- ประกวดดนตรีนับสิบเวที ก่อนจะเข้าตาต้า พาราด็อกซ์ จนได้โอกาสเป็นศิลปิน
- อัลบั้มชุดแรกไม่ได้รับการยอมรับจากคนฟัง ยอมลดอีโก้ตัวเองในการทำเพลง
- วงเกือบแตกในวันที่กำลังดัง เพราะปัญหาบางอย่างที่แพทเจอ จนต้องตั้งคำถามกับวิชาชีพตัวเอง
จากวันแรกที่ฟอร์มวงเพื่อประกวดดนตรีตามงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย สู่การเป็นศิลปินในสังกัด Genie Records (จีนี่ เรคคอร์ด) ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้วที่วง Klear ที่ประกอบไปด้วย 4 สมาชิก แพท รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย (ร้องนำ), ณัฐ ณัฐวัฒน์ แสงวิจิตร (กีตาร์), คี คียาภัทร โพธิ์วงศ์ไพรเลิศ (เบส), นัฐ นิลวิเชียร (กลอง) เดินทางบนถนนดนตรีด้วยกัน แต่การเดินทางครั้งนี้ต้องผ่านอะไรมามากมาย และครั้งหนึ่งเกือบจะไม่ได้เดินทางด้วยกันต่อ
และเมื่อบันเทิงไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสพูดคุยกับพวกเขา ในการสนทนาที่ทุกคนมาพร้อมหน้าผ่านทางออนไลน์ ยกเว้นนัฐ มือกลอง ที่ไม่สามารถมาพูดคุยได้เพราะพอติดโควิดแล้วมีอาการเจ็บคอ เราถามว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง ณัฐ มือกีตาร์ของวง ซึ่งติดโควิดเช่นกัน บอกว่าตัวเองไม่ได้เป็นอะไรมาก ด้านแพทและคีไม่เป็นอะไรแต่ต้องกักตัวทั้งคู่ และตรวจ ATK ตลอด ส่วนงานก็ต้องเลื่อนออกไป
ซึ่งณัฐเผยความรู้สึกหลังรู้ว่าติดโควิดว่า “เครียดครับ เจอเองก็เครียด ตอนไปตรวจที่ รพ. ก็เห็นว่าคนมาตรวจเยอะมากๆ ส่วนใหญ่คนที่ไปตรวจ RT-PCR จะเจอผลตรวจ ATK 2 ขีดแล้วทั้งนั้น ก็กินยาตามอาการที่หมอสั่งครับ เช็กอุณหภูมิ ออกซิเจนเรื่อยๆ ตามที่กำหนด ก็โชคดีที่ไม่เป็นอะไรมาก ส่วนคุณนัฐเขารู้ผลหลังผม แต่อาการเขาดูจะหนักกว่าผม ของผมขึ้น 2 ขีด แต่ของนัฐยังไม่ขึ้น มันก็เริ่มมีไข้แล้ว
แล้วที่ขำคือผมบอกเขาว่าถ้าขึ้น 2 ขีด พรุ่งนี้ผมจะไปตรวจที่ รพ.นึง ตอนเช้าปุ๊บไปเจอเขาเลย ก็โอเค มี 2 ขีดแล้วใช่มั้ย (หัวเราะ) ก็ต้องกักตัว 10 วัน ส่วนอาการมีไอนิดหน่อย คือเหมือนผมมีเชื้อมาสักพักแล้วค่อยมาตรวจเจอว่าเป็น 2 ขีด พอตรวจเจออาการก็ไม่ได้แย่ลงครับ” ทำเอาแพทบอกว่าพูดเรื่องนี้แล้วเครียดเลย
...
