• เราอาจมองว่า หน้าที่ของสื่อภาพยนตร์ก็คือการ ‘ขายความบันเทิง’ แบบหนังฟอร์มยักษ์ (Blockbuster) แต่ในอีกด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์ หนังก็ยังเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการ ‘ปลูกฝังแนวคิดอุดมการณ์’ แบบหนังโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ด้วยเช่นกัน -- ซึ่งหลายครั้ง ก็อาจกลายมาเป็นขั้วตรงข้ามกัน เช่นเดียวกับกรณีที่กำลังเกิดขึ้นในจีนขณะนี้

  • เนื่องในโอกาสครบ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2021 หน่วยงานบริหารด้านภาพยนตร์ของจีนได้ออกคำสั่งให้โรงหนังมากกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ ‘ต้อง’ ฉายหนังโฆษณาชวนเชื่อที่กำหนดไว้ เพื่อปลูกฝังแนวคิด ‘รักชาติ’ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 เรื่อง เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 รอบต่อสัปดาห์ โดยเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายนนี้ ไปถึงสิ้นปี

  • คำสั่งนี้ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านในโซเชียลมีเดีย โดยประชาชนแสดงความไม่พอใจกับการที่รัฐพยายามเลือกให้ผู้ชมต้องดูหนังโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าหนังบล็อกบัสเตอร์ที่ผู้ชมต้องการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปลูกฝังแนวคิดเดิมๆ ให้กับคนรุ่นใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป

Hundred Regiments Offensive
Hundred Regiments Offensive

...


‘ภาพยนตร์’ มีไว้ทำไม?


เราอาจตอบคำถามข้างต้นด้วยมุมมองในเชิงพาณิชย์ว่า หน้าที่ของหนังก็คือการ ‘ขายความบันเทิง’ ซึ่งเห็นได้ชัดจากหนังกลุ่ม ‘บล็อกบัสเตอร์’ (Blockbuster) หรือหนังฟอร์มยักษ์จากประเทศที่มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เข้มแข็ง ขณะที่อีกด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์ หนังก็ยังเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการ ‘ปลูกฝังแนวคิดอุดมการณ์’ ให้แก่ผู้ชมด้วย ซึ่งก็มีทั้งที่ปลูกฝังแบบเนียนๆ และแบบโฉ่งฉ่างตามสไตล์ของหนังที่เรียกว่า ‘พรอปพากันดา’ (Propaganda) หรือหนังโฆษณาชวนเชื่อ

และหลายครั้ง หนังฟอร์มยักษ์และหนังโฆษณาชวนเชื่อก็สามารถ ‘กลืนกลาย’ เป็นหนึ่งเดียวกันได้ (เช่น หนังจีนบล็อกบัสเตอร์ส่วนใหญ่ที่มักแฝงแนวคิด ‘ชาตินิยม’ เอาไว้อย่าง Wolf Warrior 2) หรือบางที ก็อาจเป็นขั้วตรงข้ามกัน เช่นเดียวกับกรณีที่กำลังเกิดขึ้นในจีนขณะนี้

The Red Detachment of Women
The Red Detachment of Women


จัดเต็ม ‘หนังโฆษณาชวนเชื่อ’ ฉลองครบ 100 ปีก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน


เนื่องในโอกาสครบ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2021 ทางการจีนจึงได้ประกาศโปรเจกต์มากมายเพื่อเฉลิมฉลอง ซึ่งก็รวมถึงมิติทางภาพยนตร์ด้วย โดยหน่วยงานบริหารด้านภาพยนตร์ของจีนอย่าง National Film Administration ได้ออกคำสั่งให้โรงหนังมากกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ ‘ต้อง’ ฉายหนังโฆษณาชวนเชื่อที่ทางการจีนกำหนดไว้ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 เรื่อง เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 รอบต่อสัปดาห์ โดยเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายนนี้ ไปถึงสิ้นปี

