ถ้าพูดถึงวงการเทปเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน คงไม่มีใครไม่รู้จักวงดนตรีที่ชื่อว่า "สไมล์บัฟฟาโล" อย่างแน่นอน ที่มีเพลงแจ้งเกิดอย่าง "ดีเกินไป" และ "ฟ้ายังฟ้าอยู่" กลายเป็นเพลงที่โด่งดังที่สุด ในยุคที่รุ่งเรืองนี้ พวกเขาก็มีผลงานเพลงตามมาอีกมากมาย ก่อนที่สมาชิกแต่ละคนจะแยกวงออกไปตามทางของตัวเอง

และหนึ่งในนั้นคือมือกลอง เชษฐ์ วรเชษฐ เอมเปีย ที่เขาได้เลือกอีกทางแตกต่างจากชีวิตที่เคยผ่านมาอย่างสิ้นเชิง คือ ไปเป็นเกษตรกร ทำไร่ทำนา ปลูกข้าวขาย ซึ่งทำเงินให้กว่าหลายล้านต่อปี นอกจากจะได้เงินเป็นกอบเป็นกำแล้ว เชษฐ์ยังได้แบ่งปันสิ่งเหล่านี้กลับคืนสู่ชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ด้วย ก็คือ การเปิดโรงทาน เชษฐ์ สไมล์บัฟฟาโล

ล่าสุด มีโอกาสเจอ เชษฐ์ และเพื่อนๆ วงสไมล์บัฟฟาโล มารวมตัวในงานแถลงข่าวคอนเสิร์ตเด็กเทป ที่ฮาร์ดร็อค สยาม เขาได้ให้สัมภาษณ์ถึงชีวิตที่เกิดจุดหักเหจนผันมาเป็นชาวนา ทำโรงทาน กับ บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ ว่า

ห่างหายจากการขึ้นคอนเสิร์ตใหญ่มากี่ปีแล้ว? “เรากลับมารวมตัวกันเฉพาะงานนี้เลย ซึ่งก็คืองาน เด็กเทป เราออกเทปกันมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเทปม้วนๆ ก็รู้สึกจำภาพได้ ตอนเราเป็นเด็ก ใช้ปากกา ดินสอหมุน ถ้าเทปมันยืด ก็จะเอาไปแช่ตู้เย็น

...

คอนเสิร์ตครั้งนี้มีความยิ่งใหญ่ เพราะมันเป็นตำนาน แต่ละวงที่มาเล่นก็จะอยู่ในยุคนั้นหมดเลย ผมไม่ได้ขึ้นคอนเสิร์ตมาหลายปีมาก แต่พวกประปรายก็จะเล่นมาโดยตลอด”

เพื่อนๆ ในวงเราเจอกันบ่อยไหม? “เจอกันบ้างครับ” งานในวงการ มีอะไรให้ติดตามบ้าง? “ผมมีเพลงอัลบั้มของผม เป็นเพลง พ.ศ. ไม่พอเพียง มีในยูทูบ แต่ว่าผมทำมาไว้เพื่อร่วมสร้างพญานาคในสถานปฏิบัติธรรม

ผมมีอัลบั้มมาขายให้กับกลุ่มผม เยอะแยะมากมาย คนก็มาซื้อกัน แล้วก็ซื้อรถตู้พยาบาลช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ผมขายแผ่นละ 999 บาท คนก็มาสั่งจองมากมาย เป็นการทำบุญ ทุกบาททุกสตางค์ไม่มีหักค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น”

ตอนนี้เหมือนเราเปลี่ยนแนวเพลงไปเลย? “อันนั้นมันทำแค่เฉพาะกิจครับ แต่ว่าในวงการผมไม่ได้เข้ามาอยู่แล้ว คือผมทำเองเพื่อไปทำบุญ เพราะผมมีโรงทาน เชษฐ์ สไมล์บัฟฟาโล อยู่ โรงทานผมก็จะเป็นโรงทานที่เลี้ยงเด็กยากไร้ ผู้ที่ไม่มีพ่อแม่ แล้วเป็นสิ่งที่ผมเลี้ยงดูคนเฒ่าคนแก่ที่ทำมาหากินไม่ไหว แล้วก็เลี้ยงดูคนพิการ