เส้นทางสู่ศิลปิน
เราเปลี่ยนบทสนทนาด้วยการพูดถึงเส้นทางดนตรีของพวกเขาที่มาจากการประกวดตามเวทีต่างๆ ณัฐเล่าว่า “ก็จะมีผมกับนัฐ (กลอง) เป็นเพื่อนเล่นดนตรีมาด้วยกันที่มหาวิทยาลัย เจอแพทเป็นรุ่นน้องที่คณะ ก็ชวนกันเข้ามาร้องในวง ส่วนคีเราไปเจอตามงานประกวดต่างๆ แล้วเห็นฝีไม้ลายมือ สะกิดเขามาร่วมวงด้วยครับ ก็น่าจะประมาณ 19-20 ปีแล้ว”
ด้านแพทเล่าว่า “ตอนนั้นเขาชวนไปประกวดดนตรีในมหาวิทยาลัยค่ะ เราชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว เราพอร้องเพลงได้ ก็รู้สึกว่าน่าสนุกดี ตอนแรกคิดแค่นั้น แต่พอเริ่มประกวด จากในมหาวิทยาลัยเราก็เริ่มออกนอกมหาวิทยาลัยเพราะมันไม่มีเวทีให้เราเล่น ไม่มีช่องทางออนไลน์ให้ปล่อยของ การประกวดดนตรีเหมือนเป็นที่เดียวที่เล่นดนตรีโชว์คนอื่น เราก็เริ่มเอาเพลงที่แต่งเองไปประกวด เริ่มต้นก็ไม่ได้ทำเพลงกันเป็นค่ะ มันก็ชนะบ้างแพ้บ้าง สะสมเพลงของตัวเอง ทำเดโมตัวเองขึ้นมา”
ณัฐเล่าว่าเพลงแรกที่ทำเองคือเพลง “ขอสักคน” ซึ่งกลายเป็นเพลงแรกในอัลบั้มแรก เป็นร็อกหนักๆ แพทเล่าอีกว่าตอนนั้นไปประกวดดนตรีหลายสิบเวที ประสบการณ์เยอะมาก แต่การเล่นดนตรีเพื่อประกวดคือทำตามแพสชั่นและทำเพื่อชนะ ต่างกับการเป็นศิลปินอาชีพซึ่งเอาแพสชั่นของเราไปบวกกับความชอบของประชาชน พอเข้ามาอยู่ในค่ายเพลงถึงรู้ว่าเพลงที่ชนะใจกรรมการไม่ค่อยชนะใจคนฟังเท่าไร ณัฐเสริมว่าตอนประกวดคิดแต่จะเอา แต่พอเป็นศิลปินเราต้องมีแต่จะให้ ซึ่งต่างกันมาก
ส่วนเส้นทางสู่ศิลปินในสังกัดจีนี่ เรคคอร์ด ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ คีเล่าว่าระหว่างประกวด พยายามเอาเพลงที่ทำกันเองเป็นมาสเตอร์และส่งตามค่ายต่างๆ ตอนนั้นเป็นเดโมจริงๆ ก่อนจะเล่าว่า “ต้องยกเครดิตให้พี่ต้า พาราด็อกซ์ เขาบอกว่าไม่เป็นไร ไม่มีค่ายเดี๋ยวเขาออกทุนให้ ทำมาสเตอร์ขายเองก็ได้ พี่ต้าควักเงินให้ เราก็ไปเข้าห้องอัดทำมาสเตอร์ แต่สุดท้ายพี่ต้าบอกว่าลองอีกสักที ก็เอามาสเตอร์ไปยื่นให้พี่นิค (วิเชียร ฤกษ์ไพศาล) ที่จีนี่ เรคคอร์ด ก็ได้รับโอกาส พี่นิคเรียกมาคุย พอมันได้โปรดักชั่นดีๆ มันก็เลยชัดเจนขึ้นมา”
แพทบอกว่าพอรู้ว่าจะได้เป็นศิลปินจริงๆ รู้สึกตื่นเต้นมาก เข้าใจว่าคือฟินาเล่ เข้าเส้นชัยแล้ว แต่ความเป็นจริงก็คือจุดสตาร์ต เข้ามาแล้วต้องมีหลายอย่างที่ปรับตัวและเรียนรู้ ต้องเปลี่ยนแปลงเยอะ แต่ตอนที่เซ็นสัญญาก็รู้สึกว่าดีใจมากๆ เป็นความสำเร็จก้าวแรกของวัยรุ่นอย่างพวกเราในตอนนั้น
ลดอีโก้ตัวเอง
คีเผยว่าพอเซ็นสัญญาแล้ว พี่นิคโทรมาบอกว่ามีงานให้เล่นเปิดตัว เป็นคอนเสิร์ตบอดี้สแลมชุด Save my life เล่นเป็นวงเปิดที่อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก ซึ่งคนเยอะมาก เราเป็นเด็กก๊อกแก๊กก็ตื่นเต้นมาก ฟีดแบ็กก็ดี มีคนมาทักใน myspace hi5 มีคนมาติดตาม ก็รู้สึกดีใจที่มีคนชื่นชอบ รู้สึกว่าดีจังเลย นี่เหรอชีวิตศิลปิน แต่หลังจากนั้นพอไปเล่นจริงๆ แบบเต็มโชว์ เล่นกับวงอื่นๆ ภาพที่เห็นคือจากคนสนุกอยู่ดีๆ พอเราขึ้นเล่น 2 เพลง คนก็ลงไปนั่ง คนเดินออก รู้สึกแย่มาก แพทเสริมว่าคนบอกว่าเพลงอะไรไม่รู้จัก เขาไม่สนุกกับเรา คีเล่าอีกว่า “ตอนนั้นเราเล่นแบบแอดติจูดเหมือนเล่นประกวดด้วยแหละ ขึ้นไปก็แบบฉันจะใส่จะโชว์ แต่ลืมเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลืมเอ็นเตอร์เทนคนดู”
...
