“มีชัย” งัดข้อ สนช. ชี้ระบบไพรมารีโหวต ปัญหาอื้อ ขอถก กกต.ก่อน เบรกเอี๊ยดยังไม่ถึงเวลาการเมืองขยับ กรธ.ประสานเสียง สร้างภาระพรรคตั้งใหม่จ่อชงความเห็นแย้งตั้ง กมธ.ร่วม “สมเจตน์” โต้อย่ามัวแต่คิดหยุมหยิม “ชัยเกษม” จับไต๋วางหมากไว้ทุกเม็ด “นิพิฏฐ์” หวั่นทายาทอสูรคืนชีพ ยิ่งทำสังคมร้าวลึกลงไปถึงราก แต่ “วิรัตน์” มองอีกแง่ช่วยขจัดเด็กฝาก “ตือ” อัด สนช.เดินตามธง คสช.เป๊ะ สนช.ถกลับฟอก 7 สนช.จอมลา ไฟเขียวข้อบังคับใหม่ให้โดดร่มได้ฟรีสไตล์ “สุรชัย” บ่นอุบสื่อตีข่าวเสียหาย “นิพิฏฐ์” เย้ยมีหน้าที่แค่รับซิกอำนาจพิเศษ “เหวง” ยุโละทิ้งไปเลย ผบ.ทบ.ชูร่างสัญญาประชาคมเสร็จแล้ว ส่งถึงมือ“บิ๊กป้อม” 19 มิ.ย. “ปู” ตอกนิ่มๆ 4 คำถามนายกฯชี้นำ เมินเสียงแซะขอบคุณแฟนเพจ 6 ล้านไลค์
บทบาทสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ช่วงหลังถูกจับตามองหนัก ทั้งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ส่อว่าต้องตั้งกรรมาธิการร่วมแทบทุกฉบับ ล่าสุดมีมติท่วมท้นเห็นชอบร่างข้อบังคับการประชุมฉบับใหม่ โดยตัดเงื่อนไขข้อกำหนดการลาประชุมออกไป ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์หวังอุ้มพวกนักโดดร่ม
“มีชัย” ชี้ไพรมารีโหวตปัญหาอื้อ
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 16 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่มีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาไปจากร่างเดิมของ กรธ.หลายประเด็น โดยเฉพาะการใช้ระบบไพรมารีโหวตคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง ว่า กรธ.กำลังดูเนื้อหาของร่างฯที่เพิ่งผ่าน สนช. ว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่อย่างไร เรื่องไพรมารีโหวตตามที่ สนช.แก้ไข ถือว่าเข้มกว่าสิ่งที่ กรธ.กำหนดไว้ และเป็นสิ่งที่เร็วเกินไปสำหรับพรรคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองทำไม่ได้จะทำอย่างไร มีข้อกังวลว่าสมมติถ้าพรรคการเมืองส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.มาแล้ว ถ้ามีคนโต้แย้งบอกว่ารายชื่อที่ส่งมาใช้กระบวนการไม่ครบถ้วน ตรงนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะทำอย่างไร จะไม่รับสมัครเขาหรือ หรือหากมีเลือกตั้งแล้วมีคนมาแย้ง ผลจะเป็นอย่างไร ข้อบังคับเหล่านี้มีผลกระทบต่อพรรคการเมืองมากในทางปฏิบัติ ที่สำคัญต้องดูว่าพรรคต้องใช้เวลาเท่าไรเพื่อทำให้ได้ตามข้อบังคับนี้
...