หนังที่ทางการกำหนดให้ฉายมีตั้งแต่หนังในยุคของ เหมาเจ๋อตุง จนถึงหนังใหม่ โดยเป็นหนังที่มีเนื้อหาปลูกฝังจิตสำนึกรักชาติ, รักพรรคคอมมิวนิสต์, รักระบอบสังคมนิยม รวมถึงแสดงให้เห็นประวัติศาสตร์และความยิ่งใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งรายชื่อของหนังกลุ่มแรกจำนวน 12 เรื่องที่ทางการจีนกำหนดให้ฉาย ได้แก่ Fighting North and South (1952), Railway Guerrilla (1956), Battle on Shangganling Mountain (1956), The Red Detachment of Women (1961), Red Sun (1963), Zhang Ga the Soldier Boy (1963), Heroic Sons and Daughters (1964), The Nanchang Uprising (1981), Hundred Regiments Offensive (2015), Battle of Xiangjiang River (2016), The Sacrifice (2020) และ Landmine Warfare (2021)

กลุ่มเป้าหมายหลักของโปรเจกต์นี้อยู่ที่ผู้ชมเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งรัฐต้องการปลูกฝังแนวคิดและอุดมการณ์สังคมนิยม รวมถึงความรักและความศรัทธาในพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้แก่พวกเขา โดยใช้วิธีเดียวกับที่เคยปลูกฝังให้กับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่มาแล้ว ซึ่งทางการจีนไม่ได้ต้องการแค่ ‘ฉายหนังเชิดชูพรรค’ แต่ยังต้องการให้หนังกลุ่มนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนและสร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ด้วยเหตุนี้บรรดาโรงหนังจึงต้องโปรโมตหนังกลุ่มนี้อย่างเต็มที่ พร้อมกับการจัดรอบฉายในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ (Prime time) ที่จะสามารถดึงดูดผู้ชมได้เยอะกว่า

การที่ภาครัฐเข้ามาควบคุมจัดการหนังที่ฉายในโรงนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของโลก หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ นโยบายของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่กำหนดโควตาจำนวนรอบกับโรงฉายของหนังสัญชาติเกาหลี เพื่อส่งเสริมวงการหนังภายในประเทศ และเพื่อไม่ให้หนังฮอลลีวูดยึดครองพื้นที่มากเกินไป

แต่นโยบายดังกล่าวของจีนไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมวงการหนังในประเทศมากเท่ากับปลูกฝังอุดมการณ์รัฐให้แก่ผู้ชม ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมานั้นไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง แถมยังได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่ลบกลับมาด้วย

...

The Fellowship of the Ring
The Fellowship of the Ring


‘แรงต้าน’ หนังเชิดชูพรรคจากประชาชนและผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์

การที่โรงหนังต้องแบ่งรอบฉายให้กับหนังโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้ ส่งผลให้หนังเรื่องอื่นได้รอบฉายที่น้อยลง และหนังบางเรื่องก็ต้องถูกเลื่อนฉาย ซึ่งรวมถึงหนังบล็อกบัสเตอร์จากฮอลลีวูดที่มีผู้รอชมเป็นจำนวนมาก

หนึ่งในนั้นคือไตรภาคหนังแฟนตาซีชื่อดัง The Lord of the Rings ฉบับรีมาสเตอร์ 4K เนื่องในโอกาสครบ 20 ปี ซึ่งเคยมีกำหนดฉายในจีนเรียงกันสัปดาห์ละภาค คือ The Fellowship of the Ring (9 เมษายน), The Two Towers (16 เมษายน) และ The Return of the King (23 เมษายน) โดยถือเป็นโปรแกรมใหญ่ที่ผู้ชมหลายคนรอคอย เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่หนังชุดนี้จะเข้าฉายในระบบ IMAX และเป็นการฉายในวงกว้างที่กระจายโรงไปทั่วทุกภูมิภาค (เพราะตอนที่เข้าฉายเมื่อ 20 ปีก่อน โรงหนังในจีนยังมีไม่มากเท่านี้)

แต่เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา อันเป็นช่วงเวลาที่กำหนดการฉายหนังโฆษณาชวนเชื่อของทางการจีนมีผลบังคับใช้ สื่อโปรโมตของหนังภาคแรกอย่าง The Fellowship of the Ring ที่มีอยู่มากมาย กลับอันตรธานไปแบบกะทันหัน อีกทั้งช่องทางการจองตั๋วหนังเรื่องนี้ในแอปพลิเคชันต่างๆ ก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย โดยที่แม้ทางการจีนและผู้จัดจำหน่ายหนังไม่ได้ออกมาชี้แจงถึงสาเหตุอย่างเป็นทางการ แต่ผู้ชมและผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจภาพยนตร์ต่างรู้กันดีว่า สาเหตุมาจากภาครัฐ เพราะในอดีต ทางการก็เคยออกคำสั่ง ‘ลับๆ’ ให้หนังบางเรื่องต้องเลื่อนฉายหรือออกจากโปรแกรมไปกลางคันอยู่บ่อยๆ