ถามว่าพอเริ่มเห็นปัญหา รับมือยังไงบ้าง แพทบอกว่า “แรกๆ รับมือไม่ค่อยได้ (หัวเราะ) ร้องไห้ กลัวเวทีไปเลย ไม่อยากขึ้นเวที ขึ้นไปเขาไม่อยากฟังเรา เขาก็เดินออก เครียด ไม่พูดกับคนดูเลย ขึ้นเวทีไปก็ร้องเพลงอย่างเดียว ร้องเสร็จก็ลง ก็เป็นอย่างนั้นสักพักแล้วรู้สึกว่าไม่มีความสุขเลย เครียดกันหมด คนดูก็ไม่ชอบ พอจบอัลบั้มแรก คุยต่อว่าสเตปต่อไปคืออะไรดี เราก็คุยว่าที่ค่ายจะให้เราทำต่อมั้ย ในเมื่อฟีดแบ็กไม่ค่อยโอเคเท่าไร
แต่พอคุยกับค่าย ค่ายก็ให้โอกาสเป็นซิงเกิล และให้เราลองเปลี่ยนตัวเองแบบหน้ามือเป็นหลังมือเลย ปรับทัศนคติต่างๆ วิธีการเขียนเพลงก็ปรับใหม่หมดเลยค่ะ หลังจากเราทู่ซี้ทำในแบบที่เราเชื่อแล้วพัง ตอนนั้นไม่มีอะไรจะเสียแล้วจริงๆ ตัวตนที่เรายึดมั่นถือมั่น เราก็ทุบสิ่งนั้นไปเลย เราก็ลองเปลี่ยนดู เปิดใจกว้างๆ แล้วกลายเป็นว่าทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเลยจากนั้น ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงคือเพลง “รักไม่ต้องการเวลา” ซึ่งเป็นเพลงที่ต่อชีวิตพวกเราให้อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ (หัวเราะ)
จุดนึงที่เราเปลี่ยนได้ชัดเจนคือฟังคนอื่นมากขึ้น ฟังทุกคอมเมนต์ กลายเป็นว่าความมั่นใจของพวกเราเกิดจากการที่เพลงผ่าน คืออัลบั้มแรกเราทำเสร็จเลย เราไม่ยอมฟังความคิดเห็นของคนอื่น เรามั่นใจในงานของพวกเรามาก แต่พอไม่สำเร็จ พออัลบั้ม 2 เป็นต้นมา ทุกเพลงเราส่งค่ายหมด ความคิดเห็นของคนอื่นมีค่ามากๆ มันไม่ได้กดดันมากเพราะเรามีทีม มีคนช่วยเราฟังว่าตรงนี้ดีหรือไม่ดี”
...
ณัฐบอกว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนหลังอัลบั้ม 2 คือคนดูรักเรามากขึ้น แพทเสริมว่าเพราะเรารักเขามากขึ้นด้วย ณัฐบอกว่าจากเมื่อก่อนที่เราจะเอา แต่พอเราเริ่มให้ เขาให้กลับมากกว่าที่เราให้อีก พลังงานเริ่มเปลี่ยน ถามว่ารู้สึกใจฟูขึ้นมั้ย ณัฐบอกว่า “ตอนนั้นก็ยังนะ อาจจะเพราะเราเจ็บจากอัลบั้มแรกมากเหมือนกัน แต่เราค่อยๆ เปิดขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นว่าเย้ ประสบความสำเร็จแล้ว เรารู้สึกว่าถ้ามันดีก็ทำไปในเวย์นั้นเรื่อยๆ”
แพทเสริม “มันเหมือนเราแค่ดีใจที่เรามีความสุขกับสิ่งที่เรารักจริงๆ มากกว่า ไปเจอผู้คนแล้วสุขทั้งเราทั้งเขาค่ะ อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มที่ได้รางวัลทั้งเพลงยอดเยี่ยม อัลบั้มยอดเยี่ยม ศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม มันแหมือนเราได้เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงจากอัลบั้มแรกเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และได้รับการยอมรับในฐานะศิลปินอาชีพแล้วจริงๆ ณ ตอนนั้น” คีเล่าบ้าง “ตอนนั้นเข้าใจว่าอาชีพศิลปินคือเล่นดนตรี อยากเล่นให้ได้มากที่สุด อันนั้นคือความดีใจที่สุดแล้ว ผมรู้สึกอัลบั้มที่ 2 คือใบเบิกทางที่เราได้เดินทางไปทั่วประเทศครับ ได้เจอคนมากมาย นั่นคือความดีใจ รู้สึกว่าอ๋อ ชีวิตนักดนตรีเป็นแบบนี้นี่เอง”
คำยินดี
ส่วนอัลบั้มที่ 3 ของวง Klear คีบอกว่าสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือคอมมูนิตี้ของวงเรื่องชัดขึ้น เริ่มมีคนประทับใจกับวงและแพทมากขึ้น โดยเฉพาะเพลง “คำยินดี” น่าจะเป็นประตูที่ทำให้คนฟังรู้สึกว่าอยากให้รับฟังปัญหาชีวิตรัก เราเริ่มเห็นคุณค่าการเป็นศิลปินในอัลบั้มที่ 3 การที่ดูแลเขาได้ มอบอะไรให้เขาได้ เป็นแบบนี้นี่เอง คนมาร้องไห้หน้าเวทีเวลาได้ฟังเพลงนี้
แพทเสริมว่า “ก็มีคนเล่าเรื่องความรักให้พวกเราฟังทั้งเจอกันและส่งข้อความมาในอินบ็อกซ์ของแพทและวง อินบ็อกซ์ระเบิด ปรึกษาปัญหาความรักรัวๆ (หัวเราะ) เราก็ตอบเท่าที่รู้ ช่วงนั้นตอบอินบ็อกซ์ไม่ค่อยไหวเพราะมีเยอะจริงๆ บางทีแค่ตั้งคำถามลอยๆ โพสต์ลอยๆ ที่หน้าเพจ ก็ตอบกันเป็นพัน บางทีเราไปตอบบางคน อีกหลายคนก็ได้เหมือนกันเพราะเขาโดนเรื่องเดียวกัน ในคอมเมนต์จะมีคนให้กำลังใจกันเอง เราเข้าไปอ่านก็รู้สึกว่าดีใจที่เราได้เป็นตัวตั้งต้นที่ทำให้เกิดคอมมูนิตี้เล็กๆ เขาดูแลกันและกันด้วย”
...
