ภาพจาก Nirut Phuket

ชาวบ้าน บ้านนาคา ต.กมลา พบ เป็ดหงส์ สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์และหายากในไทย อยากให้คนรุ่นหลังได้เห็น ส่งมอบให้ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาพระแทว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ประสานส่งต่อ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า จ.พังงาดูแลต่อไป...

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 26 ต.ค. นายสุชล คงนาม เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาพระแทว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พร้อมเจ้าหน้าที่ได้มารับเป็ดหงส์ สัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์จากนายสำราญ อินทแก้ว ชาวบ้านหมู่ 6 บ้านนาคา ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นผู้จับได้ขณะออกไปหาปลา เพื่อนำไปพักฟื้นที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า จ.พังงา กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

นายสำราญ เล่าว่า เป็ดหงส์ตัวดังกล่าวจับได้เมื่อคืนวันที่ 24 ต.ค.2559 ที่ผ่านมา ขณะที่ตนออกไปหาปลาในตอนกลางคืนบริเวณหาดลายิ ต.กมลา อ.กะทู้ โดยติดร่างแหอยู่บนโขดหิน เห็นว่าเป็นเป็ดที่มีความแปลก จึงนำกลับมาขังไว้ในกรงที่บ้านและมาทราบภายหลังว่าเป็นเป็ดหงส์ที่ใกล้สูญพันธุ์ จึงตั้งใจเก็บขยายพันธุ์ เพื่อให้เด็กรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาต่อไป ตนจึงประสานไปยังเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาพระแทว อ.ถลาง มารับตัวส่งต่อไป 

...

เป็ดหงส์ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Knob-billed duck, Comb duck ชื่อวิทยาศาสตร์ Sarkidiornis melanotos เป็นสัตว์ปีกจำพวกเป็ดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์นกเป็ดน้ำ (Anatidae) จัดเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Sarkidiornis ปกติเป็ดหงส์มีลำตัวประมาณ 76 เซนติเมตร มีจะงอยปากสีดำแถบบนปีกสีบรอนซ์สะดุดตา ตัวผู้มีส่วนหลังสีดำเหลือบสีเขียวแกมฟ้าและสีม่วง ส่วนหัวและลำคอสีขาว มีจุดประสีดำ แถบสีดำรอบด้านหลังคอพาดลงไปถึงด้านข้างของส่วนอกและอีกแถบหนึ่งพาดลงไปด้านข้างของส่วนหาง ขณะบินจะสังเกตเห็นแผ่นหลังส่วนล่างสีออกเทาชัดเจน ในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้มีปุ่มเนื้อที่โคนจะงอยปากด้านบนขยายใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก จนเห็นได้ชัดเจน ขณะที่ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าและลำตัวสีทึมกว่า และไม่มีแถบสีดำสองแถบบนส่วนคอและที่ใกล้หาง ลูกอ่อนที่อายุน้อยลำตัวไม่ค่อยมีสีเหลือบและบริเวณแถบขาวมีสีคล้ำ

เป็ดหงส์มีถิ่นแพร่กระจายพันธุ์กว้างขวางมาก ตั้งแต่ประเทศปากีสถาน, อินเดีย, ศรีลังกา, บังกลาเทศ ไปทางทิศตะวันออกผ่านแคว้นอัสสัม, เมียนมาถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนตอนตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังพบในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ โดยเป็ดหงส์มักอาศัยอยู่ในป่าดิบทึบ ชอบที่จะเกาะคอนไม้สูงๆ อาศัยเป็นที่หลับนอน อาศัยอยู่รวมเป็นฝูง ซึ่งเป็นครอบครัวประมาณ 4-10 ตัว หากินโดยการไซ้กินหัวและยอดอ่อน ตลอดจนเมล็ดของพืชน้ำ, เมล็ดข้าว, แมลงน้ำและอาจกินสัตว์น้ำอย่างกบ, เขียดและปลาได้ด้วย มีฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือน ก.ค.-ก.ย.ในประเทศอินเดียมีรายงานว่าพบทำรังในรังเก่าของนกแร้งและในรูบนกำแพงป้อมเก่าๆ และบนหน้าผาดิน วางไข่สีครีมจางๆ จำนวน 7-15 ฟอง

สำหรับในประเทศไทยพบน้อยมาก ปี 2529 พบ 10 ตัวที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน จ.บุรีรัมย์ ปี 2531 พบ 1 ตัวที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ การเปลี่ยนแปลงสภาพบริเวณบึง หนองตามธรรมชาติไปเป็นทุ่งนา สำหรับปลูกข้าวและการตัดฟันต้นไม้สูงๆ ลงเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการล่าเพื่อเป็นอาหารอย่างหนัก ทำให้ต้องสูญเสียแหล่งหากิน แหล่งทำรังและแหล่งพักนอนไป เป็ดหงส์จึงไม่ทำรังวางไข่ในประเทศไทยอีกต่อไป พบเฉพาะตัวที่บินมาหากินในฤดูหนาวในบริเวณอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บางแห่งเท่านั้น จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535.

X