ที่น่าตลกก็คือ ในเวลาต่อมา The Fellowship of the Ring กลับได้มีชื่ออยู่ในกำหนดการฉายอีกครั้ง (16 เมษายน) ซึ่งถือเป็นการกลับเข้าฉายแบบกะทันหัน (ไม่แพ้ตอนที่โดนถอดออก) โดยที่ทางเจ้าของหนังและเจ้าของโรงก็เพิ่งทราบล่วงหน้าไม่กี่วัน จนทำให้มีโรงหนังหลายแห่งได้รับหนังไม่ทันและต้องยกเลิกรอบฉายไป

การชักเข้าชักออกตามอำเภอใจดังกล่าวทำให้ผู้ชมหลายคนไม่พอใจ จนเกิดเป็นกระแสต่อต้านในโซเชียลมีเดีย โดยพวกเขาแสดงความไม่พอใจกับการที่รัฐพยายามเลือกให้ผู้ชมต้องดูหนังโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าหนังบล็อกบัสเตอร์ที่ผู้ชมต้องการ ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายๆ จากการที่แม้หนังเชิดชูพรรคเหล่านี้จะได้รอบฉายเยอะ แต่กลับทำรายได้น้อยมาก โดยมีหนังหลายเรื่องที่แทบไม่มีผู้ชมเลย (อนึ่ง กระแสความไม่พอใจยังเกิดขึ้นในกลุ่มผู้จัดจำหน่ายหนังและผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ด้วย จากการต้องแบ่งรอบฉายให้หนังเหล่านั้นส่งผลให้เม็ดเงินในธุรกิจนี้หายไปจำนวนมาก)

แสดงให้เห็นว่าการปลูกฝังแนวคิดแบบเดิมๆ ให้กับคนรุ่นใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป เนื่องจากคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาในยุคที่จีนกำลังเปิดประเทศ มุ่งสู่เศรษฐกิจแบบทุนนิยม รวมเปิดรับวัฒนธรรมและสื่อตะวันตกเป็นจำนวนมาก จนทำให้วิธีการปลูกฝังความคิดอย่างการฉายหนังโฆษณาชวนเชื่อในโรงที่เคยได้ผลในยุคก่อน กลับไม่ได้ผลในยุคนี้

...

Monster Hunter
Monster Hunter


ผลกระทบแง่ลบต่อโรงหนังและตลาดภาพยนตร์จีนที่ ‘ซบเซา’ เป็นทุนเดิม


ปี 2020 ถือเป็นปีที่จีนสร้างสถิติครั้งแรกในการเป็น ‘ตลาดภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก’ แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างสหรัฐอเมริกาที่โรงหนังส่วนใหญ่ยังปิดทำการจากสถานการณ์โรคระบาด ด้วยตัวเลข 3.2 พันล้านเหรียญฯ

