ช่วงหลังนักแสดงหนุ่มมากฝีมือ แซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี มักจะโพสต์เฟซบุ๊กเผยเรื่องเล่าในครอบครัวให้แฟนๆ ได้ติดตามกันอยู่เรื่อยๆ ล่าสุดก็มีอีกเรื่องเล่าที่ไม่ธรรมดา คือเรื่องของ คุณพระชำนาญคุรุวิทย์ หรือ แย้ม ภมรมนตรี ซึ่งเป็นคุณปู่ และที่มาของนามสกุล “ภมรมนตรี” ที่งานนี้เจ้าตัวเล่าย้อนไปไกลถึงบรรพบุรุษที่เคยมีชีวิตอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว

แซม ยุรนันท์ ขอบคุณภาพจากเพจ Sam Yuranunt Pamornmontri
แซม ยุรนันท์ ขอบคุณภาพจากเพจ Sam Yuranunt Pamornmontri

โดย แซม ยุรนันท์ ได้โพสต์ภาพคุณปู่คุณย่า พร้อมทั้งเขียนข้อความว่า “Somewhere in Time” ภาพนี้เป็นภาพหลักที่ติดอยู่ในห้องโถงกลางบ้าน ตั้งแต่ผมจำความได้ครับ เป็นภาพวันหวานน่ารักของคุณปู่คุณย่า คุณพระชำนาญคุรุวิทย์และแพทย์หญิงแอนเนรี

...

คราวที่แล้วเขียนเล่าเรื่องคุณย่าไป แต่ยังติดค้างไว้เรื่องของคุณปู่ครับ...... คุณปู่ของผมชื่อว่าแย้มครับ เป็นบุตรของพระยามณเฑียรบาล (บัว) ในรัชกาลที่สี่ เป็นหลานปู่ของพระยาราชมนตรี (ภู่) ในรัชกาลที่สาม

เป็นหลานทวดของพระยาสรราช ซึ่งเป็นบุตรของพระยาธิเบศร์บดี เสนาบดีในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ (กรุงศรีอยุธยา) สืบแค่นี้ก่อนละกันนะครับเดี๋ยวอาจจะยาวไปถึงกรุงสุโขทัย หลังจากเสียกรุงครั้งที่ 2 ขณะที่พระเจ้าตากทรงกำลังกอบกู้เอกราช ทรงมอบหมายให้คุณปู่ทวด เป็นแม่ทัพไปตีไล่พม่าที่เมืองตากและกำแพงเพชร!!

เมื่อสำเร็จก็เข้ารับราชการเป็นจางวางมหาดเล็กในรัชสมัยของพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระราชทานพระสุพรรณบัตรแต่งตั้งเป็น *เจ้าพระยาธิเบศร์บดี* ครับ

ครั้นเมื่อล้นเกล้ารัชกาลที่หก ทรงพระราชทานนามสกุลให้แก่คุณปู่ ทรงเห็นว่าพระยาราชมนตรี (ภู่) เป็นผู้ที่ถวายงานให้แก่สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อย่างซื่อสัตย์ สุจริต จนเป็นที่กล่าวขาน เป็นเสนาบดีพระคลังมหาสมบัติ ที่ทั้งหาเงินและเก็บเงินเข้าพระคลังมากมายมั่งคั่ง..ไม่ตกหล่น!! ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สะสมเงินใส่ถุงแดงอีกจำนวนมากเป็นสมบัติของชาติสืบมา

พระยาราชมนตรียังนำทรัพย์สินส่วนตัวคือบ้านและที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี สร้างเป็นวัดถวายพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดพระราชทานนามว่า “วัดคฤหบดี” เป็นวัดอารามหลวงครับ และทรงพระราชทาน พระแซกคำ พระพุทธรูปเก่าแก่สมัยเชียงแสน ที่รัชกาลที่หนึ่งทรงอัญเชิญกลับมาจากกรุงเวียงจันทน์พร้อมพระแก้วมรกต มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถครับ ภายในวัดมีเจดีย์สีขาวองค์ใหญ่บรรจุอัฐิบรรพบุรุษของผม (และคงจะเป็นของผมด้วยในอนาคต!!)

เมื่อคุณปู่ของคุณปู่มีชื่อว่า “ภู่” ซึ่งก็คือ ภมร ส่วน มนตรี ก็มาจากพระยาราชมนตรีนั่นเอง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลว่า “ภมรมนตรี” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2456 ครับ

มาเล่าเรื่องคุณปู่กันต่อนะครับ วัยหนุ่มคุณปู่เข้ารับราชการทหารสังกัดกรมทหารม้า ได้ส่งไปปราบจีนฮ่อที่ชายแดน เมื่อสำเร็จกลับมาได้รับความชมเชย..ว่ามีความกล้าหาญ เข้มแข็งและเฉลียวฉลาด ในหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปศึกษาต่อวิชาการทหาร ณ ประเทศเยอรมัน และทรงพระราชทานยศเป็นร้อยโทครับ

