‘เทือก’ปูดมีพรรค ตั้งใหม่หนุนบิ๊กตู่

ปชป.-พท.ประสานเสียงค้าน ก.ม.ลูกพรรคการเมือง “มาร์ค” ยังมึนไพรมารีโหวต ชี้ตัดโอกาสคนรุ่นใหม่ ส่อขัดเจตนารมณ์ รธน. เหน็บคนร่างตั้งใจดีแต่ไม่มีประสบการณ์ตรง ลูกพรรคฟันธงขัดแย้งภายในแน่ อาจเซ็ตระบบพรรคไม่ทันเลือกตั้ง ซัดยิ่งเขียนยิ่งเละบ่มเพาะเครือข่ายญาติโกโหติกา สร้างอิทธิพลในพื้นที่ ข้องใจแม่น้ำ 5 สายตีสองหน้าฮั้วเล่นเกมยื้อเลือกตั้ง “จาตุรนต์” สับไพรมารีทำพรรคการเมืองยุ่งเหยิง อ่อนแอ สาขาพรรคตั้งแก๊งงัดข้อ กก.บห. สุดท้ายได้ผู้สมัครที่ประชาชนไม่ต้องการ ซัดออกแบบพิกลพิการ เจตนาให้พรรคการเมืองเตรียมตัวไม่ทันเพื่อเลื่อนเลือกตั้งไปอีก รองปลัด สปน.เผยประชาชนตอบคำถามให้นายกฯอยู่ต่อ ถ้าไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล “นิพิฏฐ์” ย้อนแสบรัฐบาลต้องทบทวนตัวเอง 3 ปีทำอะไรคนถึงไม่เชื่อมั่น “สุเทพ” ยังหวัง ปชป.คิดตาม กปปส. แย้มมีพรรคใหม่ตั้งหนุน “บิ๊กตู่”

ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องจำเป็นต่อการเลือกตั้ง ทยอยผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตว่า มีปมเงื่อนขัดแย้งแทบทุกฉบับ และมีแนวโน้มต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อ พิจารณาอีกครั้ง ล่าสุดกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองส่อเค้าต้องตั้งกรรมาธิการร่วมเช่นเดียวกัน โดยฝ่ายการเมืองวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าอาจมีเจตนายื้อการเลือกตั้ง

ปชป.ชี้ ก.ม.พรรคการเมืองส่อขัด รธน.

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศ ไทย ในพระบรมราชูปถัมป์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยกำหนดให้ใช้ระบบไพรมารีโหวตในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองว่า เบื้องต้นพยายามทำความเข้าใจว่าในทางปฏิบัติจะทำกันอย่างไร เพราะมีการเพิ่มถ้อยคำเข้าไปในภายหลัง ทั้งสาขาพรรค ผู้แทนพรรคประจำจังหวัด รวมถึงผู้แทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่รับผิดชอบเขตเลือกตั้ง แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคแน่นอนคือ เรื่องระบบบัญชีรายชื่อ เพราะเมื่อเราไปทาบทามคนนอกวงการเมือง เขาก็ต้องการที่จะทราบว่าได้อยู่ลำดับที่เท่าไหร่ หากอยู่ลำดับร้อยกว่า คงไม่มา แต่เมื่อกำหนดให้สมาชิกพรรคเป็นผู้จัดลำดับ อาจจะไม่รู้จักบางคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการเมือง ฉะนั้น จะเป็นอุปสรรคในการได้คนใหม่ ต้องไปดูว่าถึงขั้นขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเฉพาะในแง่พรรคการเมืองควรจะมีสิทธิส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง และคงเป็นประเด็นที่ กกต.ไปตรวจสอบด้วย ตนเข้าใจว่าเป็นความตั้งใจที่ดี แต่ไม่ค่อยอยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์ในการปฏิบัติ และจะได้ผลอย่างที่ผู้ร่างตั้งใจหรือไม่นั้น ก็ยังไม่แน่ใจ นอกจากนี้ ยังรู้สึกเห็นใจพรรคขนาดเล็กที่ต้องเร่งตั้งสาขาพรรค และผู้แทนพรรคประจำจังหวัด

...