ส่วนกระแสตอบรับที่ดีจนมีคนเอาไปร้องคัฟเวอร์ บ้างก็เอาเพลงไปแปลง แพทบอกว่า “รู้สึกดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งของเอนเตอร์เทนเมนต์ของผู้คน (หัวเราะ)” คีเสริม “ผมว่าคำยินดีเป็นสารตั้งต้นของอะไรหลายอย่าง ไวรัลหลายแบบ โทรหาแฟนเพลงก็หลายเวอร์ชัน ดังสุดก็น่าจะของยายป๋อมแป๋ม (หัวเราะ)”
วงเกือบแตก
ในขณะที่วง Klear กำลังโด่งดังสุดๆ ทุกอย่างกำลังไปได้ดี แต่แล้วหลังจากนั้นแพทเล่าให้ฟังว่าเกือบไม่ได้เกิดอัลบั้มชุดที่ 4 แล้ว เพราะเกือบยุบวงไปหลังจบอัลบั้มที่ 3 เมื่อถามว่าเกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น แพทบอกว่า “แพทนี่แหละมีปัญหากับอาชีพ กับตัวเอง ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าวิถีการเป็นศิลปินให้อะไรกับเราได้บ้าง ตอนนั้นไปเล่นดนตรีเยอะมาก เดินทางทั่วประเทศ ด้วยความที่มันวิ่งตลอดเวลา สถานที่ที่เราไปเล่นมันค่อนข้างแอบโหดนะบางที เรามีบางที่ที่เราไม่ค่อยสะดวกใจ ไม่สบายใจ ทำให้เรามาตั้งคำถามกับอาชีพนี้ว่ามันโอเคกับเราจริงๆ หรือเปล่า เพราะมันต้องเจอกับอะไรที่เราอาจจะไม่ได้รู้สึกโอเคกับบางสถานที่ ผู้คนบางที่ ก็เลยบอกวงว่าเราขอพัก เรียกว่าหยุดแบบไม่ต้องรอ
ซึ่งทุกคนในวงก็งงเพราะเพลงเพิ่งดัง คำยินดีกำลังดังอยู่ แกเป็นบ้าอะไร (หัวเราะ) แต่สำหรับแพทคือถ้าเป็นวิชาชีพที่ไม่ได้ให้อะไรดีๆ กับคน ไม่ได้ทำสิ่งดีให้เราและผู้คน เราก็ไม่สามารถทำมันไปได้ตลอดชีวิต ช่วงนั้นก็เลยขอวงไปเรียนต่อปริญญาโท ตอนแรกก็ไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำอัลบั้มต่อมั้ย เราคิดว่าถ้าเราไม่เจอคำตอบหรือเป้าหมายต่อไปของวง เราก็คงทำต่อไม่ได้ เพราะเราก็คงทรมานกับการเดินทางตรงนี้”
แพทเผยว่าในช่วงที่ไปทัวร์คอนเสิร์ตต่างๆ เห็นคนเมา ไปเล่นในเลานจ์ เห็นอะไรบางอย่างที่สำหรับผู้หญิงคนหนึ่งสะเทือนใจ บางครั้งเดินทางกลางคืน จำได้มีครั้งนึงรถเสียกลางถนนใหญ่ในต่างจังหวัด ช่วงนั้นหลายๆ อย่างอยู่ในหัวอยู่แล้ว และตั้งคำถามกับวิชาชีพนี้ เลยทำให้รู้สึกว่าต้องหยุดไปก่อน
“แต่ผ่านไปไม่นาน เรารู้ว่าเราตัดสินใจผิด เราไม่ได้อยากเลิกทำเพลง เรามีความสุขที่อยู่กับพี่ๆ เพื่อนๆ ของเราในวง มีความสุขที่ได้ร้องเพลง เขียนเพลง แต่ที่ผ่านมาเราอาจจะมองเห็นทั้งมุมดีและไม่ดี แล้วเราไปโฟกัสที่มุมไม่ดีที่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนตัดสินใจหยุดไป แต่อยู่ดีๆ สมองก็เปลี่ยนของมันเอง คิดว่าถ้าอย่างนั้นสิ่งดีๆ ที่เราจะทำได้ในฐานะศิลปินคืออะไรบ้าง ความทรงจำก็ค่อยๆ กลับมา เช่น การเป็นที่พึ่งทางใจให้เพื่อนๆ ได้ เราสามารถเป็นอะไรดีๆ ในชีวิตของผู้คนได้ เราเลยคิดว่าจะโกยเฉพาะเรื่องดีที่เราชอบและมีความสุขตั้งเป็นเป้าหมายต่อไปของการทำวง เลยบอกว่าเราจะกลับมาทำต่อ ด้วยเป้าหมายใหม่ว่าเราจะเป็นวงที่ฮีลใจคนได้
