ก็เพราะเคยเฉียดตายมาแล้ว ตอนอายุ 30 ปี “นพ.โยะชิโนะริ นะงุโมะ” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทรวงอกของญี่ปุ่น จึงต้องดิ้นรนทุกทาง เพื่อเอาตัวรอดจากโรคภัยไข้เจ็บ คุณหมอทดลองวิธีรักษาสุขภาพทุกรูปแบบ เคยใช้เวลาในศูนย์กีฬา พยายามว่ายน้ำและออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก ที่พุ่งพรวดขึ้นเป็น 77 กิโลกรัม เพราะการกินดื่มไม่บันยะบันยัง และความเครียดสะสม
มันน่าขันก็ตรงที่ยิ่งออกกำลังกายหนักเท่าไหร่ ก็ยิ่งอยากอาหารขึ้นเท่านั้น ทำให้น้ำหนักค่อยๆเพิ่มขึ้น แทนที่จะลดลง ระหว่างลองผิดลองถูกทุกทาง คุณหมอเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร หันมาเน้นผักและเลิกกินเนื้อสัตว์ ปรากฏว่าอาการท้องผูกที่เคยส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และแน่นหน้าอกก็หายไปในพริบตา
หลังจากค้นพบแนวทางนี้ คุณหมอได้ลองลดปริมาณอาหาร ด้วยการกิน “ซุปหนึ่งถ้วยและกับข้าวหนึ่งจาน” เป็นเมนูหลัก ผลก็คือน้ำหนักลดลงอย่างคงที่ สภาพร่างกายค่อยๆกระฉับกระเฉงขึ้น กระนั้นการจะเตรียมซุปหนึ่งถ้วยและกับข้าวหนึ่งจานทุกมื้อเป็นเรื่องยาก บ่อยครั้งที่ตอนเช้าและกลางวันไม่รู้สึกอยาก อาหาร ควบคุมตัวเองได้ดี แต่ตอนเย็นกลับตบะแตก เพราะต้องไปทานข้าวกับเพื่อนฝูง
คุณหมอตัดสินใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่อีกครั้ง จนมาค้นพบทางสว่างจาก “การกินอาหารวันละมื้อ” นับแต่นั้นมาตลอด 10 กว่าปี สุขภาพของคุณหมอก็ดีขึ้นมาก จากน้ำหนัก 77 กิโลกรัม ตอนนี้ลดเหลือ 62 กิโลกรัม คงที่มาตลอด เหนือสิ่งอื่นใดคือ ผิวพรรณอ่อนเยาว์ขึ้น และกลับมาเป็นหนุ่มอีกครั้ง ราวกับคนอายุ 26 ปี!!
ทำไมการอดอาหารจึงดีต่อสุขภาพ? การกินอาหารวันละ 3 มื้อ ถือเป็นเรื่องปกติของทุกคนในยุคปัจจุบัน แต่ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์ตลอด 170,000 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ามนุษย์เริ่มได้กินอิ่มครบ 3 มื้อ เมื่อไม่กี่ทศวรรษนี้เอง อย่างมากก็ไม่น่าถึง 100 ปี เราเริ่มกินอาหารวันละ 3 มื้อ ก็หลังจากมีวัฒนธรรมการปลูกข้าวแล้ว แต่ก่อนเป็นยุควัฒนธรรมล่าสัตว์ล้วนๆ ถ้าล่าสัตว์ไม่ได้ก็ไม่มีอาหารกินหลายวัน
...
จากแผนที่แสดงระดับความอดอยากของประเทศทั่วโลก ที่เผยแพร่โดยโครงการอาหารโลก เห็นว่าประเทศที่เผชิญภาวะอดอยากจะมีอัตราการเกิดสูง แม้มองเผินๆดูเหมือนประเทศพัฒนาแล้วจะมีความสุขที่อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ แต่กลับมีอัตราการเกิดต่ำมาก ตรงกันข้ามกับประเทศอดอยากที่ต้องเผชิญปัญหาประชากรล้น เรื่องนี้คุณหมออธิบายว่า ความสามารถในการอยู่รอด หรือ “ยีนที่ช่วยให้รอดชีวิต” จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเผชิญกับความอดอยาก เหน็บหนาว และโรคระบาด ยามปกติยีนที่ช่วยให้รอดชีวิตจะไม่ทำงาน ยิ่งไปกว่านั้นการกินอย่างอิ่มหนำสำราญเกินไปจะทำให้ร่างกายแก่ชรา อัตราการเกิดลดลง และภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง
การเปลี่ยนมากินอาหารวันละมื้อ ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ถ้าทำได้สุขภาพดีและหุ่นดีชัวร์ โดยคุณหมอแนะนำว่า “มื้อเย็น” คือมื้อเหมาะสมที่สุดในการกินอาหารวันละมื้อ เพราะเป็นการปิดท้ายในแต่ละวัน มื้อเย็นของคุณหมอคือ ข้าวกล้องกับซุปมิโสะที่ใส่เครื่องเต็มที่ กับปลาแดดเดียว และผักลวกราดโชยุ
ทำไมไม่เลือก “มื้อเช้า” เป็นมื้อหลัก คุณหมอให้เหตุผลว่า การกินอาหารเช้าจนอิ่มแปล้ ทำให้ความง่วงเข้าจู่โจมทันที และสมองไม่แล่น เช่นเดียวกับ “มื้อกลางวัน” กินปั๊บก็จะง่วงเหงาหาวนอนในออฟฟิศ สำหรับคุณหมอ ถ้าวันไหนมีงานสำคัญรออยู่ จะเลี่ยงการกินข้าวเช้าและข้าวกลางวัน เพราะสมองทำงานกระฉับกระเฉงสุดตอนรู้สึกหิว ทุกเย็นเสียงท้องร้อง “จ๊อก” ที่บอกว่าหิวแล้ว จึงเปรียบเหมือนเสียงสวรรค์ คุณหมอจะปล่อยให้ท้องร้องจ๊อกครู่หนึ่ง ไม่รีบกินอาหารทันที เพราะรู้ดีว่า “ยีนเซอร์ทูอิน” ที่ทำให้อายุยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในยีนช่วยให้รอดชีวิต กำลังปรากฏตัว
มือใหม่หัดกินวันละมื้อ ถ้าหิวจริงๆสามารถกินอาหารเบาๆอย่าง ผลไม้, นมร้อน และไข่ลวก แต่ห้ามกินขนมหวานๆ เพราะฮอร์โมนควบคุมการเผาผลาญคืออินซูลินจะหลั่งออกมา ทำให้ไขมันในช่องท้องเพิ่มขึ้น กลายเป็นคนลงพุงและหิวบ่อย
การกินอาหารวันละมื้อยังทำให้ “ฮอร์โมนผอม” หรือ “เลปติน” หลั่งจากเนื้อเยื่อไขมัน บอกสมองให้รู้ว่าอิ่มแล้ว ทำให้ไม่อยากอาหาร แต่ถ้าเป็นคนอ้วนมานาน เส้นประสาทจะอัมพาต ทำให้ประสิทธิภาพระงับความอยากอาหารแย่ลง พอเริ่มไดเอต ปริมาณเลปตินจะลดลง จนระงับความอยากอาหารได้น้อยลง เลยลดน้ำหนักไม่สำเร็จ.
มิสแซฟไฟร์