ระบบไพรมารีโหวตปัญหาเกิดแน่

น.ต.สุธรรม ระหงษ์ อดีต ส.ส.สมุทรสาคร และ ผอ.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาเกินกว่าข้อเสนอของ กรธ.หลายประเด็นว่า เชื่อว่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะงานขั้นตอนด้านธุรการของทุกพรรคการเมือง รวมทั้ง กกต.ด้วย โดยเฉพาะการทำไพรมารีโหวตที่ต้องใช้เวลา หากกรรมการสรรหาผู้สมัครในนามพรรคและคณะกรรมการ บริหารพรรคไม่เห็นด้วยกับรายชื่อว่าที่ผู้สมัครในระบบเขต ต้องส่งชื่อกลับไปให้สมาชิกพรรคในสาขาเขตเลือกตั้งนั้นๆ หรือสาขาพรรคประจำจังหวัดทำการสรรหาชื่อคนใหม่มาแทน หากสมาชิกพรรค หรือ สาขาพรรคยังยืนยันเอาคนเดิม ก็จะเกิดปัญหา และอาจไม่ทันเวลาเลือกตั้ง

บ่มเพาะเครือข่ายการเมืองเครือญาติ

น.ต.สุธรรมกล่าวว่า การทำไพรมารีโหวตของสาขาพรรคในเขตเลือกตั้งนั้นๆ สร้างความแตกแยกในพรรคให้ร้าวลึก อีกทั้งยังมีปัญหาในพื้นที่ซึ่งไม่มีสาขาของพรรค กฎหมายนี้กำหนดว่า ถ้าจังหวัดไหนไม่มีสาขาพรรค หรือสาขาในเขตเลือกตั้ง ก็ให้พรรค การเมืองนั้นตั้งเป็นสาขาพรรคประจำจังหวัดนั้น โดยให้สมาชิกพรรคในจังหวัดนั้นๆตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไปร่วมกันโหวตเพื่อทำการคัดเลือกว่าที่ผู้สมัครในนามพรรคของทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นๆแทนได้ ถือเป็นช่องว่างที่อันตรายง่ายต่อการครอบงำ ชี้นำหรือแทรกแซง อาจมีการฮั้วหรือให้ผลประโยชน์ต่างตอบแทน สร้างเครือข่ายการเมืองระบบเครือญาติ เฉพาะกลุ่มในวงศ์วานว่านเครือ โดยที่คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคและกรรมการบริหารพรรคไม่มีสิทธิคัดค้านอะไรได้เลย การออกกฎหมายนี้เละเทะที่สุด ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง ทุกพรรคจะแตกแยกขัดแย้งภายในมากขึ้น อาจไม่มีสาขาพรรคเพิ่ม มีแค่ 4 สาขาในแต่ละภาค มีสมาชิกแค่ 50,000 คนเท่าที่กฎหมายกำหนด ก็เท่ากับการทำลายไม่ให้พรรคการเมืองเป็นสถาบัน สวนทางเจตนารมณ์ขจัดกลุ่มทุนสามานย์ครอบงำ มันยิ่งกว่าการถอยหลังลงคลอง แต่มันออกทะเลไปเลย

