กสทช. เผยรายได้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลปี 2559 รวม 13,762 ล้านบาท ช่อง 7 นำโด่งกวาดรายได้เป็นอันดับ 1 ตามด้วยเวิร์คพอยท์, ช่อง 3, ช่อง 8 และช่องโมโน ตามลำดับ ลุ้นปีนี้คนดูทีวีดิจิทัลคิดเป็น 80% จาก 26 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในปี 2559 กสทช.มีรายได้รวม 10,247 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ในอัตรา 2% ของรายได้ และค่าธรรมเนียมเลขหมายเลขหมายละ 2 บาท และรายได้ส่วนใหญ่มาจากผู้ประกอบการโทรคมนาคม และค่าธรรมเนียมเลขหมายที่ กสทช.ได้จัดสรรให้กับค่ายมือถือไปแล้ว 180 ล้านเลขหมาย ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะมีรายได้รวม 10,161 ล้านบาท และปี 2561 คาดว่าจะมีรายได้ 9,633 ล้านบาท และรายได้ที่ลดลงสืบเนื่องมาจากได้มีการปรับลดค่าธรรมเนียมรายปี และอนุญาตให้คืนเลขหมายที่ไม่ใช้งานได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กสทช.ได้ตรวจสอบรายได้ของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล 22 ช่อง เพื่อนำไปสู่การจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี ประจำปี 2559 โดยมีรายได้รวม 13,762 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีรายได้รวม 11,343 ล้านบาท ขณะที่ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี 193 ล้านบาท ลดลงจากปี 2558 จัดเก็บได้ 226 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ จากเดิม 2% ของรายได้ และเป็นการจ่ายตามอัตราขั้นบันไดของรายได้ตั้งแต่ 0.5 -2% ของรายได้
ทั้งนี้ เริ่มจากช่องที่มีรายได้สูงสุด ไปจนถึงน้อยสุด ตามลำดับ 22 ช่อง และการจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีด้วย ได้แก่ 1.บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุจำกัด หรือช่อง 7 เอชดี มีรายได้ 2,576 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 45 ล้านบาท 2.บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด หรือ ช่องเวิร์คพอยท์ รายได้ 2,121 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 36 ล้านบาท 3.บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด ช่อง 33 เอชดี รายได้ 1,800 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 30 ล้านบาท
4.บริษัท อาร์เอส เทเลวิชั่น จำกัด ช่องอาร์เอส 8 รายได้ 1,151 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 16 ล้านบาท 5.บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ช่องโมโน 29 รายได้ 1,002 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 13 ล้านบาท 6.บริษัท ทรู โฟร์ยู สเตชั่น จำกัด รายได้ 721 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 8 ล้านบาท 7.บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 รายได้ 643 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 7 ล้านบาท 8.บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด หรือไทยรัฐทีวี รายได้ 515 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 5 ล้านบาท 9.บริษัท จีเอ็มเอ็มวัน ทีวี จำกัด ช่องวัน รายได้ 445 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 4 ล้านบาท
10.บริษัท ไทยนิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด หรือช่องทีเอ็นเอ็น 24 มีรายได้ 386 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 4 ล้านบาท 11.บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ช่อง 3 เอสดี รายได้ 382 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 4 ล้านบาท 12.บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด ช่องเนชั่น รายได้ 353 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 3 ล้านบาท 13.บริษัท บางกอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด ช่องนาว 280 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 3 ล้านบาท 14. บริษัท บางกอกมีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ช่องพีพีทีวี รายได้ 232 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 2 ล้านบาท 15.บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัดช่องอมรินทร์ เอชดี รายได้ 225 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 2 ล้านบาท
16.บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด รายได้ 188 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 1.7 ล้านบาท 17. บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) รายได้ 185 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 1.7 ล้านบาท 18. บริษัท สปริงนิวส์ จำกัด รายได้ 182 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 1.6 ล้านบาท 19.บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ช่อง 3 แฟมิลี่ รายได้ 128 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 1 ล้านบาท 20.บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด รายได้ 106 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 927,482 บาท 21.บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด ช่องนิวทีวี รายได้ 102 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 888,076 บาท 22.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ช่องเด็กและครอบครัว รายได้ 28 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 204,747 บาท
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 22 ราย ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดาวเทียม และเคเบิล 400 ราย ซึ่งลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มี 500 ราย ล่าสุด กสทช.มีมติให้พักใบอนุญาตทีวีดาวเทียม 3 ราย เป็นผลจากการเปิดให้บริการของทีวีดิจิทัล ทำให้ประชาชนหันมารับชมเพิ่มมากขึ้น คาดว่าปีนี้จะมีครัวเรือนรับชมทีวีดิจิทัล 80% จาก 28 ล้านครัวเรือนทั้งประเทศ.