ขอถก กกต.ก่อนตั้ง กมธ.ร่วม
นายมีชัยกล่าวอีกว่า ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะตั้งกรรมาธิการร่วมหรือไม่ แต่หากตั้งก็คงแย้งในประเด็นขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ที่ระบบไพรมารีโหวตส่งปัญหากระทบต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ราบรื่น พรรคการเมืองอาจมีเวลาเตรียมตัวไม่ทัน ต้องหารือกับผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ กกต.อีกครั้ง วันที่ 19 มิ.ย. เพื่อหาทางออกปัญหานี้ เมื่อถามว่ากฎหมายพรรคการเมืองจบแล้ว ควรให้ทำกิจกรรมได้หรือยัง นายมีชัยตอบว่า ยังปลดล็อกไม่ได้ ต้อง ดูกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. ที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ก่อน เชื่อว่าเมื่อกฎหมายพรรคการเมืองออกมาบังคับใช้แล้ว คงต้องปรับกลไกเพื่อให้ทำกิจกรรมตามที่กฎหมายกำหนดได้ แต่จะปรับกลไกมากน้อยแค่ไหนต้องไปถามนายกรัฐมนตรี
เป็นภาระกับพรรคที่จะตั้งใหม่
นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. กล่าวว่า ประเด็นเรื่องไพรมารีโหวตตามร่างที่ สนช.ปรับแก้ กรธ. เคยหารือกันแล้วว่าจะเป็นภาระแก่พรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ และพรรคการเมืองขนาดเล็กมากเกินไป ส่วนจะมีการแสดงความเห็นแย้ง เพื่อตั้ง กมธ.ร่วม 11 คน พิจารณาอีก 15 วัน หรือไม่ ต้องรอผลการประชุม กรธ.ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้
จ่อชงความเห็นแย้งตั้ง กมธ.ร่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรธ.มีแนวโน้มแสดงความเห็นแย้งต่อเนื้อหาร่างกฎหมายที่ สนช.ปรับแก้ เพื่อให้ตั้ง กมธ.ร่วม 11 คนพิจารณาอีก 15 วัน ตามที่นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรธ. ในฐานะ กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง แสดงความเห็นแย้งในที่ประชุม สนช. ว่าระบบไพรมารีโหวตยังไม่มีความชัดเจนว่า หากพรรคการเมืองไม่ดำเนินการตามกติกาที่ สนช.ปรับแก้ กกต.ในฐานะผู้กำกับดูแลการเลือกตั้งจะทำอย่างไร อีกทั้งกรอบเวลาที่ให้ไว้ อาจทำให้พรรคการเมืองดำเนินการไม่ทัน จนไม่อาจส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้
“สมเจตน์” โต้ กรธ.อย่าหยุมหยิม
ขณะที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณี กรธ.เป็นกังวลเรื่องระบบไพรมารีโหวตอาจทำให้กระทบต่อการเลือกตั้งจนเกิดความล่าช้าว่า จะล่าช้าได้อย่างไร จากนี้ไป ยังมีเวลาอีกตั้ง 1 ปี โดยบทเฉพาะกาลยังยืดหยุ่นรายละเอียดการส่งตัวผู้สมัครในการเลือกตั้งครั้งแรก ต้องถาม กรธ.กลับว่าวิธีคิดให้ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้แทนของตนเอง ขจัดปัญหาพรรคการเมืองที่เป็นของนายทุน เป็นแนวคิดที่ดีหรือไม่ ถ้าตอบว่าเป็นแนวคิดระบบที่ดี ช่วยแก้ปัญหาเผด็จการในพรรค การเมืองตั้งแต่เริ่มต้นเลือกผู้สมัครได้ ก็อย่าเอาปัญหาเล็กมาเป็นตัวตั้ง คอยขัดขวางการแก้ปัญหาเก่าๆที่เป็นเรื่องใหญ่ แน่นอนว่าในการทำงานทุกอย่างย่อมมีปัญหา ก็แก้กันไป
ไม่เป็นปัญหากับพรรคการเมือง