จากนั้นถึงเป็นอัลบั้มที่ 4 ที่เราก็ชื่นชอบมากๆ ซึ่งมีทั้งเพลง กระโดดกอด, สิ่งของ, พันหมื่นเหตุผล เราเคยมานั่งย้อนคิดว่าถ้าเราตัดสินใจไม่ทำต่อ โลกนี้ก็คงไม่มีเพลง “สิ่งของ” เกิดขึ้นมา ก็ดีใจที่ตัวเองหาที่ยืนของตัวเองเจอกับอาชีพนี้ ดีใจที่วงเข้าใจและรอ ไม่มีใครโกรธเลย ทุกคนพร้อมจับมือซัพพอร์ต มันเป็นจุดที่ทำให้วงแข็งแรงขึ้นมากๆ เลย สิ่งที่เราเคยตั้งคำถามมันก็ยังอยู่เหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเป้าหมายของเรา และจุดที่เรายืน มันมีค่ามากกว่านั้น”
ด้านณัฐเล่าว่าตอนแรกแพทไม่ได้ขอเบรก แต่ขอเลิกเลยด้วยซ้ำ เขาไม่อยากให้รอ เราเป็นคนบอกว่าคิดดีๆ มั้ย ขอเบรกก็ยังดี จนกระทั่ง 2 อาทิตย์สุดท้ายก่อนแพทจะไปเรียน เขาก็บอกว่าขอเบรกแล้วกัน ทุกคนในวงก็เออ บอกแบบนี้ตั้งแต่แรกก็ไม่เครียดแล้ว คือถ้าขอเบรกจะเข้าใจได้และรอได้อยู่แล้ว คือทั้งวงโอเคกับสิ่งนี้มากกว่าที่จะเลิก
ส่วนคีบอกว่าไม่ตกใจ คาดเดาได้ “ผมเข้าใจแพทมาก เพราะสถานที่ที่เราไปเจอ ทีมงานในวงผู้ชายสิบกว่าคน แต่แพทเป็นผู้หญิงคนเดียว ผมจำได้ว่าผมพยายามหาผู้จัดการผู้หญิงให้มาอยู่เป็นเพื่อน เข้าใจทุกครั้งเวลาไปที่อโคจรแล้วเจอเรื่องแย่ๆ เข้าใจว่าแพทคงจะมาพูดกับผู้ชายในวงได้ลำบาก วันที่บอกว่าจะเบรกก็บอกตรงๆ ว่าเข้าใจ ก็เคยบอกเขาไปว่าเรารักแกนะ อย่าแบกความรู้สึกผิด ทุกคนรอได้ ไม่ต้องคิดเยอะ เอาเข้าจริงแพทก็เบรกไปปีนิดๆ ทุกคนก็ไปเติมสกิลด้านอื่น มองอีกแง่นึงก็เบรกเพื่อกระโดดให้สูงกว่าเดิม ตอนนี้ก็พูดได้ แต่ตอนนั้นก็หนักหนาจริงๆ”
ผลงานปัจจุบัน
ผลงานล่าสุดที่ทำให้แฟนๆ พอหายคิดถึงระหว่างรออัลบั้มใหม่ คือเพลง “รักฉันหรือเปล่า” ประกอบละคร “สิเน่หาส่าหรี” ทางช่องวัน แพทเล่าถึงที่มาที่ไปว่าทางทีมผู้จัดละครติดต่อมาว่าอยากให้ทำเพลงประกอบละครให้ โดยเนื้อหาเกิดขึ้นในเมืองจินตนาการคือมันตราปุระ ก็คุยกันว่าจะออกแบบนี้ยังไงดี สุดท้ายลงตัวว่าอยากให้มีความแฟนตาซี เพ้อฝันนิดๆ ดนตรีมีความเป็นแฟนตาซี เป็นโซนเอเชียฝั่งแคชเมียร์ เนื้อหาจะเป็นมุมมองของนางเอกที่เป็นคนมั่นใจในตัวเอง เป็นผู้หญิงทำงานที่มาจากไทยและไปเจอพระเอก จากคนมั่นใจก็รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง อ่านพระเอกไม่ออกว่าชอบเราเหมือนกันหรือเปล่า