แฉเกมเหยียบตีนรู้กันยื้อเลือกตั้ง

นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีมีแนวโน้มสูงที่จะตั้งคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า การมีความเห็น แย้งในกฎหมายเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่แปลกคือ กรธ.ร่างต้นขั้ว แล้วคณะกรรมาธิการ สนช.มาแก้ไขเพิ่มเติม จนกลายเป็นความเห็นไม่ตรงกันจนถึงขั้นจะตั้ง กมธ.ร่วมเสียเวลาหลายขั้นหลายตอน ทั้งที่จริงประสานกันเองได้ในแม่นํ้า 5 สาย คนจึงอดมองไม่ได้ว่า ต่างรู้กันเพื่อยื้อเวลาให้ทอดออกไปหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าจะตั้งกรรมาธิการร่วมกันกี่ฉบับกี่ครั้งก็ตาม แต่กรอบเวลาการทำต้องไม่เกิน 8 เดือน ถ้าไม่เสร็จต้องมีคนรับผิดชอบ ถึงเวลานั้นจะห้ามคนมาด่าไม่ได้ว่ากำลังใช้เครือข่ายแม่นํ้า 5 สายเพื่อยื้อ เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจหรือไม่ หากโรดเเม็ปเขยื้อนจากกรณีนี้ ความน่าเชื่อถือในคำพูดรัฐบาลจะลดลง และย้อนกลับเข้าตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.เอง จะถูกครหาว่าสืบทอดอำนาจผ่านเครือข่ายแม่นํ้า 5 สาย

พท.ซัดไพรมารีโหวตทำพรรคอ่อนแอ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงระบบไพรมารีโหวตว่า สิ่งที่ สนช.เห็นชอบจะทำลายระบบพรรคการเมืองให้เกิดความอ่อนแอ ไม่สามารถทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ พรรคใหญ่และพรรคเล็กอาจเอาตัวไม่รอด ส่วนพรรคใหม่จะเกิดยากมาก การทำงานไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ได้ การให้พรรคการเมืองต้องมีสาขาและตัวแทนพรรคในทุกเขต และให้สมาชิกในแต่ละเขตมีอำนาจอย่างมากในการกำหนดตัวผู้สมัครได้ จะเกิดปัญหาขัดแย้งแก่งแย่งหาสมาชิกที่สนับสนุนนักการเมืองเป็นตัวบุคคลมากกว่าสนับสนุนพรรค เกิดความขัดแย้งระหว่างสาขาพรรค สมาชิกพรรค ในเขตเลือกตั้งกับคณะกรรมการบริหารพรรค สุดท้ายอาจได้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกเพียง 100 คน ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้น คนที่ประชาชนสนับสนุนอาจไม่ได้ลงเลือกตั้ง

ส่อเจตนาตุกติกหวังเลื่อนเลือกตั้ง

นายจาตุรนต์กล่าวว่า การให้ตัวแทนสาขาพรรคและสมาชิกในเขตเลือกตั้งต่างๆ เลือกผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ โดยให้แต่ละคนเลือกผู้สมัครได้ 15 คน จะทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มก๊วนตามจังหวัดหรือภูมิภาค นักการเมืองที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศอาจได้เปรียบอยู่บ้าง แต่เป็นส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่จะได้ผู้สมัครที่เหมาะจะเป็นตัวแทนของคนกลุ่มเล็กๆอย่างกระจัดกระจายมากกว่าเป็นตัวแทนของทั้งประเทศ และการเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้พรรค การเมืองก็ไม่ต้องการมีสมาชิกมากๆ เพราะถ้าสมาชิกไปทำผิดกฎหมายก็จะถูกยุบพรรค แนวโน้มพรรคการเมืองส่วนใหญ่จึงจะมีสมาชิกน้อย หลายพรรคอาจหาสมาชิกให้ได้ทั่วทุกเขตไม่ได้ด้วยซ้ำ จะสร้างความพิกลพิการกันไปหมด หากกติกาออกมาเช่นนี้ พรรคการเมืองจะทำตามกติกาไม่ทันเวลา อาจทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีกนาน ซึ่งอาจเป็นวัตถุประสงค์มาตั้งแต่ต้นก็ได้