พล.อ.สมเจตน์กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าระบบไพรมารีโหวตไม่ทำให้การเลือกตั้งล่าช้า เชื่อว่าพรรคการเมืองมีวิธีการ เขารู้ดี เขามีวิธีการ แต่ถ้าจะล่าช้าก็ล่าช้าจากการจัดตั้งตัวแทน ถ้าไม่มีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดก็เป็นปัญหาในการส่งผู้สมัคร ตรงนี้ต่างหากที่เป็นความยาก ถ้าคุณจัดตั้งตัวแทนที่มีสมาชิกเพียงร้อยคนไม่ได้ จะไปหาเสียงคะแนนเลือกตั้งเป็นหมื่นได้อย่างไร
“ชัยเกษม” จับไต๋วางหมากทุกเม็ด
ด้านนายชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าตามร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง วางกติกาเยอะแยะไปหมด ร่างโดยไม่คำนึงถึงผู้ปฏิบัติ นึกอยากทำอะไรก็ทำ คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าเขาคงไม่เปลี่ยนใจ ช่วงนี้ไม่มีใครค้านเขาได้ พูดไปก็ไม่มีความหมาย เมื่อเขาเป็นคนวางกติกาก็ให้เขาวางไป ปัญหาในวันข้างหน้าออกมาอย่างไรก็รับผิดชอบไปแล้วกัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) น่าจะฟังบ้าง เพราะคนเห็นต่างค่อนข้างมาก “แต่ถ้ายังยืนยันตามหลักการที่ตาแป๊ะให้มาก็แล้วแต่” ทั้งหมดถือว่าสะท้อนมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญแล้ว จนมาเซ็ตซีโร่ กกต. และมาถึงกฎหมายพรรคการเมือง เป็นการวางหมากเอาไว้สำหรับพรรคใหม่ที่จะเกิดขึ้น เชื่อว่าผู้มีอำนาจหวังต่อยอดออกไป สำหรับพรรคเพื่อไทยกติกาออกมาอย่างไรก็สู้ตามกติกา เพราะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ขนาดจะพูดกันยังไม่ถนัด จะประชุมกันยังไม่ได้เลย อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด
“นิพิฏฐ์” หวั่นทายาทอสูรคืนชีพ
ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในฐานะผู้เล่นหรือผู้ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย การพูดอะไรไปอาจถูกสังคมถามกลับว่าพูดเพื่อประโยชน์ตัวเอง หรือผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ขอเตือนเรื่องเดียว หลังกฎหมายพรรค การเมืองใหม่มีผลบังคับใช้ การกำหนดให้ใช้ระบบไพรมารีโหวตคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ยิ่งทำให้การเมืองระบบครอบครัว ระบบวงศ์ตระกูล หรือการเมืองระบบสืบทอดทายาททางการเมือง กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง และจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 สังคมไทยเคยตระหนักปัญหานี้ คัดค้านไม่ต้องการการเมืองระบบนี้มาแล้ว แต่หนีไม่พ้น เพราะกฎหมายออกแบบมาเช่นนี้ จะยิ่งทำลายพรรค สร้างความแตกแยกให้พรรคการเมืองชนิดร้าวลงลึกถึงระดับสาขา ชุมชน
ยิ่งทำให้สังคมแตกแยกร้าวลึก
นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ตัวอย่างคือกระบวนการคัดเลือกตัวแทนเขต หรือจังหวัด ที่สุดคนหน้าใหม่ประเภทนักการเมืองน้ำดี ที่มีความรู้มีคุณภาพจะไม่ถูกเลือก เพราะสาขาพรรค หรือสาขาจังหวัดล้วนตั้งอยู่ในบ้าน ส.ส. หรือผู้มีอิทธิพลในจังหวัดนั้น ต้องเลือกคนของเขาทั้งนั้น ต้องเอาเครือข่าย หรือคนในวงศ์วานว่านเครือเขา การแข่งขันในเขตเลือกตั้งในพรรคเดียวกันยิ่งรุนแรงขึ้น ยกเว้นเกิดกรณีล็อบบี้กัน แต่หากมาจากคนละกลุ่ม ฝ่ายที่พรรคไม่เลือกอาจหันไปจับมือสนับสนุนกับพรรคอื่นแทน ที่ผ่านมาผู้บริหารพรรคเคยมีประสบการณ์มองเห็นปัญหานี้ จึงไม่ใช้ระบบนี้ ระบบไพรมารีโหวตที่ สนช.ไปลอกเลียนแบบต่างประเทศมาใช้กับสังคมไทย ทั้งที่มีบริบทต่างกัน จึงควรดูให้รอบคอบกว่านี้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเมืองระดับชาติที่จ้องล้างแค้น แข่งขันมากกว่า ที่พูดเพราะเป็นห่วงพรรคใหม่ที่จะเกิดขึ้น แต่พรรคประชาธิปัตย์มีประสบการณ์ยาวนาน เราหาทางแก้ไขได้ ห่วงว่าพรรคใหม่ที่เพิ่งตั้งจะอยู่ได้ยากมาก