เรียนก็เรียนหนัก! ฝึกก็ฝึกหนัก! แต่ความรักก็ไม่เบานะครับ ได้พบรักกับคุณย่าซึ่งเป็นนักเรียนแพทย์ แถมยังมีดีกรีเป็นถึงลูกสาวของคณบดีมหาวิทยาลัยชื่อดังของเยอรมัน (ตามภาพ) แต่ทหารไทยใจถึงก็ไม่ได้ย่อท้อ!..พิสูจน์รักแท้ให้คุณพ่อตาศาสดาจารย์ด็อกเตอร์ไฟเอร์เห็น จนได้รับการยอมรับ.. และแต่งงานกันในที่สุด

และเมื่อถึงคราวจะต้องเดินทางกลับประเทศไทย ก็เป็นที่ห่วงใยของญาติพี่น้อง..เพราะสยามประเทศของเรายังเป็นที่รู้จักกันน้อยมากสำหรับคนต่างชาติ ณ เวลานั้น..เป็นห่วงว่าจะต้องไปตกระกำลำบากอย่างไร?? แต่คุณย่าก็ยืนกรานว่าจะขอไปกับคนที่รักทุกที่

เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยก็เป็นอย่างใจคุณพ่อตาที่เป็นห่วงเลยครับ!! ประเทศไทยมีกรณีพิพาทเรื่องดินแดนริมฝั่งแม่น้ำโขงกับฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสนำกองทหารเข้ามาประชิดชายแดนไทย!! คุณปู่ซึ่งจบการทหารทางด้านปืนใหญ่และอาวุธสงคราม ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการการรบ ต้านกองทัพฝรั่งเศสที่ชายแดนครับ รบกันถึงหกปี!! โดยมีคุณย่าติดตามไปด้วยทุกที่ ช่วยออกหน่วยแพทย์และฝึกพยาบาล ว่างจากรบก็ช่วยรักษาชาวบ้านเป็นครั้งคราวจนเป็นที่เรียกติดปากกันว่า “หมอแหม่ม” หมอแหม่มให้กำเนิดลูกสาวสองคนที่บ้านหมากแข้ง (อุดรธานี) ชื่ออำพันและอรุณวดีครับ (ตามรูป)

เมื่อรบกันยาวนานมาถึงปีที่หก ผู้บัญชาการกองรบฝรั่งเศส ชูธงขาวเข้ามาพบคุณปู่ แจ้งให้ยุติสงคราม!! ส่งโทรเลขให้ดูว่ารัฐบาลสยาม ยอมทำตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสแล้ว คุณปู่อ่านโทรเลขด้วยน้ำตานองหน้า ..เพราะนั่นหมายถึงเราต้องสูญเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นของไทยแต่โบราณไปให้กับต่างชาติ

...

คุณปู่แค้นใจรับไม่ได้จุดไฟเผาโทรเลขฉบับนั้นและเป่าแตรนำกองทหารอีกทั้งชาวบ้านขับไล่ทหารฝรั่งเศสแตกกระเจิงไป.. แต่สุดท้ายคุณปู่ก็ถูกนายทหารฝรั่งเศสจับ!! และถูกปลดยศทหารต่อหน้านายทหารทั้งสองประเทศ จับเป็นนักโทษสงคราม นั่งเกวียนไปรับโทษที่พระนคร

โดยมีคุณย่าขี่ม้าตามระหว่างทางคุณย่าท่านป่วยหนัก! เป็นไข้จับสั่น ไข้ขึ้นสูง หมดเรี่ยวแรง! ต้องผูกไว้กับหลังม้าเพื่อไม่ให้ตกลงมา เป็นที่ทรมานยิ่งนัก!! เมื่อถึงโคราชก็ได้นั่งรถไฟกลับพระนคร (ขณะนั้นประเทศไทยเพิ่งได้เริ่มสร้างทางรถไฟและยังไม่ทั่วถึงครับ)

เมื่อถึงก็ได้เข้าเฝ้ากราบพระบาท พระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงชื่นชมในความเด็ดเดี่ยว รักชาติ ไม่ยอมแพ้ศัตรู พระราชทานยศเป็นพันตรี และทรงพระกรุณาอวยยศให้เทียบชั้นพระยา แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการเป็นทูตทหารประจำกรุงเบอร์ลินประเทศเยอรมันบ้านเกิดของคุณย่า

ส่วนคุณย่านั้นทรงชื่นชมเป็นพิเศษเพราะเป็นต่างชาติแท้ๆ แต่ช่วยเป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้งทีมแพทย์และพยาบาล ช่วยบ้านเมืองอย่างสุดกำลัง ทรงพระกรุณาพระราชทานหีบทองคำเป็นของขวัญครับ

คุณย่าได้กล่าวว่า..ได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนเร็วกว่าที่คิด โดยแทบไม่รู้จักเมืองหลวงของประเทศไทยดีพอเลย กลับเยอรมันครั้งนี้ คุณย่าได้ให้กำเนิดลูกชายฝาแฝด ประยงค์-ประยูร ตามที่เล่าไปเมื่อครั้งที่แล้วครับ”.