สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ ช่วงนี้มีข่าวกระทบกระทั่งกันของผู้ขับขี่รถยนต์บนท้องถนนกันเยอะนะครับ ล่าสุดกรณีเป็นกรณีของชายอายุ 50 ปีใช้อาวุธปืนยิงวัยรุ่นอายุ 17 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในที่สุด (วิศวกรวัย 50 ถูกโจ๋รุมชกแถมครอบครัวถูกล้อม ชักปืนยิงโดนหนุ่ม 17 ดับ) ซึ่งผู้กระทำความผิดไม่ได้หลบหนี กระแสข่าวและบทสัมภาษณ์ของทั้งสองฝ่าย ให้ข้อมูลขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงครับ ต่างคนต่างเล่าเหตุการณ์เดียวกัน แต่กลับไม่เหมือนกัน

บ่อยครั้งที่เรามักจะเห็นผู้กระทำความผิดทางอาญาอ้างข้อกฎหมายในเรื่องการป้องกันตัว บันดาลโทสะ ความจำเป็น หรือทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งข้ออ้างต่างๆ ดังที่กล่าวมานั้น เป็นสิทธิของผู้กระทำความผิดในคดีอาญาที่จะอ้างข้อกฎหมาย เพื่อให้ตนเองพ้นผิด ไม่ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลง แต่ข้ออ้างของผู้กระทำความผิดจะฟังขึ้นหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและพฤติการณ์อื่นๆ เป็นเรื่องๆ ไปครับ

ปัญหาข้อกฎหมาย ที่มักนำมาใช้อ้าง เพื่อให้ตนเองพ้นผิด คือ เหตุป้องกันตัว โดยสามารถอ้างว่า กระทำความผิดอันเป็นการป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่นก็ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 วางหลักไว้ว่า “ผู้ใดจำต้องกระทำการใด เพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น ให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อ กฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้น ไม่มีความผิด”

หลักกฎหมายดังกล่าวมีองค์ประกอบทางกฎหมาย ทั้งที่เขียนไว้ในตัวบทกฎหมาย และที่ตีความโดยคำพิพากษาศาลฎีกา อีกทั้ง ยังต้องพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบกับพฤติการณ์ อายุ จำนวนคน และเพศของผู้กระทำความผิดด้วย เนื่องจากอายุ จำนวนคน และเพศ ย่อมทำให้เกิดความกลัวภยันตรายที่แตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อมีคดีความเกิดขึ้น ส่วนใหญ่ไม่มีฝ่ายใดพูดความจริงทั้งหมดให้ศาลฟังครับ สุดท้ายศาลจะชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานจากธรรมชาติของมนุษย์ วิสัยปกติของมนุษย์ ที่มนุษย์พึงกระทำในภาวะสถานการณ์เช่นนั้น

...

นอกจากนี้ผู้ที่จะอ้างเหตุป้องกันตัวได้นั้น จะต้องไม่เป็นฝ่ายยั่วยุหรือท้าทาย ไม่ใช่ฝ่ายที่ก่อภยันตรายขึ้น ไม่ใช่ฝ่ายที่สมัครใจร่วมทะเลาะวิวาท และไม่ใช่ฝ่ายที่ยินยอมให้ผู้อื่นกระทำความผิดต่อตนเองนะครับ

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่อธิบายเรื่องการใช้อาวุธปืน เพื่อป้องกันตัว และพฤติการณ์ที่ถือว่าเลี่ยงหรือหนีการทะเลาะวิวาทแล้ว แต่ยังถูกอีกฝ่ายตามหาเรื่อง กรณีนี้สามารถอ้างเหตุป้องกันตัวได้ แต่การใช้อาวุธปืน ซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69 "ในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 และมาตรา 68 นั้น ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้"

คำพิพากษาฎีกาที่ 1336/2553 ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้าไปรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้า 1 นัด เพื่อขู่ไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้ามาทำร้าย ลักษณะจึงเป็นการเตือนก่อน จากนั้นได้ยิงลงพื้นดินระหว่างจำเลยกับกลุ่มผู้เสียหายที่ 1 กับพวก เพื่อให้ถอยไป เมื่อไม่ได้ผลจึงยิงจนกระสุนปืนหมดลูกโม่ แต่ละนัดที่ยิงจำเลยพยายามยิงลงพื้นและในระดับต่ำเพื่อไม่ให้ถูกอวัยวะส่วนสำคัญของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวก ลักษณะบาดแผลที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับจะอยู่ในระดับต่ำกว่าสะเอวลงมาคงมีเพียงผู้เสียหายที่ 3 ได้รับบาดแผลที่แผ่นหลังเมื่อนอนหมอบลงแล้ว แสดงว่าจำเลยมิได้มุ่งหมายที่จะให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยมิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288,80 โดยมิได้บรรยายว่าผู้เสียหายทั้งสี่ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าจะพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ.มาตรา 297 (8) มิได้ คงลงโทษได้เพียงตามมาตรา 295

จำเลยกับพวกได้กลับมาที่เกิดเหตุก็ เพื่อเอารถจักรยานยนต์ของพวกจำเลยที่จอดทิ้งไว้ มิได้กลับมาหาเรื่องและชวนทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวก การที่ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้าไปรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยกับพวกไม่มีหน้าที่ที่จะต้องหลบหนีแต่มีอำนาจที่จะป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายที่เกิดจากการรุมทำร้ายของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้ ทั้งข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้ลงมือทำร้ายชกต่อยจำเลยตกจากรถจักรยานยนต์ ภยันตรายที่จำเลยได้รับถึงตัว จำเลยไม่สามารถหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่น แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืน ซึ่งมีอานุภาพร้ายแรงยิงไปทางผู้เสียหายที่ 1 กับพวกจนหมดลูกโม่จำนวน 6 นัด การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการป้องกันสิทธิของตนและผู้อื่นเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69

สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านใช้ความระมัดระวังในการใช้ชีวิต พึงมีสติอยู่เสมอ คิดก่อนทำทุกครั้ง เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน โอกาส อนาคต ของตนเอง ครอบครัว และผู้อื่นครับ

สำหรับท่านที่มีคำถาม ข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย และต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