“วิรัตน์” มองอีกแง่ขจัดเด็กฝาก
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ระบบไพรมารีโหวตคงไม่ทำให้การเลือกตั้งล่าช้า พรรคประชาธิปัตย์ใช้ระบบนี้มานานเป็น 10 ปี ให้สมาชิกในเขตเลือกตั้งประชุมเพื่อคัดเลือกผู้สมัคร แล้วสาขาเป็นผู้เสนอมายังพรรค ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ทำให้การเลือกตั้งล่าช้า แต่ในระบบนี้มีข้อกังวลคือทำให้ลูกท่านหลานเธอ หรือเด็กฝาก อาจไม่สะดวกลงสมัครรับเลือกตั้งตรงนั้น เพราะหากสาขาพรรคไม่เห็นด้วยก็จะทำให้เดือดร้อน ยืนยันว่าพรรคไม่มีปัญหา ที่เราอยู่ได้เพราะเราเคารพเสียงสมาชิก เสียงสาขาพรรค เราถึงเป็นที่ยอมรับ
“ตือ” อัด สนช.เดินตามธง คสช.เป๊ะ
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การกำหนดทุนประเดิมตั้งพรรค 1 ล้านบาท ค่าสมาชิกรายปีหัวละ 100 บาท ตลอดชีพ 2,000 บาท และระบบไพรมารีโหวต จะสร้างปัญหาระยะเปลี่ยนผ่าน คสช.ควรเห็นอกเห็นใจพรรคการเมืองด้วย เพราะต้องตระเตรียมให้เป็นไปตามที่ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนด หากปล่อยเนิ่นช้าเวลาจะกินตัวเองไปเรื่อย เพราะพรรคที่พร้อมอาจไม่มีปัญหา แต่บางพรรคอาจมีปัญหา ไม่อยากให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ถือว่าสะท้อนตั้งแต่ช่วงร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เห็นถึงความตั้งใจของ กรธ. ซึ่งไม่ควรลดบทบาทพรรคการเมือง และไปเพิ่มภาระเกินกว่าที่ฝ่ายการเมืองจะทำได้ในภาวะที่ไม่ปกติ จากเสียง สนช. 180 คน ลงมติเห็นชอบถือว่าเด็ดขาดพอสมควร แสดงให้เห็นว่าตรงกับความต้องการของ คสช. และรัฐบาล ที่ต้องการให้เป็นไปตามนั้น
สนช.ถกลับฟอก 7 สนช.จอมลา
วันเดียวกันเวลา 10.30 น. ที่รัฐสภามีการประชุม สนช. มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาผลการตรวจสอบของคณะกรรมการจริยธรรมสนช. ชุดที่นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.เป็นประธาน ตรวจสอบข้อร้องเรียน 7 สนช. ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุม สนช. เกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม สนช. โดยเป็นการประชุมลับร่วม 1 ชั่วโมง ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ขอไม่อยู่ร่วมประชุมเพราะเป็นผู้อนุมัติใบลาประชุม 7 สนช. พร้อมกับ 7 สนช.ที่ถูกตั้งกรรมการสอบ เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งนี้ คณะกรรมการฯรายงานผลการสอบสวนการลาประชุมของแต่ละคนที่แจ้งลาประชุมเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของหน่วยงานต้นสังกัด สุดท้ายมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่ผิดจริยธรรม และเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบตามมติคณะกรรมการจริยธรรม สนช.