แต่รายได้ดังกล่าวก็ยังถือว่า ‘น่าผิดหวัง’ เมื่อพิจารณาว่ามันเป็นตัวเลขที่ลดลงกว่าปีก่อนถึง 3 เท่า ซึ่งสาเหตุก็มาจากโรคระบาดที่ทำให้โรงหนังต้องปิดเป็นเวลานาน และพอกลับมาเปิดใหม่ก็ต้องเว้นระยะห่างระหว่างกันจนจำนวนที่นั่งลดลง ขณะที่ผู้ชมส่วนใหญ่ก็ยังไม่กล้ากลับมาดูหนังในโรงเพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ บวกกับยังไม่มีหนังบล็อกบัสเตอร์มาดึงดูดใจผู้ชม (เพราะส่วนใหญ่เลื่อนฉายไปแล้ว) ส่งผลให้รายได้จากการขายตั๋วลดลง และผู้คนเปลี่ยนไปดูหนังช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้โรงหนังบางแห่งถึงขั้นต้องปิดทำการ ซึ่งถือเป็นวิกฤติของตลาดโรงหนังที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ในช่วงเวลาเช่นนี้ โรงหนังที่กลับมาเปิดทำการในหลายประเทศจึงจำเป็นต้องมีหนังบล็อกบัสเตอร์เข้าฉาย ซึ่งแม้ในระยะหลังๆ หนังจีนจะทำรายได้ในสัดส่วนที่แซงหนังฮอลลีวูด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจโรงหนังในจีนยังขาดหนังฮอลลีวูดไม่ได้ โดยพวกเขาหวังว่าหนังอย่าง Fast & Furious 9 หรือ Black Widow จะช่วยสร้างแรงดึงดูดให้คนอยากกลับมาดูหนังในโรงอีกครั้ง แต่ความหวังนั้นก็ต้องริบหรี่ลง เพราะรัฐจีนยังคงบังคับให้โรงหนังต้องเปิดพื้นที่แก่หนังโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้อยู่

นอกจากนั้น หนทางทำเงินของหนังบล็อกบัสเตอร์ฮอลลีวูดในจีนยังถูกขัดขวางด้วยอุปสรรคอีกหลายอย่าง อาทิ การจำกัดโควตาที่ทางการอนุญาตให้หนังต่างประเทศเข้าฉายในจีนได้แค่ปีละ 34 เรื่อง หรือการเซนเซอร์ที่เข้มงวดจนทำให้มีหนังฮอลลีวูดบางเรื่องถูกแบนหรือสั่งให้หยุดฉายกลางคัน เช่น Nomadland หนังรางวัลออสการ์ที่ถูกแบน เนื่องจากทางการจีนไม่พอใจกับคำให้สัมภาษณ์แง่ลบต่อประเทศของตัวผู้กำกับ หรือ Monster Hunter ที่ถูกสั่งให้หยุดฉาย หลังจากฉายได้วันเดียวเพราะมีมุกตลกเหยียดคนจีน เป็นต้น

สแตนลีย์ โรเซน
ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและสังคมแห่ง University of Southern California ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหานี้ใน CNN Business ว่า “มันถือเป็นกรณีศึกษาของ ‘รัฐพี่เลี้ยง’ ที่มักทำหน้าที่ตัดสินว่าประชาชนมีหรือไม่มีสิทธิ์รับชม หรือสามารถเห็นอะไรได้บ้างในเชิงวัฒนธรรม เพราะขณะที่ทางการจีนต้องการสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นชาติด้วยการพยายามที่จะกีดกันความเป็นตะวันตกออกไป แต่จีนเองก็ยังต้องการหนังฮอลลีวูดเพื่อให้ตลาดภาพยนตร์ในจีนสามารถทำรายได้เป็นอันดับหนึ่งของโลกแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ”

ส่วน คริส เบอร์รี ศาสตราจารย์ด้านภาพยนตร์แห่ง King's College London ก็ได้กล่าวเสริมในบทความชิ้นเดียวกันว่า “หลังจากเข้าสู่ระบบทุนนิยมมา 30 ปี ประชาชนจีนเขามองว่าตัวเองเป็น ‘ผู้บริโภคที่สามารถมีตัวเลือกได้’ แล้วนะ พวกเขาไม่ได้เป็นนักเรียนที่ถูกปลูกฝังการศึกษาผ่านความบันเทิงอีกต่อไป แม้จะยังรู้สึกสนุกกับหนังรักชาติบางเรื่องอยู่ก็เถอะ แต่ผมคิดว่าผู้ชมชาวจีนก็คงไม่ชอบกับการถูกสั่งว่า ‘ต้องทำอะไร’ เหมือนกัน”

ปรากฏการณ์นี้จึงแสดงให้เห็นว่า ภาพยนตร์ไม่ได้เป็นแค่สื่อบันเทิง แต่มันยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันซับซ้อน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง และวัฒนธรรม -- ดังเช่นความสัมพันธ์แบบ ‘ทั้งรักทั้งชัง’ ระหว่างจีนกับอเมริกาที่ถึงอย่างไรเสีย ก็ต้องมีส่วนที่พึ่งพาและแยกขาดจากกันไม่ได้

...

อ้างอิง: CNN Business, Variety, MovieWeb