ในพาร์ทดนตรีที่แปลกออกไปจากที่เคยทำ แพทบอกว่ารู้สึกสนุกมากกว่าที่ได้รับโจทย์แบบนี้ มีอะไรใหม่ๆ ให้เราทำ เป็นสนามเด็กเล่นให้ทดลองกัน ไม่รู้สึกยากอะไร ด้านคีเสริมว่าตอนแรกไทม์ไลน์กระชั้นชิดก็ตื่นเต้น แต่ด้วยสถานการณ์โควิดเลยขยับไทม์ไลน์กันไปมา ทำให้มีโอกาสมีเวลาทำงานมากขึ้น ด้วยความเป็นละครมีสถานการณ์ต่างๆ มีเนื้อหาชัดเจน ทำให้สโคปการทำงานแคบลง นอกจากใส่ใจเนื้อหาการสื่อสารก็เอาเวลาส่วนใหญ่ไปดีไซน์ซาวนด์เพิ่มขึ้นด้วย
แพทพูดต่อว่าจริงๆ เรื่องซาวนด์สไตล์นี้กำลังเริ่มทำ เริ่มสนุกทางนี้พอดี ต้องเรียกว่าจังหวะพอดีด้วย ส่วนคีบอกว่ามีความยากตรงที่แพทอยากได้เสียงหิ่งห้อยอวกาศ ความยากคือการแปลภาษาแบบนั้น ก่อนจะหัวเราะออกมา แพทเล่าต่อว่า “คือทุกคนต้องช่วยกันเป็นวุ้นแปลภาษา แพทเป็นคนที่คิดจากภาพ พอทีมงานให้โจทย์ว่าแคชเมียร์ก็ไปเสิร์ชรูป เห็นทุกอย่างก็รู้สึกว่าทำไงดีให้ภาพที่เราเห็นเป็นเสียงขึ้นมา เลยถามวงว่าพอจะมีซาวนด์ที่ทำให้รู้สึกว่าลมลอยไกลๆ เสียงใบไม้ในป่า เสียงลำธาร สิ่งเหล่านี้ต้องแปลภาษาในวงอีกที ต้องฟังดูว่ามันใช่อย่างที่เราคิดหรือเปล่า”
ส่วนภาพรวมทั้งหมด ณัฐบอกว่าพอใจมากตั้งแต่วันที่ทำแล้ว เวลาแพทบอกอยากได้เสียงนั่นนี่ พออยู่ด้วยกันแล้วกลายเป็นว่าภาพตรงกันทั้ง 4 คน แฮปปี้ตั้งแต่ตอนที่ทำเพลง ภาพออกมาโอเคแน่นอน ซึ่งมันออกมาโอเคจริงๆ โดยรวมแล้วสนุก แพทบอกว่าการทำเพลงประกอบละครสำหรับพวกเรามันยากแต่มันง่าย ยากในที่นี้คือทำให้ตอบโจทย์มากที่สุด แต่ความง่ายคือมีโจทย์ชัดเจนให้ ถ้าทำเพลงวงตัวเอง ต้องตั้งโจทย์กันเอง ความยากอยู่ตรงนั้น ส่วนเรื่องซาวนด์ดีไซน์มองเป็นเรื่องความสนุกมากกว่า
พอถามฟีดแบ็กที่ได้รับ คีพูดทันที “ใบเฟิร์น (พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์) น่ารักครับ (ยิ้ม) โจทย์ของวง Klear เหมือนเราต้องพูดแทนใบเฟิร์น” ณัฐเสริม “คือตอนแรกถามว่าใครเป็นนางเอก พอบอกใบเฟิร์นปุ๊บก็โอเค ไม่ต้องคิดอะไรมาก” คีบอกพอละครออนแอร์แล้วเพลงขึ้นมาในฉากของใบเฟิร์นแล้วรู้สึกคอมพลีท หน้าที่วงเสร็จแล้ว เราดีไซน์ พูดแทนตัวละคร ส่วนคนชอบเป็นโบนัสมาก รู้สึกดีใจที่คนชื่นชอบ
อัลบั้มใหม่
ส่วนผลงานอัลบั้มชุดใหม่ ซึ่งเป็นชุดที่ 6 แพทบอกว่ากำลังทำเดโมมาได้สักพักใหญ่ๆ ทำมาเรื่อยๆ และจะปล่อยซิงเกิลเร็วๆ นี้ เป็นช่วงท้ายๆ ของการคัดเลือกซิงเกิล การทำอัลบั้มใหม่ไม่เคยง่ายขึ้น เหมือนเริ่มใหม่ทุกรอบ ณัฐเสริมว่าเวลาเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน ประสบการณ์ที่มีมาไม่ได้ช่วยอะไรเลยในการทำอัลบั้ม มันเป็นของใหม่เสมอ แพทบอกว่าเราจะใช้สิ่งที่เคยทำแล้วดี ประสบความสำเร็จในตอนนั้น มาใช้ในตอนนี้ไม่ได้อยู่แล้ว คือผู้ฟังเปลี่ยนไป เติบโตขึ้น มีความคิดยังไงในวันนี้ ฉะนั้นเพลงที่เคยทำงานได้ดีในอดีต ทำในวันนี้อาจไม่ได้
