เมื่อวันที่ 20 ก.พ. พล.ต.อ.สุวิระ ทรงเมตตา ที่ปรึกษา (สบ 10) หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยธุรกิจรักษาความปลอดภัย จัดโครงการอบรมนายทะเบียนจังหวัดตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย 2558 ขึ้นที่สโมสรตำรวจ

เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.58 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มี.ค.2559

จึงเชิญนายทะเบียนจังหวัดและเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เกี่ยวข้อง มารับฟังคำชี้แจงถึงอำนาจหน้าที่ และแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ

1.เพื่อให้ผู้รับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจตามพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย 2.ให้ผู้อบรมทราบถึงอำนาจหน้าที่และการปฏิบัติหน้าที่ และ 3.ให้ผู้เข้ารับการอบรมทราบแนวทางการปฏิบัติ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง

การอบรมครั้งนี้นอกจากนายทะเบียนจังหวัด ประกอบด้วย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายแล้ว ยังมี ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1–9 และผู้บังคับสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191)

เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องจังหวัดละ 3 นาย รวม 228 นาย เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายอำนวยการ 1 5 6 7 และ 10 กองบัญชาการตำรวจนครบาล รวมผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 400 นาย

ที่สำคัญภายในวันที่ 26 ก.พ.นี้ ผู้ที่ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย หรือผู้ที่มีอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย ต้องยื่นขอใบอนุญาตต่อนายทะเบียนจังหวัด ณ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดในพื้นที่

หากเลยกำหนดจะไม่ได้รับการคุ้มครองตามบทเฉพาะกาลของคำสั่ง คสช.ที่ 67/2559 ลงวันที่ 10 พ.ย.59

ส่วนโทษตาม พ.ร.บ.นี้คือ ผู้ใดทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ!

...

ก็ดีครับ ที่มีกฎหมายควบคุม รปภ. และผู้ทำธุรกิจรักษาความปลอดภัยซะที

จะได้เข้มงวดเรื่องคุณภาพ ไม่ใช่สักแต่ว่าเอาใครที่ไหนก็ไม่รู้มาทำงาน

บางคนเห็นแล้วหวาดเสียวว่า มันจะมาเป็นคนก่อคดีเสียเอง!?!

สหบาท