เชื่อว่า หลายคนคงเคยประสบปัญหาเหล่านี้ เวลาไปขอสินเชื่อที่ธนาคาร สถาบันการเงิน เราจะพบกับรหัสลับเหล่านี้ MLR MOR MRR ยิ่งฟัง ยิ่งง ยิ่งคิดยิ่งปวดหัว 'ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์' ขอสรุปความแบบง่ายๆ โดยก่อนอื่นเราต้องทำความรู้จัก ดอกเบี้ย กันก่อน
ดอกเบี้ย คือ เงินที่ผู้ให้กู้ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร บริษัททางการเงิน หรือบุคคลทั่วไป ขอเรียกเก็บเพื่อเป็นผลตอบแทนจากการปล่อยกู้ โดยดอกเบี้ยมักจะคิดเป็นร้อยละ และมีอยู่ 2 ประเภท คือ
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ หรือ Fixed Rate คือ หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นตัวเลขเฉพาะ ไม่ขึ้น หรือลงตามต้นทุนของสถาบันการเงิน คงที่ตลอดอายุสัญญาเงินกู้ หรือในช่วงเวลาที่กำหนด ยกตัวอย่างเช่น สินเชื่อรถยนต์ ที่กำหนดดอกเบี้ยไว้ที่ 3.25% ตลอดระยะเวลาการผ่อน 4 ปี หรือสินเชื่อบ้านที่กำหนดดอกเบี้ยคงที่ 3.25% ระยะ 3 ปีแรก เป็นต้น
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว หรือ Floating Rate คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนของสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินจะประกาศออกมาเป็นคราวๆ ไป เช่น อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เช่น MLR MOR และ MRR
สำหรับ MLR (Minimum Loan Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี เช่น มีประวัติการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเพียงพอ โดยส่วนใหญ่ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ
ส่วน MOR (Minimum Overdraft Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี
ขณะที่ MRR (Minimum Retail Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย ตัว MRR นี่ที่เราจะพบได้บ่อย เช่น MRR -0.25% ในสินเชื่อบ้าน
ทั้งนี้ หลายคนก็คงถามต่อแล้ว มีจะมีวิธีคิดดอกเบี้ยอย่างไร เราจะยกตัวอย่างให้ดูง่ายๆ สมมติว่า ยอดสินเชื่อบ้านของเราอยู่ที่ 1,500,000 บาท ธนาคารกำหนดดอกเบี้ยไว้ ดังนี้ ปีที่ 1-3 อยู่ที่ 5.42% และ ปีที่ 4 ขึ้นไปอยู่ที่ MRR -0.25% (ภายใต้สมมติฐาน MRR 7% และเงินกู้ที่ยอด 1,500,000 บาท)
วิธีการคำนวณ นำ 1,500,000 x 5.42% ก็จะได้ดอกเบี้ยที่เราจะต้องจ่ายในปีที่ 1-3 จะอยู่ที่ 81,300 บาทต่อปี
ส่วนปีที่ 4 คิดดังนี้ นำ MRR 7% มาลบด้วย 0.25% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะอยู่ที่ 6.75% จากนั้นเอา 1,500,000 x 6.75% ก็จะพบว่าดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายในปีที่ 4 คือ 101,250 บาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม หากอ่านมาถึงตรงนี้ สิ่งที่เราต้องรีบสำรวจ คือ เงินกู้ที่เรากำลังผ่อนส่งอยู่นั้น ดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่เท่าไร โดยเราสามารถค้นหาอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารแต่ละแห่งกำหนดไว้ได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารนั้นๆ
การเป็นหนี้ ไม่น่ากลัว แต่สิ่งที่เราควรมีคือ การบริหารจัดการหนี้ที่เป็นระบบ และการวางแผนการเงินที่ดี โดยสัดส่วนการผ่อนชำระหนี้ที่ดีนั้น ไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือนนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย