เคาะแล้วนะจ๊ะ! การสร้าง ‘หอชมเมืองกรุงเทพ มหานคร’ แลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่ว่ากันว่าสูงที่สุดในประเทศไทยกันแล้ว จริงๆ โครงการนี้เขาเริ่มต้นเสนอและวางพื้นที่การก่อสร้างมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่มีข่าวอัพเดตใหม่ล่าสุดว่า กำลังจะเริ่มก่อสร้างเร็วๆ นี้

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักหอสูงเสียดฟ้าแห่งนี้ ไทยรัฐออนไลน์ อาสาพาไปทำความรู้จัก 10 ข้อเกี่ยวกับแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมืองไทยกันซะหน่อย จะน่าสนใจยังไงบ้าง? ตามมาดู...


1. ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2559 ทาง ครม. มีมติเห็นชอบให้โครงการการก่อสร้างหอชมเมือง เป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาล ในวงเงิน 7,621 ล้านบาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นต้นแบบในการน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ดำเนินโครงการ

2. ต่อมาช่วงต้นปี 2560 มีการดำเนินการเกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ ในการสร้างหอชมเมือง เช่น การสรรหาพื้นที่ของรัฐในการสร้าง ยื่นแบบขออนุญาตต่างๆ โดยพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณ เจริญนครซอย7 ถนนเจริญนคร เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

...

เพจ Drama Addict ระบุข้อมูลอีกว่า "มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพฯ จะเป็นโต้โผงานนี้ โดยจะกู้ 2.5 พันล้าน แล้วร่วมกับเงินของเอกชนที่จะไประดมทุนกัน 2.1 พันล้าน มารวมกันเป็นงบก่อสร้าง 4.6 พันล้าน แล้วเช่าที่ของรัฐไปร่วมดำเนินการ 30 ปี เลยต้องให้รัฐเป็นคนอนุมัติก่อน แต่งบไม่ได้เกี่ยวอะไรกับงบประมาณของรัฐแต่ประการใด"

3. โครงการนี้ ได้ผ่านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อีไอเอ แล้ว และเดิมจะดำเนินการก่อสร้าง โดยมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน โดยประเมินงบลงทุนครั้งแรกไว้ที่ 4,000 ล้านบาท

4. ล่าสุด มีรายงานว่าพื้นที่ดังกล่าวในย่านเจริญนคร กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง มีภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อนสร้างคอมมูนิตี้มอลล์ขนาดใหญ่ อาคารคอนโดมิเนียม และห้างสรรพสินค้าต่างๆ และยังแว่วมาว่ากำลังจะสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่ในย่านดังกล่าวด้วย

5. สำหรับงบประมาณในการก่อสร้าง มีความน่าสนใจคือ โครงการนี้ไม่ให้มีการเปิดประมูล เพราะอาจจะทำให้ล่าช้า แต่ให้ดำเนินโครงการไปตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้ปรัชญาแห่ง "ศาสตร์พระราชา" และความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ และให้นำรายได้ที่เหลือจากการดำเนินโครงการฯ หลังหักค่าใช้จ่ายไปดำเนินการเชิงสังคม โดยไม่ให้นำมาแบ่งปันกัน

6. หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร จะกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นหอคอยที่สุดที่สุดในเมืองไทย เพราะมีความสูงถึง 459 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยรวม 22,281 ตร.ม. เมื่อเทียบกับหอคอยแห่งอื่นๆ ในไทย ได้แก่

- หอสูงพัทยาปาร์คทาวเวอร์ที่สูง 240 เมตร
- หอชมเมืองสมุทรปราการสูง 179.5 เมตร
- หอคอยเทอร์มินอล 21 โคราช สูง 110 เมตร

7. เมื่อเทียบกับตึกสูงแห่งอื่นๆ ทั่วโลก พบว่า หอชมเมืองกรุงเทพฯ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะมีความสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก (แบบการก่อสร้างยังไม่เป็นทางการ) โดยเปรียบเทียบกับตึกสูงต่างๆ ดังนี้

- Tokyo Skytree จุดสูงสุด 634 เมตร มีจุดชมวิวสูงสุด 450 เมตร
- Bangkok Observation Tower จุดสูงสุด 459 เมตร มีจุดชมวิวสูงสุด 357.50 เมตร
- Canton Tower (Guangzhou) จุดสูงสุด 595.70 เมตร มีจุดชมวิวสูงสุด 449 เมตร
- Kuala Lumpur Tower จุดสูงสุด 421 เมตร มีจุดชมวิวสูงสุด 276 เมตร

...

8. หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่มีความโดดเด่นของเอกลักษณ์ไทย และเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งยุค ด้วยการบริหารจัดการที่ล้ำสมัย ตามนโยบายของรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0

9. บนจุดชมวิวของหอชมเมืองกรุงเทพฯ จะสามารถชมเห็นวิวทิวทัศน์รอบโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา มองเห็นวิวฝั่งตึกแคตเทเลคอม ไปรษณีย์บางรัก และตึกสูงอื่นๆ อีกมากมาย ได้เห็นความสวยงามทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในแบบ 360 องศา จากมุมสูงได้ทั่วกรุงเทพฯ


10. เนื่องจากหอคอยสูงแห่งใหม่นี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจ มีชุมสายการเดินทางทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และการสัญจรทางเรือ อีกทั้งรอบๆ พื้นที่ก็มีการเติบโตด้านที่พักอาศัย โรงแรม ร้านอาหาร ไลฟ์สไตล์มอลล์ เรียงรายอยู่ทั้ง 2 ฟากฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ในอนาคตคาดว่า หอชมเมืองฯ จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยได้เป็นอย่างดี

ที่มาภาพ : Dekwat1975, ThailandSkyline