โรงทานนี้อยู่มา 1 ปีแล้วครับ ทำที่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ครับ หลายรายการก็มาถ่ายทำ เลยทำให้เป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ คนทั่วประเทศก็มาร่วมบุญกับผม เราก็เป็นจุดศูนย์กลางที่ช่วยโรงเรียนที่เค้าไม่มีงบประมาณ ก็เอาไปช่วยเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กๆ”

เอาเงินทุนมาจากไหน? “ทุนมาจากตัวผมเอง ผมได้เงินจากทำข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นล้านๆ ผมดำเนินชีวิตแนวพอเพียงครับ แล้วเหลือเงินเยอะ

ผมก็ทำพืชไร่พืชสวนเกษตรกรต่างๆ ทุกอย่างทุกชนิด ผมทำเกษตรทฤษฎีแนวใหม่ไงครับ และใช้หลักพอเพียงของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ผมก็ดำเนินชีวิตแบบไม่ต้องหรูหราฟู่ฟ่า ก็เลยเหลือเงินเยอะมากมาย และขายข้าวได้เยอะมาก”

“ผมจะเป็นคนที่ทำอะไรก่อนชาวบ้านเค้า ตอนข้าวไรซ์เบอร์รี่ยังไม่ฮิต ผมก็ทำก่อน คนทั่วประเทศก็ต้องมาซื้อผม เพราะมีอยู่ที่เดียว พอตอนข้าวกำลังฮิต ผมมีอยู่หลายร้อยตัน ผมก็มีเงินเป็นล้านๆ เลยได้เงินส่วนนี้มาทำโรงทาน พอทำโรงทาน ก็มีผู้ที่ศรัทธา เค้าเรียกว่า แนวสายบุญ ก็จะมาร่วมกับผมมากมาย มันก็เลยขยายกว้างขึ้น เราก็เลยไปช่วยเค้าได้ เพราะได้จากกัลยาณมิตร”

...

ทำไมถึงออกจากวงการบันเทิง แล้วไปทำการเกษตร? “อ๋อ พอดีคือผมอยู่ตรงนี้มานาน แล้วก็ใช้ชีวิตเหมือนว่าเราอิ่มตัว ยุคนั้นมันเหมือนทั้งดื้อ ทั้งอะไรต่างๆ ช่วงตอนนั้นผมอายุแค่ 22 เอง แล้วใช้ชีวิตลุยมาเต็มที่แล้ว มันไม่ได้เป็นความสุขที่แท้จริง

ณ ปัจจุบันนี้ ความสุขที่แท้จริงก็คือผมได้อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับสิ่งที่มั่นคงยั่งยืน การดำเนินชีวิตแบบพอเพียง ไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรกร ทุกอาชีพ ถ้ารู้จักการดำเนินชีวิตพอเพียง เพียงพอ พอมันมีเหลือแล้วมันจะแบ่งปันได้”

ตอนนี้การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ดีกว่าเดิมไหม? “ผมไม่ได้ทำแล้ว อย่างที่บอกไปแล้วว่า ผมจะเป็นคนที่ทำอะไรตอนที่คนยังไม่ทำ ตอนนี้คนทำเยอะแล้ว ตลาดมันก็ล้น เราก็ต้องใช้สมองคิดว่าทำอะไรที่คนเค้าไม่มี ทำอะไรที่ฉีกแหวกไป

เกษตรทฤษฎีแนวใหม่ ต้องทำอะไรที่ใช้สติปัญญา ต้องใช้สมองอยู่ตลอดเวลา อะไรที่แพงๆ เราไม่ปลูก เพราะคนเค้าก็แห่ไปปลูกกันหมด พอมันล้นตลาด คนก็ต้องแจกกันทิ้งขว้าง เราก็ต้องปลูกของที่คนเค้าไม่ปลูก แล้วมันจะไม่พอต่อตลาด พอไม่พอ ตลาดก็จะเรียกราคาสูง”

...