ในส่วนการนำเสนออัลบั้มชุดใหม่ ณัฐบอกว่ามีและเปลี่ยนแปลงได้แทบทุกเดือน จริงๆ จะออกอัลบั้มตั้งแต่ก่อนโควิด แต่พอมองย้อนกลับไป 1-2 ปี พอมาดูเดโมตอนนี้รู้สึกว่ามันก็เปลี่ยนไปเยอะ ฉะนั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ออกด้วย แพทเสริม “ที่พูดแบบนี้เพราะสำหรับพวกเรา อัลบั้มเป็นการบันทึกช่วงเวลาชีวิตในแต่ละช่วง ถ้าเปลี่ยนแปลงไป เติบโตขึ้น อัลบั้มก็จะสะท้อนสิ่งที่พวกเราเป็นในช่วงนั้นค่ะ อย่างที่พี่ณัฐบอกมันจะสดใหม่เสมอ เมื่อไรที่เราจะทำเพลงก็คือการบันทึกช่วงเวลานั้นๆ”
คีบอกว่าในส่วนเนื้อหาเพลงไม่ได้ตั้งใจจะให้คนร้องไห้เศร้า แต่บางเพลงที่สมหวัง เช่นเพลง “สิ่งของ” คนก็ร้องไห้ แพทบอกว่าพี่นิค (วิเชียร) บอกว่าเสียงแพทติดเศร้า ร้องเพลงอะไรทำให้คนรู้สึกเศร้าได้ แพทมองว่าก็ดีนะ คนบางทีชอบทำเข้มแข็ง ร้องไห้ยาก ถ้าเพลงเราทำให้เขาได้ระบายออกมาก็โอเค คำตอบก็คือน่าจะทำเพลงหลายๆ แบบเหมือนเดิม แต่สุดท้ายก็คงติดเศร้าอัตโนมัติ ซึ่งอัลบั้มใหม่จะได้ฟังปีนี้ ถ้าเอาตามแพลนเดิมก็ปีนี้ เดี๋ยวดูเวลาอีกที โดยจะปล่อยซิงเกิลเพลงก่อนไม่เกินกลางปีนี้
ส่วนการออกอัลบั้มในยุคโควิด แพทบอกว่าตอนที่ออกอัลบั้มชุดที่ 5 ในช่วง มี.ค. 2020 ได้บทเรียนเยอะมาก ตอนแรกจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ในปีนั้น แต่ก็ไม่เกิดขึ้น ต้องเลื่อนไป จนมาปีนี้เราวางแผนว่าจะทำอัลบั้มและคอนเสิร์ตใหญ่ ก็ต้องดูสถานการณ์อีกที แต่เพลงใหม่มีแน่นอน
มิตรภาพ 20 ปี
กว่า 20 ปีที่รู้จักกันและรวมตัวกันในนามวง Klear แพทเล่าถึงความรู้สึกที่มีต่อกันและกันว่า “แพทรู้สึกว่าการทำวงดนตรีเหมือนการแต่งงาน แล้วเรา 4 คนมีลูกชื่อ Klear แต่เป็น 4 คนที่ไม่ได้สนิทกันมาก่อน ไม่ได้เป็นพี่น้องกัน เพราะฉะนั้นในระหว่างทางมันจะทะเลาะกันจนไม่รู้จะทะเลาะยังไง ทะเลาะจนครบทุกคู่ แต่สุดท้ายอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะลูกชื่อวง Klear
อะไรที่เราทะเลาะกัน มันจะจบเพราะชอยส์สำหรับ Klear คืออะไร ถ้าคนนึงต้องยอมถอยเพราะอีกคนให้คำตอบที่ใช่สำหรับวงมากกว่า มันก็เหมือนเราทำเพื่อลูกคนนี้ด้วยกัน ด้วยความที่เราเรียนรู้กันมานานมาก ก็รู้สึกว่าทุกคนเหมือนครอบครัวกันไปแล้ว รู้จักพ่อแม่ รู้จักตั้งแต่แฟนคนแรกยันคนที่แต่งงาน (หัวเราะ) มันกลายเป็นชีวิตเราไปแล้ว”