ยกร่างใหม่ให้โดดร่มได้ฟรีสไตล์
ต่อมาที่ประชุม สนช.พิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม สนช.ฉบับใหม่ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยมีทั้งหมด 225 ข้อ มาใช้แทนข้อบังคับเดิม ส่วนใหญ่ไม่มีการแก้ไขเนื้อหาสาระจากร่างเดิม แต่มีประเด็นน่าสนใจคือ มีการตัดเนื้อหาสำคัญในหมวดการสิ้นสุดสมาชิกภาพ สนช. จากข้อบังคับเดิมที่ให้สมาชิกต้องมาแสดงตนเพื่อลงมติในการประชุมมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนครั้งที่มีการลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลา 90 วันออกไป และตัดเรื่องกระบวนการถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกไป เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 60 ได้ตัดอำนาจหน้าที่การถอดถอนออกไป จากนั้นที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการประชุมสนช. ด้วยคะแนน 198 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 5 และประกาศใช้เป็นข้อบังคับต่อไป
“สุรชัย” บ่นอุบสื่อตีข่าวเสียหาย
ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. กล่าวว่า กรณีมีการนำเสนอข่าวดังกล่าว ทำให้สังคมสับสน และ สนช.เสียหาย ขอชี้แจงว่า ข้อบังคับการประชุมฉบับใหม่เขียนตามรัฐธรรมนูญปี 60 บัญญัติว่า หากสมาชิกขาดประชุมเกินจำนวน 1 ใน 4 ในสมัยประชุมนั้นๆ จะทำให้สิ้นสมาชิกสภาพ แต่ไม่ได้บังคับเกณฑ์การลงมติดังกล่าวของสมาชิกเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ระบุว่า การสิ้นสุดสมาชิกภาพของ สนช. เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ ข้อบังคับการประชุมก็ไม่สามารถเขียนไว้ได้
“นิพิฏฐ์” เย้ยแค่รับซิกอำนาจพิเศษ
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า สภาผู้แทนราษฎรปกติวางระบบให้สมาชิกฯเข้าประชุม เพื่อต้องการความหลากหลายจากความรู้ ประสบการณ์ของแต่ละคน ให้สะท้อนความคิดเห็นตามความต้องการประชาชนที่เราเป็นตัวแทนให้มากที่สุด แต่ สนช.ที่มีอยู่ขณะนี้ เป็นสภาที่ไม่ต้องการความหลากหลาย พูดได้ว่าไม่มีอิสระในการตัดสินใจ หรือภาษาชาวบ้านง่ายๆคือ มีสภานี้เพื่อรองรับอำนาจบางอย่างไม่ใช่สภาที่มาจากประชาชน จึงไม่แปลกใจ เอามาเปรียบเทียบกับสภาผู้แทนฯในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ จึงไม่สนใจว่า สนช.จะแก้ไขอย่างไร เพราะพูดมาตั้งแต่ต้นว่าเขาไม่จำเป็นต้องมีสภาอะไรก็ได้ แต่เมื่อเขาเลือกที่จะตั้ง สนช. ที่มีข้าราชการประจำจำนวนมากมาทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับงานประจำ ก็ต้องยอมรับสภาพการขาดประชุมแบบนี้
สนช.ก้นรั่วต้องใช้ ม.44 ปิดรูโหว่
นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อว่า ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ สนช.ภูมิใจว่าเป็นสภาที่ออกกฎหมายมาบังคับใช้ได้มากที่สุด แต่กลับมีการใช้อำนาจมาตรา 44 ออกมาแก้ไขข้อบกพร่องของกฎหมายที่ออกจาก สนช. จำนวนมากพอๆกัน สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายที่ออกมาบังคับใช้กับคนทั้งประเทศ ไม่มีความรอบคอบถ้วนถี่ ที่สำคัญคือไม่สะท้อนต่อความต้องการที่แท้จริงของประชาชน นอกจากจะไม่หลากหลายเพราะคนพูดก็หน้าเดิมๆ ไม่มีคนใหม่ ที่ชัดเจนคือร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี ช่วง 2-3 ปีมานี้ ใช้เวลาแค่วันเดียวจบ ขณะที่สภาผู้แทนฯปกติใช้เวลาถกกันอย่างน้อย 5-6 วัน กว่าจะผ่าน เพราะเห็นว่าสำคัญเป็นเงินภาษีของประชาชน
“เหวง” ยุให้ดีโละทิ้งไปเลย สนช.
ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การลงมติของ สนช. ถือเป็นหน้าที่สำคัญของงานนิติบัญญัติ ไม่ต่างอะไรกับการเข้าประชุมเพื่อทำหน้าที่ตัดสินพิพากษาคดีความของฝ่ายตุลาการ ถ้าแพทย์ไม่ทำหน้าที่รักษาคนไข้ ความเป็นแพทย์ย่อมจบลง การที่ สนช.ตัดการลงโทษผู้ไม่เข้าประชุมสภาออกไป ทั้งที่เป็นหัวใจของฝ่ายนิติบัญญัติ การดำรงอยู่ของ สนช.จะมีความหมายอะไร เท่ากับประจานว่า คำประกาศอันหนักแน่นของ คสช.ในการยึดอำนาจรัฐประหาร เพื่อเอาคนดีมาบริหารบ้านเมือง ไม่เป็นความจริง เมื่อ สนช.ไม่ต้องเข้าประชุมเพื่อลงมติ การดำรงอยู่ของ สนช.ก็ไม่จำเป็นอีก ควรยกเลิก สนช. แล้วปกครองกันด้วยคำสั่ง คสช.คงพอ จะได้ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน
ผบ.ทบ.ได้ร่างสัญญาประชาคม
ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อการสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นประธานการประชุมจัดทำร่างสัญญาประชาคมครั้งสุดท้าย พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า ได้ร่างสัญญาประชาคมฉบับสมบูรณ์ เป็นผลจากการทำงานร่วมกันของคณะอนุกรรมการทุกฝ่าย เป็นการทำงานภายใต้ความคาดหวังของสังคม ร่างสัญญาประชาคมเกิดขึ้นจากการกลั่นกรองข้อมูลที่มาจากความคิดเห็นของประชาชน ของพรรค และกลุ่มการเมือง ดำเนินการภายใต้เจตนารมณ์ที่ดี ต้องการสร้างความสามัคคีปรองดองอย่างแท้จริง หวังว่าสัญญาประชาคมฉบับนี้ จะได้รับการตอบรับด้วยดีจากคนไทยทุกคน วันที่ 19 มิ.ย.เวลา 10.00 น. จะนำร่างสัญญาประชาคมเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง กระบวนการหลังจากนั้นจะจัดเวทีสาธารณะ ทั้ง 4 พื้นที่กองทัพภาค
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช. แถลงว่า การจัดเวทีสาธารณะจะดำเนินการโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กำหนดจัดขึ้นใน 4 ภูมิภาค ใน 4 จังหวัด ได้แก่ กทม. นครราชสีมา พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช
“ปู” ตอกนิ่มๆ 4 คำถามมีส่วนชี้นำ
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีรัฐบาลเชิญชวนประชาชนตอบ 4 คำถามของนายกฯ ว่า ไม่อยากชี้นำ แต่อยากให้ความเห็นกว้างๆ ว่า 4 คำถามนี้เหมือนจะชี้นำบ้าง อยากให้ประชาชนให้ข้อมูลเต็มที่จะได้หาทางออกร่วมกัน และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผู้ร่างบอกว่ามีเจตนารมณ์เป็นฉบับปราบโกง เชื่อว่าถ้ากลไกของรัฐธรรมนูญทำงานได้สมบูรณ์ เราจะมีรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล เมื่อถามย้ำว่าจะไปแสดงความคิดเห็นหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า ให้เป็นเรื่องประชาชนดีกว่าเกรงเป็นการชี้นำ และคงไม่ตอบในแฟนเพจยิ่งลักษณ์ เพราะเห็นว่าเค้าไม่อยากให้พูดเรื่องการเมือง
เมินเสียงแซะขอบคุณแฟนเพจ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังกล่าวถึงกรณีมีแฟนเพจเข้ามากดไลค์ถึง 6 ล้านคนนั้น ต้องขอบคุณแฟนเพจ รวมถึงพี่น้องประชาชนที่เข้ามาติดตาม เราเปิดเพจมาประมาณ 7 ปี เป็นความรักความผูกพันที่มีต่อแฟนเพจและประชาชน ทุกคนเข้ามาพูดคุยกันด้วยความรักความผูกพัน เมื่อถามว่า มีการจับกุมขบวนการรับจ้างกดไลค์แล้วนำมาเชื่อมโยงกับแฟนเพจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า “อย่ามองแฟนเพจยิ่งลักษณ์เลย เดี๋ยวใครได้ยินก็จะเสียใจแย่”
มท.กระตุ้น ปชช.ตอบ 4 คำถาม
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดกิจกรรมเชิญชวนประชาชนร่วมตอบคำถาม 4 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม โดยประสานให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมมารับคำตอบ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาตอบคำถาม นอกจากนี้ยังมีการจัดทำภาพอินโฟกราฟฟิค 2 ภาพ เพื่อเผยแพร่ โดยภาพแรกเป็นภาพ พล.อ.ประยุทธ์ และอีกภาพเป็นตัวการ์ตูน โดยทั้งสองภาพระบุข้อความว่า “ความต้องการของคุณคืออะไร? แสดงความเป็นเจ้าของประเทศ ร่วมตอบคำถามจากนายกฯ ช่วยกำหนดทิศทางบ้านเมือง”