ตอนนี้ทำอะไรอยู่ ถ้าไม่ได้ปลูกข้าวแล้ว? “มันมีพืชทุกชนิดที่บ้านผม เดินไปตรงไหนก็จะเจอ อะไรที่มันแพงเราก็เอาไปขาย อะไรที่ขายไม่ได้เราก็เก็บไว้กิน เหลือก็เอาไปทำที่โรงทาน

เด็กๆ ที่ไม่มีพ่อแม่ เค้าก็มาอาศัยที่โรงทาน มากินมานอนอยู่ที่นั่น เด็กบางคนที่พ่อแม่เลิกรากัน แทนที่จะเป็นเด็กมีปัญหา เราก็จับเอามาฝึกอาชีพ ฝึกทำการเกษตร ฝึกดนตรี เค้าก็มีความรู้วิชาช่าง เด็กก็มีรายได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ โดยไม่เป็นภาระของสังคม”

“อีกอย่างคือเด็กมีเงินเยอะ ก็จะฝากผมไว้เรื่อยๆ แล้วผมก็จะส่งเข้าเรียน กศน. อย่างน้อยก็ไม่จำเป็นต้องเรียนอะไรมากมาย ไม่ต้องฉลาดมาก ฉลาดมากก็เป็นทุกข์มาก เรียนให้มันรู้เรื่องพอแล้ว และอาศัยปริญญาชีวิตเอาละกัน ต้องจบปริญญาชีวิต ทำกินทำใช้ มีเงินเจือจุนคนในครอบครัว”

...

ชีวิตในตอนนี้ มีความสุขดีกับสิ่งรอบข้าง? “ใช่ครับ ไม่ต้องเข้ามาเมืองหลวง เพื่อมาดิ้นรน และผมสร้างธรรมชาติเกิดขึ้นมาได้ ในระยะเวลากว่า 10 ปี ผมปลูกต้นไม้กว่าจะโต ใช้ระยะเวลารอคอยจนป่านนี้เป็นป่าหมดแล้ว เป็นบึง เป็นสระบัวสวยงาม ล้อมรอบด้วยธรรมชาติหมดเลย”

เริ่มทำตรงนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่? “ผมทำมากว่า 10 ปีแล้วครับ ทำจนต้นไม้โต” เคยทำแล้วไม่สำเร็จบ้างไหม? “ไม่มีครับ สำเร็จหมดทุกอย่าง เพียงแต่ช้าเร็วเท่านั้นเอง ต้องรอคอย เป็นการฝึกให้เรารู้จักการรอคอยการเติบโตของเค้าทีละขั้นๆ เราต้องการอยากให้ธรรมชาติอยู่กับเรา เราก็ต้องสร้างธรรมชาติ”

ใช้พื้นที่ประมาณกี่ไร่? “ของผม 10 กว่าไร่ครับ และตรงโรงทานผม 7 ไร่ครับ อยู่ที่ ต.หนองขยาด อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ครับ”

ถ้าเกิดมีงานที่กรุงเทพฯ ก็ค่อยขับรถมา? “ผมไม่ค่อยเข้ากรุงเทพฯ เท่าไรครับ นอกจากว่าทางงานเค้าจะเอารถตู้ไปรับถึงที่บ้าน เพราะผมอยู่ตรงนั้นมันก็พอทุกอย่างแล้ว ถ้าไม่จำเป็นผมก็ไม่เข้ามา อยู่อย่างพอเพียง เพียงพอ พอใจ พอดี และพอแล้ว”

ตอนนี้ชีวิตแฮปปี้ เงินเหลือใช้ สบาย? “ใช่ครับ เราเหลือใช้ แล้วก็แจกจ่ายครับ ส่งนักเรียนเรียนหนังสือ เด็กเล็กๆ ที่เค้าไม่มีพ่อแม่ เราก็ส่งเค้าเรียน จนกว่าเค้าจะพอใจ ก็มีเด็กหลายคนที่เป็นลูกคนจนอยู่ที่นั่น”

อย่างนี้ก็เป็นที่รักของทุกคนที่นั่นเลยไหม? “ไม่ครับ ไม่จำเป็น ไม่เกี่ยวครับว่าจะต้องรักหรือเกลียด เราทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทำอะไรที่เป็นความสุขก็พอแล้ว ไม่ต้องหวังผลตอบแทน ไม่ต้องสนใจว่าใครจะเกลียดจะรัก มันไม่ใช่จุดหลักที่เราจะเอามาสนใจครับ”.

ภาพประกอบบางส่วนจากเฟซบุ๊ก วรเชษฐ์ เอมเปีย