สทน.ยันการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์-อุตสาหกรรม และการเกษตร พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย

 

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 66 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ สทน. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อทบทวนร่างรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนอย่างรุนแรง สำหรับโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การประชุมจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2566 ณ ศูนย์กีฬาเทศบาลตำบลองครักษ์  จังหวัดนครนายก และในเวทีย่อยในพื้นที่อีก 4 เวที

 

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า แม้การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ดำเนินการมาถึงครั้งที่ 3 แล้ว แต่ก็ยังมีประชาชนบางกลุ่มมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่หลายประการ  ดังนั้น เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องจึงข้อชี้แจงรายละเอียดในการดำเนินโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ ในประเด็นดังนี้ คือ 

...


1. โครงการได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลและให้เริ่มดำเนินการแล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ขอยืนยันว่า โครงการนี้ยังไม่ผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาล กิจกรรมที่ดำเนินการเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อทบทวนร่างรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ซึ่งอยู่ในขั้นแรกของการดำเนินโครงการเท่านั้น คือการรวบรวมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบคอบและถี่ถ้วน เช่น ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และในส่วนของโรงพยาบาลต่างๆ  เพื่อรวบรวมข้อมูลผลกระทบด้านต่างๆ ความต้องการของแต่ละภาคส่วน ความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ ปัญหาในเชิงเทคนิคและวิศวกรรม และเมื่อมีข้อมูลครบทุกมิติ จึงทำเรื่องเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป  


2. ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการดำเนินโครงการว่า เป็นการเตรียมสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่กำลังดำเนินการ คือโครงการเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยเครื่องใหม่ เพื่อทดแทนเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยเครื่องเดิมซึ่งตั้งอยู่ที่บางเขน ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 60 ปีแล้ว โดยจะนำมาใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ ด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม และการศึกษาวิจัยต่างๆ ตัวอย่างเช่น การผลิตเภสัชรังสีสำหรับรักษามะเร็งและเนื้องอก เภสัชรังสีสำคัญที่ผลิตจากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยนี้ คือ ไอโอดีน-131 ซึ่งใช้สำหรับมะเร็งต่อมไทรอยด์  การฉายรังสีอัญมณีสามารถเพิ่มมูลค่าให้อัญมณีมีมูลค่าสูงขึ้น 5-30 เท่า ด้านการเกษตร การนำมาใช้ปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ นอกจากนั้นการนำนิวตรอนที่ผลิตได้จากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยไปใช้ในงานตรวจสอบโดยไม่ทำลายเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การตรวจสอบโบราณวัตถุโดยไม่ทำให้ชิ้นงานเกิดความเสียหาย นอกจากนั้น เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยแห่งนี้ยังถือเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมาก ถึงแม้จะมีความเห็นที่แตกต่างว่า ประเทศไทยสามารถนำเข้าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีโครงการปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย 


แต่สิ่งที่ สทน.ให้ความสำคัญประการหนึ่งคือ ทำให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้จากการมีและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์และเป็นการสร้างความมั่นคงในด้านต่างๆ ระยะยาว อย่างไรก็ตาม ทุกข้อเสนอแนะและความคิดเห็น รวมทั้งข้อกังวลใจของทุกฝ่ายจะถูกรวบรวมในรายงาน เพื่อนำส่งให้หน่วยงานผู้พิจารณาในลำดับต่อไป.