ณัฐเสริม “สกิลการทะเลาะของเรามันจะดีขึ้นครับ ตอนแรกๆ อาจด้วยวัย พอทะเลาะจะทะเลาะด้วยอารมณ์อย่างเดียว คือการขัดแย้งมันมีได้ตลอด และอนาคตก็คงมีต่อไป แต่เราทะเลาะกันเป็นน่ะ สุดท้ายก็เถียงกันเพื่อลูก Klear ว่าอย่างไหนดีที่สุด เราทะเลาะกันเก่งขึ้น แล้วการทะเลาะกันมันทำให้โซลูชั่นแต่ละเรื่องมันดีขึ้น ได้คำตอบที่ดีขึ้น ผมว่าก็ดีครับ”
คีตอบบ้าง “คำถามยากจังเลย ขอนึกก่อนนะครับ (หัวเราะ)” ก่อนจะนิ่งคิดสักพักและบอกว่า “จริงๆ ถ้าเรามองย้อนอดีตในวันที่ทะเลาะ มันจะไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่าเราจะรอดกันมาเกือบ 20 ปี (หัวเราะ) ถ้าไปเจาะแต่ละเหตุการณ์ที่ทะเลาะก็ไม่น่ารอดอะ” ณัฐเสริม “ผมยังจำได้เวลาตีกันแล้ววิ่งเข้าไปหาสมาชิกสักคน แล้วผมต้องกันไว้ แล้วคีวิ่งเข้ามาด้วยความเร็วแสง โห...ไม่ต่อยกันก็บุญแล้ว (หัวเราะ)”
แพทเสริมว่าทุกวันนี้ยังอะเมซิ่งที่ยังไม่ถึงขั้นต่อยกัน ก่อนจะบอกว่า “จริงๆ เพราะความคิดเห็นที่แตกต่างกันของพวกเรานี่แหละที่ทำให้มากันได้ถึงทุกวันนี้ เวลาวงตัดสินใจอะไรสักอย่างมันไม่ใช่ระบบประชาธิปไตย คือไม่ใช่ 3 ใน 4 เห็นตรงกัน มันจะต้องเถียงกันจนกว่า 4 เต็ม 4 เท่านั้นถึงเกิดการตัดสินใจ เลยคิดว่าหรือจริงๆ การเถียงกันของเรา การรู้จักความคิดเห็นที่ต่างกัน จะทำให้เราได้คำตอบที่ดีที่สุด น่าจะเป็นจุดแข็งของเรา เถียงเก่ง (หัวเราะ)”
ถึงตรงนี้คีบอกว่า “เขาบอกว่าในทุกการทะเลาะ มันคือการพยายามบาลานซ์ความเข้าใจ พอมานั่งนึกก็เออ...จริง ถ้าเราไม่ผ่านการทะเลาะกัน ถึงวันนึงคงระเบิดตัวกันไปเลย เพราะเราไม่ได้ทะเลาะกัน เลยไม่เข้าใจว่าอีกฝ่ายคิดอะไร”
ณัฐเสริมอีกครั้ง “ผมยังจำได้ว่าช่วงที่ Klear มีปัญหามากที่สุดและเกือบจะต่อยกันเพราะคุยกันน้อย ต่างคนต่างไม่คุย พอคุยกันทีก็แรงเลยไง ตอนหลังเลยรู้สึกว่าพูดกันเลยดีกว่าครับ” แพทพูดต่อ “เราเหมือนโต๊ะ 4 ขาที่ถ้าขาใดขาหนึ่งมีปัญหา ขาหักไป 1 อีก 3 ขาที่เหลือก็พร้อมประคองให้เราเสมอ เราอุ่นใจเสมอว่าถ้าเรามีปัญหาอะไรขึ้นมา เรารู้ว่าจะมีเพื่อนอีก 3 คนที่พยุงอยู่เสมอ แม้แต่หัก 3 ขา ก็ยังมีคนยืนอยู่เพื่อให้วงต้องรอด ทำให้เราภูมิใจ ถ้าเอาอายุเราก็คือครึ่งชีวิตแล้วที่เรามีวงนี้กับเพื่อนๆ”
ปิดท้ายคีฝากถึงแฟนๆ ที่ติดตามผลงานว่า “คนที่ชอบเพลงเราตั้งแต่วันแรก ณ วันนี้ก็ยังอยู่ ก็รู้สึกอะเมซซิ่งและขอบคุณมากๆ ต้องขอบคุณที่เป็นแฟมิลี่ใหญ่ขึ้น ทำโปรเจกต์ให้ ผมมองย้อนไปก็ไม่คิดว่าวันนี้จะมาถึง ไม่คิดว่าจะมีคนที่รักเราขนาดนี้ ก็ต้องขอบคุณจริงๆ ครับ”.
ผู้เขียน : Penguin บินได้
ภาพ : GMM Grammy
กราฟิก : Chonticha Pinijrob