กปปส.ออกตัวหนุนเดินหน้าเต็มสูบ

นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา พรรค ประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. กล่าวถึงความเห็นต่างระหว่าง สนช. กับ กรธ. ประเด็นระบบไพรมารีโหวตในกฎหมายพรรคการเมืองว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้มีการใช้ระบบไพรมารีโหวต ทั้งในระบบเขตเลือกตั้งและระบบบัญชีรายชื่อ เพราะตรงกับความต้องการของมวลมหาประชาชนที่ต้องการให้มีการปฏิรูปการเมืองและระบบการเลือกตั้ง โดยกระจายอำนาจให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของพรรค มีสิทธิในการร่วมคัดเลือกผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในนามพรรคการเมืองนั้นๆ ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์มีการใช้ไพรมารีโหวตแบบทางอ้อม คือ การให้คณะกรรมการสาขาพรรคประจำแต่ละเขตเลือกตั้งทำการเสนอชื่อว่าที่ผู้สมัครลงเลือกตั้งมาให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครในนามพรรค เมื่อผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตรงตามกฎหมายแล้วก็เสนอต่อให้คณะกรรมการบริหารพรรคเห็นชอบหรือไม่ต่อไป แต่ครั้งนี้จะเป็นการใช้ระบบไพรมารีโหวตลงลึกที่ให้สิทธิกับสมาชิกพรรคในทุกเขตเลือกตั้งครั้งแรก

“วัส” ย้ำไม่ควรเซ็ตซีโร่ กสม.

นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม.ที่จะเซ็ตซีโร่ กสม.ทั้งชุด เหตุผลของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ที่บอกว่า ต้องรีเซ็ต กสม.เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เพื่อให้ กสม.มาจากความหลากหลายนั้น ไม่สอดคล้องกับหลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (หลักการปารีส) เพราะหลักการปารีสไม่ได้กำหนดกระบวนการสรรหาว่าต้องมีกระบวนการเช่นนั้น และกฎเกณฑ์ตามร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม.ของ กรธ. ไม่มีปรากฏในหลักการปารีส กรธ.คิดร่างฯนี้มาได้อย่างไร เป็นการกำหนดที่เกินเลยจากหลักการปารีสค่อนข้างมาก ไม่ยืดหยุ่น และสรรหามาได้ยาก รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ กรธ. สร้างมาได้กำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหาไว้ระดับเทพแล้ว ยังกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะได้รับการสรรหามาเป็น กสม.ให้เกินเลยไปจากมาตรฐานสากล จะกลายเป็นปัญหายุ่งยากในการสรรหาทั่วไปและสรรหาซ่อมในอนาคต ทางออกของเรื่องนี้ที่จะทำได้มากที่สุดคือเขียนในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.องค์กรอิสระให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่งเฉพาะรายที่เป็นบุคคลผู้ขาดคุณสมบัติ ไม่ใช่ให้พ้นไปทั้งชุด

ประชาชนตอบคำถามให้ “บิ๊กตู่” อยู่ต่อ

นายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงยอดการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อ 4 คำถามนายกรัฐมนตรี ผ่านช่องทางสายด่วน 1111 ตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย.-14 มิ.ย.ว่า มีทั้งสิ้น 280 คน แบ่งเป็นชาย 155 คน หญิง 125 คน และจุดบริการประชาชน 1111 ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย.-14 มิ.ย.จำนวน 47 ราย สรุปได้ดังนี้ ข้อ 1 ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ คำตอบคือ ได้ จำนวน 3 คน และไม่ได้ 30 คน ข้อ 2 หากไม่ได้จะทำอย่างไร โดย (1) ขอให้นายกฯและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ดำรงตำแหน่งต่อไป เพื่อจะได้บริหารงานและปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จ (2) ขอให้ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมาภิบาลให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง และข้อ 3 การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้นถูกต้องหรือไม่ โดยตอบว่าถูกต้อง จำนวน 9 คน ไม่ถูกต้อง 25 คน

นักการเมืองไม่ดีก็ไม่ต้องเลือกตั้ง

นายสมพาศกล่าวว่า ข้อ 4 ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร ประชาชนผู้ตอบคำถามเห็นว่าไม่ควร จำนวน 20 คน และเห็นว่าควรจำนวน 0 คน พร้อมข้อเสนอแนะคือไม่เปิดโอกาสหรือตัดสิทธินักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมลงรับสมัครการเลือกตั้งหรือเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองตลอดไป ไม่ควรให้มีการเลือกตั้งจนกว่านายกฯจะปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้านให้แล้วเสร็จ และขอให้นายกฯดำรงตำแหน่ง เพื่อบริหารประเทศต่อไป ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อ 4 คำถามนายกฯเพิ่มเติมที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น.