ปชต.ใหม่บุก มท.ตอบคำถาม
ที่กระทรวงมหาดไทย นายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เข้าแสดงความคิดเห็นต่อคำถาม 4 ข้อของนายกฯ ที่ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย นายรังสิมันต์กล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องการกำหนดให้ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน อาจมีปัญหาตามมากับคนที่ตอบคำถามไม่ถูกใจรัฐบาลหรือไม่ และอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้คนไม่กล้ามาตอบคำถามที่นี่ ทั้งนี้ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ว่า การมีธรรมาภิบาลอยู่ที่กลไกทางการเมืองที่ดี การตั้งคำถามลักษณะนี้เป็นการสะท้อนว่ารัฐบาลไม่เชื่อมั่นในรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาหรือไม่ ส่วนคำถามที่ว่านักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมควรมีโอกาสเข้าสู่การเลือกตั้งหรือไม่นั้น คิดว่าประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง ตัดสินได้ว่าจะเลือกใคร แปลกใจว่าการให้ตอบแบบลักษณะให้ติ๊กเลือก 1 หรือ 2 เป็นคำถามที่มีธงอยู่แล้ว ควรให้ประชาชนได้ตอบคำถามตามที่ต้องการ
ยื่นผู้ตรวจฯสอบร่างยุทธศาสตร์
อีกเรื่อง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบและเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครอง ว่าการเสนอและการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ และร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ เข้าลักษณะเป็นกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (2) หรือไม่ นายเรืองไกรกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ทราบว่า สนช.เตรียมพิจารณาวาระสองและสาม ในวันที่ 22 มิ.ย. แต่ตนตรวจสอบพบว่าการระบุเหตุผลการตราร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับอาจไม่ถูกต้อง อยากให้คณะรัฐมนตรี และ สนช. นำกลับไปพิจารณาใหม่เพราะไปต่อไม่ได้
ยกคำร้อง “ปู” โอดพยานโดนไล่บี้
วันเดียวกัน เวลา 09.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลนัดไต่สวนพยานจำเลย คดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นจำเลย ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวที่มีการทุจริตจนรัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไปศาล โดยมีประชาชนที่มารอให้กำลังใจ และยังได้ร่วมร้องเพลงอวยพรวันเกิด ที่จะอายุครบ 50 ปี ในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ ด้วย สำหรับการไต่สวน มีพยานปากเดียวคือนายยุคล ลิ้มแหลมทอง อดีต รมว.เกษตรฯ ทั้งนี้ ก่อนการไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นร้องต่อศาล กรณีที่พยานฝ่ายจำเลยมักถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริต เมื่อเสร็จสิ้นการให้การแล้ว เช่น นายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และกรรมการ ป.ป.ช.ที่อยู่ในอนุกรรมการไต่สวน คือ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นพยานโจทก์ของฝ่ายอัยการ ดังนั้น จึงขอความเป็นธรรมกับศาลว่าหากเกิดกรณีเช่นนี้ จะทำให้ไม่มีใครกล้ามาเป็นพยาน เพราะกังวลว่าจะถูกรื้อคดี เพื่อมาเร่งรัดเอาผิด ซึ่งศาลพิจารณาแล้วได้ยกคำร้อง
“พิชัย” เฮทหารปล่อยตัวแล้ว
