- The Mauritanian เป็นหนังที่ถูกมองข้ามจากออสการ์ปีล่าสุด จนมีการถกเถียงว่าน่าจะเป็นเพราะหนังได้เปิดบาดแผลแสนเหวอะหวะของอเมริกา เพื่อให้โลกตระหนักว่า อเมริกาเคยกระทำต่อคนนอก-โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนมุสลิม-ด้วยอำนาจรัฐอย่างโหดร้ายเพียงใด
- หนังเล่าเรื่องของ โมฮัมมาดู โอ สลาฮี ที่ถูกบุกเข้าจับกุมและนำตัวไปขังไว้ในคุกกวนตานาโม เขาถูกจับกุมนานถึงกว่า 14 ปีโดยไม่มีการตั้งข้อหา ทำให้ทนายความ แนนซี ฮอลแลนเดอร์ ขออาสาว่าความให้ เพื่อไต่สวนและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ควรจะเป็น
- หนึ่งตัวละครสำคัญของ The Mauritanian คือ “คุกกวนตานาโม” ประเทศคิวบา สำหรับคุมขังนักโทษในคดีร้ายแรงโดยเฉพาะการก่อการร้ายจากเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งเป็นคุกที่ถูกทัดทานจากกระแสสังคมเป็นอย่างมาก เพราะมันคือสถานที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง
The Mauritanian เป็นหนังที่ถูกมองข้ามจากออสการ์ปีล่าสุด จนมีการถกเถียงว่าน่าจะเป็นเพราะหนังได้เปิดบาดแผลแสนเหวอะหวะของอเมริกา แต่มันกลับได้รับเสียงแซ่ซ้องบนเวทีบาฟตาของอังกฤษ และลูกโลกทองคำที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำฮอลลีวูด หรืออาจกล่าวได้โดยนัยว่า ขณะที่ฮอลลีวูดหรืออเมริกากำลังเฉลิมฉลองให้ความแตกต่างหลากหลายผ่านรายชื่อผู้เข้าชิงออสการ์ในปีนี้ เวทีต่างชาติก็ใช้ The Mauritanian ทิ่มแทงกลับไปให้โลกตระหนักว่า อเมริกาเคยกระทำต่อคนนอก-โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนมุสลิม-ด้วยอำนาจรัฐอย่างโหดร้ายเพียงใด
หนึ่งในคนที่พูดประเด็นนี้คือ โอลิเวอร์ สโตน เขาทวีตว่า “ผู้กำกับ เควิน แม็กโดนัลด์ สร้างผลงานที่ดีที่สุดไว้ในเรื่องนี้ แต่ออสการ์มองข้ามไปคงเพราะการกระทำของรัฐบาลสหรัฐฯ ในกรณีนี้มันน่าละอายจริงๆ” ซึ่งหากย้อนดูผลงานก่อนหน้านี้ของแม็กโดนัลด์ เขาก็เคยหยิบช่วงเวลาแห่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นสุดของอูกันดาภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร อีดี อามิน ออกมาเป็นหนัง The Last King of Scotland (2006) นั่นเอง
...
โมฮัมมาดู โอ สลาฮี เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง (ในหนังรับบทโดย ทาฮาร์ ราฮิม) เขาถูกบุกเข้าจับกุมถึงบ้านที่มอริเตเนีย ก่อนจะถูกนำตัวไปขังไว้ในที่หนึ่งก่อนจะย้ายไปไว้คุกกวนตานาโม เขาถูกจับกุมนานถึงกว่า 14 ปีโดยไม่มีการตั้งข้อหา ทำให้ทนายความ แนนซี ฮอลแลนเดอร์ (โจดี ฟอสเตอร์) มองเห็นความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการยุติธรรม เลยดั้นด้นเข้าไปถึงกวนตานาโมเพื่อขออาสาว่าความให้สลาฮี โดยไม่จำเป็นต้องรู้หรอกว่าเขานั้นผิดจริงดังที่รัฐกล่าวอ้างหรือไม่ แต่ทำไปเพื่อให้เกิดการไต่สวนและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ควรจะเป็น
สลาฮีทำผิดอะไร? ทำไมถึงกลายเป็นผู้ต้องหาของสหรัฐฯ?