“นิพิฏฐ์” ย้อนถาม รบ. 3 ปีคนไม่เชื่อมั่น

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ออกมาฝาก 50 ประเด็นให้ทุกฝ่ายร่วมกันคิดว่า นายกฯจะทำกี่ข้อก็แล้วแต่ท่าน แต่นายกฯจะต้องทำเรื่องการสร้างความปรองดองและความสามัคคีของคนในชาติให้กลับมา หัวใจสำคัญอยู่ตรงนี้ ไม่เช่นนั้นทุกอย่างก็จบ ส่วน 50 ประเด็นคิดว่าเยอะเกินไป บางเรื่องใช่ว่าคนบางกลุ่มจะมีความเห็นได้ อาจจะได้คำตอบที่ผิดได้ ส่วนการสรุปตัวเลขการตอบแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นคำถาม 4 ข้อของนายกฯ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ตอบว่าแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแล้วก็จะไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลนั้น โจทย์นี้ย้อนกลับไปที่ตัวรัฐบาล เพราะบริหารประเทศมา 3 ปี ทำไมคนจึงยังมองว่าเลือกตั้งแล้วยังไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ในเมื่อรัฐบาลก็ทำเรื่องปฏิรูป มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น รัฐบาลต้องตอบคำถามเรื่องนี้ว่าที่ทำมาผิดหมด หรือไม่ได้ผลอะไรเลย

พท.ฉะตีปี๊บไร้สาระทำคนสับสน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีที่นายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกฯ ระบุมีประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อคำถาม 4 ข้อ ของนายกรัฐมนตรี ณ จุดบริการประชาชน จำนวน 47 คน โดย 30 คน คิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลว่า ขอให้นายกฯและ คสช.ดำรงตำแหน่งต่อไป เพื่อจะได้ปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จ ซึ่งถูกสื่อนำไปขยายจนเกิดความสับสนว่า ไม่เข้าใจว่ารองปลัดฯ กำลังทำอะไร คิดอะไรอยู่ ถามคนอีก 60 กว่าล้านคนหรือยัง การนำความเห็นของคน 30 คนมาอธิบายราวกับว่าเป็นเสียงของคนทั้งประเทศ สร้างความสับสนและประชาชนไม่ได้ประโยชน์ จะตีปี๊บปฏิบัติการไอโอ ก็ควรจะอยู่ในความพอเหมาะพอควร การรับฟังเสียงของประชาชนที่ดีที่สุด ต้องฟังผ่านการเลือกตั้ง หากรัฐบาลและ คสช.ต้องการสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจการลงทุนและประชาชน ก็ควรจะเร่งประกาศวันเลือกตั้ง นับถอยหลังสู่การ กลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากล ไม่ใช่ปล่อยให้เครือข่ายออกมาสร้างไอโอเอาอกเอาใจ โดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ซึ่งเป็นผลเสียหายมากกว่า

ประเทศจะก้าวหน้าต้องเลิกปฏิวัติ

นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ออกมาตั้งประเด็นให้ประชาชนคิดตาม 50 ข้อว่า ขอเสนอข้อคิดเห็นในภาพรวม โดยไม่แยกตอบเป็นข้อๆ ในการปฏิรูปประเทศปัจจุบันอย่างไรให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียม สามารถแข่งขันกับนานาอารยประเทศเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง คือ 1.ต้องทำให้การรัฐประหารเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป กองทัพต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่ในการบังคับบัญชาการของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีหน้าที่พิทักษ์รักษาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รักษาเอกราชอธิปไตยของประเทศชาติเท่านั้น 2.กระบวนการทางยุติธรรมต้องเคารพและเคร่งครัดในหลักนิติรัฐ นิติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีสองมาตรฐาน ผู้สั่งการในการสังหารประชาชนในเหตุการณ์ปี 53 ต้องได้รับการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และต้องห้ามใช้กำลังทหารในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประชาชนภายในประเทศไม่ว่ากรณีใด

ข้องใจบางพรรคเคลื่อนไหวใน กทม.