เมื่อเวลา 15.00 น. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อเวลา 11.48 น. มีทหารมารับที่บ้านนำตัวไป กองทัพภาคที่ 1 เพื่อพูดคุยกับ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 และทีมเศรษฐกิจ คสช. ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบรรยากาศราบรื่นและให้เกียรติ ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจดังนี้ 1.เร่งแก้เสาหลักเศรษฐกิจที่เสื่อม สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน 2.เร่งสร้างบรรยากาศให้เป็นปกติ ไม่กดดัน เปิดเสรีการแสดงความเห็น 3.ให้เสรีภาพแก่สื่อ 4.ทบทวน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และซิงเกิลเกตเวย์ ที่จะเป็นอุปสรรคในการพัฒนา 5.เร่งช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เช่น เกษตรกร และกรรมกร 6.เร่งกลับสู่รัฐบาลจากประชาชนเพื่อให้ต่างประเทศยอมรับ ทั้งนี้ คสช.ขอให้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างสร้างสรรค์ มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานทางเศรษฐกิจ จากนั้นทหารจึงปล่อยตัวกลับบ้าน
“บิ๊กตู่” ตั้งโจทย์ย่อยอีก 50 ประเด็น
ต่อมาเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ว่า การตั้ง 4 คำถามเพื่อต้องการให้สติ เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมหาทางแก้ปัญหาประเทศ หลายอย่างกำลังเดินหน้าตามโรดแม็ป ที่ผ่านมาสังคมแตกแยกทางความคิด วันนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ควรหันหน้าเข้าหากัน ทำอย่างไรให้ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีธรรมาภิบาล บริหารประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ นำพาประเทศไปสู่การปฏิรูปอย่างแท้จริง แต่หลายคนหลงประเด็นอยู่ว่าเป็นการทำโพล สำรวจคะแนนนิยม หรือปูทางไปสู่การสืบทอดอำนาจ น่าเสียดายเสียใจที่ถูกนำไปเป็นประเด็นสร้างความขัดแย้งทางการเมืองอีก นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการรวมพลังประชารัฐสร้างชาติ กำหนดเป็นวาระชาติเป็นปีแห่งการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ฝากให้คิดตาม ไม่ใช่คำถาม ไม่ต้องการคำตอบใน 50 ประเด็น จะได้ เข้าใจว่ารัฐบาลและ คสช. มองปัญหาประเทศ ตั้งเป็นโจทย์ทำงานขับเคลื่อนประเทศ ปฏิรูปประเทศอย่างไร
วอนเกษตรกรอย่ามาประท้วง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มเกษตรกรมีหลายกลุ่มที่มีปัญหา ไปหากิจกรรมที่ร่วมมือกันดีกว่าที่จะมาต่อต้าน มากดดัน มาประท้วง ไม่เกิดประโยชน์ ขอร้องเกษตรกรชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนยาง อย่ามาประท้วงเลย ไม่ได้ประโยชน์อะไรทั้งสิ้น การเมือง ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และการลดความเหลื่อมล้ำ เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันในหลายมิติ เราต้องคิดต้องทำต้องแก้ปัญหาแบบองค์รวม สำหรับการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร ตำแหน่งมันมีไม่มาก มีทั้งคนที่ได้ ไม่ได้ คนได้มีน้อยคน ไม่ได้มีมากกว่า ต้องไปดูว่าคนที่เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจริงมีสักเท่าไร ช่วยเขา แต่ก็ไม่กล้าบอกข้อมูลอีก กลัวจะผิดด้วยเพราะเป็นผู้ให้
โต้แหลกดึงรถไฟเร็วสูงไปบ้านเกิด
นายกฯกล่าวต่อว่า จะสร้างถนน สร้างรถไฟ รถไฟความเร็วสูงติดหมด ประชาชนบุกรุกอยู่ ต้องไปดูแลว่าจะทำอย่างไร ขอร้องว่าอย่าไปขวางเลยเรื่องการก่อสร้างรถไฟ มันเป็นผลประโยชน์ประเทศ “เห็นข่าวช่องหนึ่งบอกว่า ต้องการสร้างรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-โคราช เพราะเป็นคนโคราช คิดแบบนี้ได้อย่างไร จะเกิดที่ไหนก็เรื่องของตน แต่ที่ทำเพื่อ ประชาชนทั้งประเทศไม่ได้ทำเพื่อพื้นที่เกิดอย่างเดียว คิดแบบนี้ไม่ได้ เส้นทางนี้ต้องไปโคราชแล้วไปหนองคาย ไปต่อกับลาวไปจีนไปยุโรปตะวันออก ต้องทำด้านล่างไปเชื่อมต่อมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไปโน่น ตะวันตก ตะวันออก พม่า ลาว กัมพูชา ต้องคิดแบบนี้ อย่ามองทุกอย่างเป็นประเด็นการเมืองหมด”