่ 3 และกองพลทหารราบที่ 5 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพภาคที่ 4 พัฒนาเสื้อเกราะกันกระสุนจากวัสดุที่มาจากขยะพลาสติก โดยมีวัตถุดิบหลักคือ โคมไฟหน้ารถ ซึ่งเป็นพีวีซีที่ดีแข็งแรงและรับแรงกระแทกได้สูง ประกอบกับภาคเอกชนในพื้นที่มีขยะดังกล่าวเป็นจำนวนมากและยังไม่รู้ว่าจะเอาไปทำประโยชน์อะไร รวมถึงมีขยะรองเท้ายางที่ถูกทิ้งตามริมชายหาดและถุงน้ำยาล้างไตที่มีอยู่จำนวนมากตามโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งสามารถนำไปทำเป็นวัสดุดูดซับแรงได้ดี

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง

กระบวนการทำนวัตกรรมเริ่มจากการนำวัตถุดิบไปแปลงสภาพเป็นแผ่นกันกระสุนและเสริมด้วยเส้นใยเคฟลาร์ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง และนำไปทดสอบที่สนามยิงปืนในค่ายบรมไตรโลกนารถ พบว่าสามารถป้องกันกระสุนพลเรือนได้ จึงนำมาพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบและตัดเย็บด้วยผ้าทอมือในชุมชนที่ จ.สุโขทัย ก่อนนำไปผลิตเป็นเสื้อเกราะกันกระสุนภายใต้แบรนด์ “UAV” หรือ “Upcycle Army Vest” นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างนักวิจัย นักพัฒนา และคนในชุมชน

“ต้นแบบนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนที่พัฒนาขึ้นนี้ มีน้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม ซึ่งเบากว่าเสื้อเกราะทั่วไป และมีต้นทุนการผลิตต้นแบบไม่เกิน 16,000 บาท ซึ่งหากผลิตเชิงอุตสาหกรรมต้นทุนจะต่ำลงได้อีก” รศ.ดร.พนิดา กล่าวและฉายภาพต่อว่า ต้นแบบนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุนจะนำไปพัฒนาต่อให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นทั้งเรื่องของน้ำหนักและการพัฒนาเส้นใยทดแทนเคฟลาร์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างมากทั้งด้านความปลอดภัยของทหารรวมถึงประชาชนทั่วไป ที่มีความเสี่ยงจากกระสุนปืนมากขึ้นในปัจจุบัน

“ทีมข่าวอุดมศึกษา” เห็นด้วยกับการสร้างต้นแบบนวัตกรรมเสื้อเกราะกันกระสุน เพราะการพัฒนานวัตกรรมนี้ นอกจากจะช่วยความมั่นคงและยังจะช่วยยกระดับขยะพลาสติกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เสริมรายได้ให้กับคนในชุมชนและนำไปสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืน ตามนโยบาย BCG

แต่สิ่งที่เราอยากจะฝากคือการต่อยอดของหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้มีการนำนโยบายการจัดขยะไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ขยายไปสู่การสร้างจิตสำนึก ปรับเปลี่ยนทัศนคติ พฤติกรรมของคนในชุมชนเพื่อแก้ปัญหาขยะล้นประเทศอย่างจริงจังและยั่งยืน.

ทีมข่าวอุดมศึกษา

SHARE

Follow us

  • |