ต้องย้อนกลับไปในยุค 90 เขาคือชายมุสลิมที่ไปเรียนเยอรมนี และเข้าร่วมสนับสนุนกลุ่มมูจาฮีดีนเพื่อโค่นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของ โมฮัมหมัด นาญิบุลลอฮ์ ของอัฟกานิสถาน โดยเข้าไปฝึกฝนยุทธวิธีกับกลุ่มอัลกออิดะฮ์ และได้รับการสนับสนุนภารกิจจากรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากนั้นช่วงปี 1999-2000 สลาฮีย้ายไปอยู่ในควิเบก ประเทศแคนาดา ในช่วงนี้เขากลายเป็นผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์พยายามวางระเบิดสนามบินนานาชาติแอลเอ จนกระทั่งมาถึง 9/11 เหตุการณ์ที่สั่นคลอนความรู้สึกคนทั้งโลก สลาฮีก็คือผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้จัดหาคนมาปฏิบัติภารกิจอันอุกอาจนี้
ในช่วงเวลาที่ชาวอเมริกันกำลังขวัญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว และมองมุสลิมเป็นวายร้ายของโลกนั้น การลุกขึ้นว่าความให้จำเลยที่ไม่ถูกตั้งข้อหาในคดีสะเทือนขวัญทำให้ฮอลแลนเดอร์ได้รับแรงปะทะจากสื่อมวลชนและประชาชนว่า “ทรยศชาติ” อย่างรุนแรง แต่เมื่อละวางอารมณ์แห่งความโกรธแค้นลง จะพบว่ากระบวนการกักขังจำเลยอย่างสลาฮีและอีกหลายคนจากเหตุการณ์ 9/11 มีช่องโหว่อยู่มากมาย โดยเฉพาะความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในกวนตานาโมซึ่งถูกบันทึกเอาไว้ในหนังสือ Guantanamo Diary (2015) โดยสลาฮีที่ต่อมากลายเป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์ และหนึ่งในผู้อ่านก็คือนักแสดง เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ จนเขาขอร่วมโปรเจกต์ The Mauritanian ทั้งในฐานะโปรดิวเซอร์ และรับบท สจวร์ต เคาช์ นายทหารที่พยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อพิสูจน์ความผิดของสลาฮี เพราะเขาสูญเสียเพื่อนรักไปในเหตุการณ์ 9/11
อีกหนึ่งตัวละครสำคัญของ The Mauritanian คือ “คุกกวนตานาโม” สถานที่คุมขังแห่งนี้อยู่ในเขตของฐานทัพเรือสหรัฐฯ อ่าวกวนตานาโม ประเทศคิวบา ซึ่งเพิ่งถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 2002 โดย จอร์จ ดับเบิลยู บุช เพื่อคุมขังนักโทษในคดีร้ายแรงโดยเฉพาะการก่อการร้ายจากเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งนักโทษส่วนใหญ่ในกวนตานาโมก็อยู่ในสถานะเดียวกับสลาฮีคือ “ไม่เคยถูกตั้งข้อหา” และเป็นคุกที่ถูกทัดทานจากกระแสสังคมเป็นอย่างมาก เพราะมันคือสถานที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง
...
กล่าวโดยเข้าใจง่ายคือคุกแห่งนี้ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้อยู่ในการดูแลของกองทัพ ดังนั้น นอกจากการไม่ตั้งข้อหากับนักโทษแล้ว กระบวนการเพื่อให้รับสารภาพหรือคายข้อมูลสำคัญโดยเฉพาะคดีก่อการร้าย จึงเป็นไปอย่างโหดร้ายทารุณตามกระบวนการแบบทหาร ยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับสลาฮีมีตั้งแต่จับกรอกน้ำให้อยู่ในสภาวะเฉกเช่นคนจมน้ำ บังคับให้อดนอน เปิดเพลงเสียงดัง ไปกระทั่งบังคับร่วมเพศกับทหารหญิง เพื่อให้หมดสภาพความเป็นคนจนยอมรับสารภาพ
ความโหดร้ายของกวนตานาโมทำให้เกิดการกดดันจากทุกทิศทางให้รัฐบาลสหรัฐฯ ปิดมันแล้วนำนักโทษเข้าสู่กระบวนการตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ “ศาลทหาร” จนแล้วจนรอดผ่านมาทั้งรัฐบาล บารัค โอบามา, โดนัลด์ ทรัมป์ และ โจ ไบเดน ก็ยังไม่สามารถปิดคุกกวนตานาโมได้เสียที แม้ว่าจะไม่มีการนักโทษใหม่เข้าไปแล้วก็ตาม
ความโหดร้ายของกวนตานาโมอยู่ในหนังอย่างน้อย 2 เรื่องคือ The Road to Guantanamo (2006) ของ ไมเคิล วินเทอร์บอตทอม ซึ่งเล่าเรื่องของ 3 ชายชาวมุสลิมสัญชาติอังกฤษผู้ถูกส่งไปอยู่ในนั้นโดยไม่ถูกตั้งข้อหา และ Camp X-Ray (2014) ของ ปีเตอร์ แซ็ตต์เลอร์ ที่ คริสเทน สจวร์ต รับบททหารหญิงที่พาคนดูไปสำรวจความโหดร้ายในนั้น
สลาฮีได้รับอิสรภาพเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา พร้อมการตั้งคำถามถึงกระบวนการนิติรัฐอย่างเข้มข้น ซึ่งมันจะไม่จบแค่ในอเมริกา เพราะเมื่อพบว่าในวันนี้ทั้งโลกเรียกร้องให้เกิดการตื่นตัวเพื่อโอบรับความแตกต่างหลากหลาย และตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ ตามครรลองของประชาธิปไตย ก็ยังมีอีกหลายที่บนโลกใบนี้ยังคงขัดขืนหลักการดังกล่าว
...
...อย่างน้อยก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูก “ฝากขัง” ระหว่างรอกระบวนการพิสูจน์ความผิดดำเนินการอยู่ในชั้นศาล โดยที่ไม่มีใครล่วงรู้ว่าพวกเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง ณ ที่แห่งหนึ่งหลังกำแพงแห่งการจำกัดอิสรภาพนั้น ทั้งที่ยังไม่ได้รับคำตัดสินว่า “ผิดจริงหรือไม่?” และต้องฝากขังไปถึงเมื่อไหร่?
(The Mauritanian | ภาพยนตร์ | สหราชอาณาจักร-สหรัฐอเมริกา | 2021 | กำกับ: เควิน แม็กโดนัลด์)
หมายเหตุ: สามารถรับชม The Mauritanian ในโรงภาพยนตร์ทั่วไปได้ในวันที่ 1 เมษายนนี้