ปี 64 สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ ดันแผนประชากรเพื่อพัฒนาประเทศ 20 ปี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปี 64 สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ ดันแผนประชากรเพื่อพัฒนาประเทศ 20 ปี

Date Time: 30 พ.ค. 2560 08:01 น.

Summary

  • สศช.ห่วงปัญหาโครงสร้างประชากร ผู้สูงอายุเพิ่ม เด็กเกิดน้อย วัยแรงงานลด กระทบการพัฒนาประเทศ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่งร่างแผนประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะ 20 ปี เข้า ครม. 6 มิ.ย.นี้

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

สศช.ห่วงปัญหาโครงสร้างประชากร ผู้สูงอายุเพิ่ม เด็กเกิดน้อย วัยแรงงานลด กระทบการพัฒนาประเทศ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่งร่างแผนประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะ 20 ปี เข้า ครม. 6 มิ.ย.นี้

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในงานสัมมนา “ร่างแผนประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี (ปี 2560-2579)” ว่า ไทยเผชิญกับปัญหาโครงสร้างประชากร เนื่องจากสตรีวัยเจริญพันธุ์มีบุตรลดลงต่อเนื่อง การเพิ่มจำนวนของเด็กเกิดใหม่ระหว่างปี 2506-2526 มีมากกว่าปีละ 1 ล้านคน แต่ปัจจุบันเหลือปีละ 700,000 คน ขณะที่ประชากรมีอายุยืนยาวมากขึ้น เป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศยังไม่จัดอยู่ในระดับประเทศรายได้สูง แตกต่างจากประเทศอื่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยที่มีรายได้ค่อนข้างดี ซึ่งในอาเซียนประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงอายุแล้วคือ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย

“ประเมินว่าปี 2561 เป็นปีแรกที่ผู้สูงอายุจะมากกว่าวัยเด็กหลายแสนคน และจะเพิ่มอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2564 ถึงตอนนั้นไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยมีประชากรผู้สูงอายุ 20% ของประชากรทั้งหมด ส่วนตั้งแต่ปี 2579 ประชากรไทยจะมีน้อยกว่าปัจจุบัน และจะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุ 30% เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด ซึ่งจะเกิดการสร้างภาระพึ่งพิงต่อวัยแรงงานและภาครัฐ ที่ต้องจัดสวัสดิการให้มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ และขยายตัวทางเศรษฐกิจ จึงต้องหาทางเพิ่มประชากร ทั้งปริมาณและพัฒนาคุณภาพอย่างเข้มข้น”

ด้านนายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ประชากรกับการพัฒนาประเทศ...อนาคตที่ท้าทาย” ว่า ในฐานะที่ตกเป็นจำเลยสังคม เนื่องจากทำเรื่องการคุมกำเนิดร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้ผลมาก จนวันนี้ต้องหาทางเพิ่มประชากร ขนาดครูยังต่อว่าได้ซีไม่สูงเพราะเด็กไม่เกิด และคนแก่เต็มบ้านเต็มเมือง เพราะคนชื่อ “มีชัย” สาเหตุที่การคุมกำเนิดได้ผล เพราะในอดีตมีการจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องและหลากหลายรูปแบบ เช่น ทำหมันแล้วจะได้บัตรขึ้นรถทัวร์ฟรี หรือหมันเงินล้าน ใครที่ทำหมันจะได้รับลอตเตอรี่ลุ้นรางวัล หรือมีกองทุนให้กู้เฉพาะคนที่ไม่ตั้งครรภ์ เป็นต้น แนวคิดเหล่านี้นำมาประยุกต์ใช้สำหรับการเพิ่มประชากรได้ เช่น รัฐบาลประกาศสนับสนุนคนที่มีบุตรคนที่ 2 และ 3 จะให้เรียนระดับมหาวิทยาลัยฟรี

ขณะที่นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสศช. กล่าวว่า จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาร่างแผนประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปีวันที่ 6 มิ.ย.นี้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยสู่สังคมสูงอายุ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ส่งผลให้ไทยต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งเสถียรภาพทางการเงิน การคลังในการจัดสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น รวมถึงความเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวลงจากแรงงานที่ลดลง “ร่างแผนประชากรฯที่จะเสนอ ครม.ได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า ประชากรไทยเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมยกระดับการพัฒนาประเทศ ซึ่งมี 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ส่งเสริมให้ประชากรวัยเจริญพันธุ์มีบุตรเพิ่มขึ้นโดยสมัครใจ โดยเฉพาะในเจเนอเรชั่นวาย รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้มีบุตรยากให้มีบุตรได้ 2.พัฒนาและยกระดับผลิตภาพประชากร 3.พัฒนาคุณภาพชีวิตประชากร 4.สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและระบบคุ้มครองทางสังคม และ 5.สนับสนุนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาประชากร”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