ส่วนกรณีที่กลุ่มสโมสร ส.ส. ถูก คสช.บล็อกการนัดกินข้าวนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มสโมสร ส.ส. บางคนยังรู้สึกคับข้องใจที่การนัดกินข้าวของกลุ่มสโมสร ส.ส.ไม่สามารถจัดขึ้นได้ ในขณะที่กลุ่มการเมืองอื่น พรรคการเมืองบางพรรคกลับเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ โดยพบว่าผู้อำนวยการเขตในพื้นที่ กทม.หลายแห่งได้พาอดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส.ของบางพรรคการเมือง ลงพื้นที่พบปะประชาชน ทั้งในเวลาราชการ และวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ จนข้าราชการและประชาชนรู้สึกประหลาดใจ พร้อมตั้งคำถามในใจ ทั้งๆที่ตอนนี้ คสช.มีคำสั่งเข้ม ยังไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ

“เทือก” หวัง ปชป.เปลี่ยนแนวคิดตาม

ที่มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) สุขุมวิท 5 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิ มปท. กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าเหตุใดขณะนี้ถึงมีคนมองว่าตนจะเป็นตัวแปรทางการเมือง บอกว่าตนจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ขออย่าคิดไกลกันไป เวลานี้ไม่มีบารมีอะไร เป็นแค่ลุงกำนันแก่ๆคนหนึ่ง สำหรับการเลือกตั้งยังไม่เห็นอะไรทำให้สะดุดหรือต้องเลื่อน แต่แน่นอนว่าหากยังมีระเบิดตามที่ต่างๆ ประชาชนจะเป็นคนที่ลุกขึ้นเรียกร้องว่าอย่ามีการเลือกตั้ง ซึ่งตนจะเป็นหนึ่งในนั้น ทั้งนี้ ยังเชื่อมั่นว่าหลังการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยจะไม่จับมือกัน หากพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมกับพรรคเพื่อไทยก็เท่ากับไปร่วมกับระบอบทักษิณ กปปส.ก็ต้องสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อถามว่า มีการส่งแกนนํา กปปส.ไปยึดพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพตอบว่า จะไปยึดทำไม พรรคประชาธิปัตย์และตนไม่กลับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว แต่ถ้าพี่น้อง 7-8 คน ที่กลับไปพรรคพร้อมเผยแพร่แนวคิดใหม่ๆในพรรค ทำให้คนในพรรคมีแนวความคิดใหม่ตามไปด้วยก็ไม่ใช่การยึดพรรค แต่เป็นการปรับแนวความคิด

แย้มมีพรรคการเมืองใหม่หนุน “บิ๊กตู่”

เมื่อถามว่า จะต้องเปลี่ยนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก่อนการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ นายสุเทพตอบว่า บอกไม่ได้ว่าต้องเปลี่ยนหรือไม่ ตนไม่มีหน้าที่ แต่ถ้าถามในฐานะประชาชน เราประกาศท่าทีชัดเจนว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง เพราะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อช่วงเปลี่ยนผ่าน งานปฏิรูปประเทศต้องทำต่อเนื่องอย่างน้อย 4-5 ปีถึงจะสมบูรณ์ ถ้าเป็นนักการเมืองเก่า ประชาชนกังวลใจว่า คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศได้ ถ้าพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เขาประกาศว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์จะทำประชาชนหนักใจ ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนั้นก็อาจจะมีพรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยการรวมตัวของประชาชน ส่วนจะเป็นใครบ้างก็ยังไม่รู้

อัด สนช.เลิกข้อบังคับเปิดช่องโดดร่ม

นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงกรณี สนช.มีมติแก้ข้อบังคับการประชุม โดยตัดเนื้อหาในหมวดการสิ้นสุดสมาชิกภาพ สนช. จากข้อบังคับเดิมให้สมาชิกต้องมาแสดงตนเพื่อลงมติในการประชุมมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนครั้งที่มีการลงมติทั้งหมดในรอบ 90 วัน ออกไปว่า หน้าที่สำคัญของการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติคือการรักษาผลประโยชน์ให้ประชาชนในการออกกฎหมาย โดยแสดงความคิดเห็น ข้อดี ข้อเสียของกฎหมายนั้นๆ การยกเว้นข้อบังคับเช่นนี้ใครไม่อยากเข้าร่วมประชุมเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วจะยังทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติต่อไปเพื่ออะไร หากใครรู้ตัวว่าไม่พร้อมทำหน้าที่ตรงนี้ ลาออกไปแล้วให้คนที่มีความพร้อมมาทำหน้าที่จะดีกว่า เงินภาษีของประชาชนจะได้ไม่เสียเปล่า เพราะเงินเดือนของคนทำหน้าที่ตรงนี้ไม่ใช่น้อยๆ เมื่อรับเงินเดือนแล้วก็ควรทำงานให้คุ้มค่า

“ไอลอว์” ชี้สะท้อนตัวตนให้สังคมเห็น

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวถึงผลสอบ 7 สมาชิก สนช. ที่ขาดการลงมติเกิน 1 ใน 3 ตามข้อบังคับการประชุม สนช.ตามที่ไอลอว์ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ไม่ติดใจ ถ้าผลสอบของคณะกรรมการจริยธรรม สนช.บอกว่า การยื่นใบลาของ สนช.ทั้ง 7 คน ถูกต้อง ไม่ผิดจริยธรรมและไม่ขาดสมาชิกสภาพ แต่สิ่งที่ติดใจก็คือ สนช.ไม่ยอมเปิดเผยรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมให้สังคมได้ รับทราบ ส่วนการแก้ไขข้อบังคับการประชุม สนช.ใหม่ โดยตัดเรื่องการบังคับใช้ สนช.ต้องแสดงตนเพื่อลงมติ 1 ใน 3 ในรอบระยะเวลา 90 วันออกนั้น มองว่าสิ่งที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ระบุว่า เป็นการแก้ไขตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็ไม่ผิด แต่สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวสะท้อนให้สังคมได้เห็นและตั้งคำถามว่าสิ่งที่ สนช.ทำมีความชอบธรรมแค่ไหน

โพลสะท้อนปมขัดแย้งคนในชาติ

วันเดียวกัน ซูเปอร์โพล ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน เปิดเผยผลสำรวจเรื่องเปิดปมแห่งความขัดแย้งรุนแรงของคนในชาติสำรวจระหว่างวันที่ 14-16 มิ.ย. จากกลุ่มตัวอย่าง 1,480 คน พบว่าส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 95.7 ระบุ นักการเมืองมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องกลุ่มนายทุน รองลงมาร้อยละ 81.6 ระบุ ชาวบ้านต้องพึ่งบารมีนักการเมืองและผู้มีอิทธิพลแทนกระบวนการยุติธรรมทำให้เกิดหนี้บุญคุณกัน และร้อยละ 75.3 ระบุไม่มีนักการเมืองมืออาชีพที่ทำเพื่อประโยชน์ประเทศชาติแท้จริง ขาดสถาบันการเมืองผลิตนักการเมืองที่ดีและเก่ง ทั้งนี้ สาเหตุของความขัดแย้งรุนแรงเกิดจากความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม กลุ่มตัวอย่างมองว่าปัญหาคือ เลือกปฏิบัติ คุกมีไว้ขังคนจน คนไทยยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานที่แท้จริงถ้วนหน้า เจ้าหน้าที่รัฐยังแก้ปัญหาโดยใช้อำนาจมากกว่าความรัก ความเมตตา ขณะเดียวกันคนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย มีการใส่ร้ายป้ายสี มุ่งทำลายความน่าเชื่อถือของกลุ่มอำนาจต่างๆ

