เหนื่อยสาหัสแบกภาระผ่อนทั้งบ้าน-รถยนต์

ม.หอการค้าไทย เผยหนี้ครัวเรือนไทยมีมูลค่าเฉลี่ย 1.31 แสนบาท เพิ่มขึ้น 10% สูงสุดในรอบ 8 ปี เหตุเป็นหนี้สะสมจากปีก่อน และมีการก่อหนี้เพิ่ม แต่ยังดีที่เป็นหนี้ซื้อบ้านซื้อรถ ระบุส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบเพิ่มขึ้น หลังรัฐมีมาตรการดึงหนี้เข้าระบบ เพิ่มขึ้นในรอบ 4 ปี พร้อมแนะรัฐ ขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 410 บาท ภายใน 3 ปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท ว่า แรงงานไทยกว่า 97% ยังมีภาระหนี้ และก่อหนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 131,479 บาท เพิ่มขึ้น 10.43% จากปีก่อนหน้าที่มีการก่อหนี้ 119,061 บาท หรือเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 8 ปี

“ปัญหาหนี้ที่เพิ่มขึ้น มาจากหนี้สะสมตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่ดี จึงต้องกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย และอีกส่วนหนึ่ง มีการใช้จ่ายมากกว่าหรือเท่ากับรายได้ เพราะมีรายได้เท่าเดิม แต่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ทั้งจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น มีของที่ต้องการซื้อมากขึ้น ดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้มีหนี้สินเพิ่ม”

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนหนี้ที่สูงขึ้นนี้ไม่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นการก่อหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สินคงทน อาทิ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่เป็นการกู้เพื่อใช้จ่ายทั่วไปเป็นหลัก

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ผลการสำรวจพบว่า หนี้ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ และมีหนี้นอกระบบลดลง จากมาตรการของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการดึงหนี้นอกระบบกลับเข้ามาอยู่ในระบบ โดยเป็นหนี้ที่อยู่ในระบบ 46.4% จากปีก่อนที่มีสัดส่วน 39.38% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี ขณะที่หนี้นอกระบบมีสัดส่วน 53.6% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีสัดส่วน 60.62% ถือว่าลดลงสูงสุดในรอบ 4 ปีเช่นกัน

...

“แรงงานที่มีหนี้ มีภาระการผ่อนเฉลี่ยเดือนละ 5,080.48 บาท ลดลงจากปีก่อนที่ผ่อน 8,114.31 บาท โดยผ่อนหนี้ในระบบเดือนละ 5,587.28 บาท ลดลงจากปีก่อนที่ผ่อนเดือนละ 5,889.53 บาท ขณะที่หนี้นอกระบบก็ลดลงเช่นกัน หรือผ่อนเดือนละ 5,244.88 บาท จากปีก่อนที่สูงถึง 9,657.78 บาท อีกทั้งยังมีความสามารถในการผ่อนชำระดีขึ้นกว่าปีก่อน ที่มีปัญหาการผ่อนชำระถึง 83.5% ปีนี้ลดเหลือเพียง 78.6% รวมทั้งมีอัตราการออมเพิ่มขึ้นเป็น 62.6% จากปีก่อนที่มีการออมเพียง 39.4%”

สำหรับปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ที่อยู่ที่ 78.6% นั้น เกิดจากรายได้ไม่เพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าสูงขึ้น จนหมุนเงินไม่ทัน จึงต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 410 บาท ภายใน 3 ปี พร้อมทั้งควบคุมราคาสินค้า และช่วยเหลือเรื่องค่า ครองชีพให้สอดคล้องกับรายได้ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ช่วยเหลือผู้ว่างงาน ดูแลประกันสังคม และค่ารักษาพยาบาล ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ให้เงินช่วยเหลือด้านสวัสดิการ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจ พบว่า มีแรงงานเพียง 3% เท่านั้น ที่ไม่มีการก่อหนี้ ด้วยการประหยัดให้มากขึ้น โดยซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น แต่ก็มีบางส่วนที่มีรายได้สูงขึ้น และมีรายได้เสริมด้วย ส่วนอัตราการว่างงานนั้น ขณะนี้ยังอยู่ที่ 1.3% และคาดว่าจะขึ้นไปสูงสุดกลางปีนี้ถึง 1.5% แต่จากนั้นจะถอยกลับมา และสิ้นปีนี้ ไม่ควรเกิน 1% หากรัฐเริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามแผนงานที่วางไว้ รวมทั้งงบกลางปี 180,000 ล้านบาทเข้าสู่ระบบมากขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป

นายธนวรรธน์กล่าวว่า จากนี้ไปภาครัฐจะต้องเร่งดูแลด้านต่างๆที่เกี่ยวกับสวัสดิการให้มากขึ้น ทั้งแรงงาน และผู้สูงอายุ เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทั้งๆที่ยังไม่ได้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจะทำให้ภาครัฐมีภาระสูงขึ้น และหากกลุ่มแรงงานและกลุ่มผู้สูงวัยเหล่านี้ไม่มีรายได้เพียงพอ ก็อาจเกิดปัญหาสังคม การก่ออาชญากรรมตามมาได้

สำหรับวันแรงงานในปีนี้ โดยภาพรวมบรรยากาศยังเป็นไปอย่างคึกคักใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยในช่วงวันหยุดแรงงาน จะไปสังสรรค์มากที่สุด มีการใช้จ่าย 1,879.54 บาท รองลงมาคือไปท่องเที่ยว ใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 1,850.98 บาท ทานอาหารนอกบ้าน 612.57 บาท ทำบุญ 759.43 บาท ดูหนัง 531.15 บาท กลับบ้านต่างจังหวัด 1,328.82 บาท ซื้อของ 1,074.14 บาท เป็นต้น.