“เรืองไกร” ชงข้อมูลเพิ่มเอาผิด “วิษณุ”

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบการกระทำที่อาจขัดกันแห่งผลประโยชน์ของรัฐมนตรี 9 รายไปแล้วนั้น เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมาได้ยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบ สนช.เพิ่มอีก 90 ราย สำหรับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่ กกต.ไม่ตั้งกรรมการสอบนั้น พบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 479/2560 ซึ่งเป็นคณะพิเศษ มีการระบุข้อเท็จจริงไว้ว่านายวิษณุเป็นประธานกรรมการ กฤษฎีกา 1 คณะจาก 14 คณะ และยังได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ 68/2560 ลงวันที่ 4 เม.ย.2560 ให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องตามความเห็นที่ 479/2560 จึงมีข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อได้ว่าหลังรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับ นายวิษณุยังคงเป็นประธานกรรมการและกรรมการในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ด้วย อาจเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 186 ดังนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวส่งไปให้ กกต.ตรวจสอบเพิ่มเติมวันที่ 19 มิ.ย.นี้

“บิ๊กยักษ์” ทำบุญ 100 วัน “เจ๊ยุ”

วันเดียวกัน ที่วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ พล.อ.สิริชัย ธัญญสิริ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีทำบุญบำเพ็ญกุศลครบ 100 วัน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ “เจ๊ยุ” นางยุวดี ธัญญสิริ อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโส ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา โดยมีคนในครอบครัวธัญญสิริ รวมทั้งญาติ คนสนิท และบรรดาสื่อมวลชน ร่วมงานในพิธีเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ พล.อ.สิริชัย และบุตรชาย ได้นำอัฐิของนางยุวดีส่วนหนึ่งเข้าบรรจุในช่องบรรจุที่ระเบียงคด ซึ่งอยู่ในบริเวณสุสานของตระกูลธัญญสิริ

แจงย้ายเพื่อสอบกรณีเงินทอนวัด

ส่วนกรณีการทุจริตเงินงบประมาณอุดหนุนวัดจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จนมีการสั่งย้ายข้าราชการระดับสูง 4 รายใน พศ.นั้น วันเดียวกัน พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงการตรวจสอบข้าราชการ พศ. ที่เข้าไปพัวพันการทุจริตเงินอุดหนุนวัด โดยล่าสุดได้มีการโยกย้าย ผอ.กองพุทธศาสนศึกษา เพื่อเปิดทางในการเข้าไปตรวจสอบงบประมาณอุดหนุนในส่วนของการศึกษาพระปริยัติธรรมด้วยว่า การโยกย้ายครั้งนี้ เพื่อที่จะเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่ได้รับเบาะแสมาจากทั้งพระภิกษุ และเจ้าหน้าที่ ถึงความไม่โปร่งใส ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ผอ.กองพุทธศาสนศึกษาจะมีความผิด การโยกย้ายดังกล่าวเพื่อต้องการเข้าไปตรวจสอบเท่านั้น ส่วนกรณีการพักงานผู้บริหาร พศ. ที่มีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินอุดหนุนวัดนั้น จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน วินัยขึ้นมาก่อน ขณะนี้ยังเป็นเพียงการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเท่านั้น ส่วนที่ทางผู้บริหาร พศ.คนดังกล่าว ยังมีหน้าที่ดูแลในส่วนบริหารงบประมาณและคนอยู่นั้น ตนจะดำเนินการจำกัดอำนาจในส่วนนั้นๆ และไม่ให้คุมอะไรที่เกี่ยวกับการอนุมัติ จนกว่าคดีจะสิ้นสุด