ยืดเยื้อกันมาหลายปีสำหรับการรื้อย้ายชุมชนใน “ป้อมมหากาฬ” ที่ กทม.ออกกฎหมายเวนคืนที่ดินจำนวน 10 แปลง ตั้งแต่ปี 2535เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่สวนสาธารณะ อนุรักษ์โบราณสถาน
ก่อนหน้านี้ในปี 2503 กทม.เริ่มซื้อที่ดินบริเวณป้อมมหากาฬเรื่อยมา20 แปลง ยังคงเหลือบางส่วนเพียง 10 แปลง จึงได้ออกกฎหมายเวนคืนโดยกทม.ได้เจรจาทยอยจ่ายเงินชดเชยให้เจ้าของบ้านและผู้ได้รับผลกระทบภายใต้เงื่อนไขว่าบ้านหลังใดรับเงินครบแล้วให้รื้อถอนบ้านหรือย้ายออกจากพื้นที่
จนปัจจุบันแม้พื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดเป็นของ กทม.แล้ว แต่ยังคงมีบ้านเรือนมีผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ ทำให้ กทม. ไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ตามวัตถุประสงค์เวนคืนได้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3-4 ก.ย.59 กทม.เข้าทำการรื้อถอนอาคารตามแผนระยะแรกซึ่งเจ้าของโอนกรรมสิทธิ์ให้ กทม.และมีความประสงค์ให้รื้อถอนจำนวน 12 หลัง อนุรักษ์บ้านไม้สักทองไว้อีก 1 หลัง รวมเป็น 13 หลัง จากทั้งหมด56 หลัง อย่างไรก็ตาม ได้เกิดเหตุการณ์ชุลมุนชาวชุมชนบางส่วนไม่ยอมให้กทม.เข้าพื้นที่ ก่อนมีการเจรจาโดยมีนักวิชาการอิสระ กรรมการสิทธิมนุษยชนร่วมเจรจายื่นข้อเสนอให้ กทม.รื้อถอนบ้านบางหลังตามแผน ส่วนที่เหลือให้ชะลอการรื้อถอนไว้ก่อน ทำให้วันนั้น กทม.สามารถรื้อถอนบ้านได้เพียง 18หลัง เป็นบ้านร้าง ไม่มีผู้อาศัย และเจ้าของแจ้ง กทม.ให้เข้ารื้อ
การรื้อย้ายบ้านในป้อมมหากาฬมีความเป็นมาอย่างไร เหตุใดเวลาผ่านมานานแล้ว กทม.ไม่สามารถรื้อย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ได้ ศักดิ์ชัย บุญมา ผอ.กองจัดกรรมสิทธิ์ กทม. เล่าว่า เมื่อครั้งที่ กทม.ออกกฎหมายเวนคืนที่ดินที่เหลืออยู่ประมาณ 10 แปลง เมื่อปี 2535 ไม่มีความขัดแย้งใดๆ กทม.ทยอยจ่ายเงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ ภายใต้เงื่อนไขหากบ้านหลังใดรับเงินครบแล้วจะต้องรื้อถอนอาคาร หรือย้ายออกจากพื้นที่ ปรากฏว่า เมื่อรับเงินครบแล้ว ชุมชนขอขยายเวลารื้อถอนตั้งแต่ปี 2538 เรื่อยมาจนถึงปี 2540
...
ขณะนั้น กทม.เห็นใจอนุโลมให้ชุมชนพร้อมเมื่อไหร่ค่อยรื้อถอน กระทั่งปี 2541-2542 ชุมชนกลับเสนอ กทม.ว่าไม่ย้ายแล้วพร้อมขอแบ่งพื้นที่ของ กทม. 1 ใน 3 เพื่ออาศัยแบบถาวร กทม.พยายามเจรจาแต่ไม่เป็นผล ชุมชนเองก็พยายามร้องเรียนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายประมาณปี 2552 นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกัน อาทิ กรรมการสิทธิมนุษยชนป.ป.ช. อัยการ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ประชุมมีมติให้ กทม.ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่เวนคืนพื้นที่ ซึ่ง กทม.พยายามดำเนินการตามหน้าที่มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน
แนวคิดของนักวิชาการที่เสนอให้เปลี่ยนวัตถุประสงค์ใน พ.ร.ฎ.เวนคืนเพื่อให้ชุมชนยังคงอยู่ มีความเป็นไปได้หรือไม่ ศักดิ์ชัยบอกว่า การขอแก้กฎหมายเป็นเพียงการยื้อเวลา เพราะการแก้กฎหมายใช้เวลาหลายปี และมีขั้นตอนที่ยากกว่าการออกกฎหมาย เพราะจะต้องมีเหตุผลและความจำเป็นมากกว่า ที่สำคัญการแก้กฎหมายกระทบเป็นวงกว้าง จึงจำเป็นต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบ ขณะที่กฎหมายเวนคืนระบุว่า หากรัฐเวนคืนแล้วไม่สามารถทำตามวัตถุประสงค์ ต้องคืนให้กับเจ้าของเดิมหรือทายาทเท่านั้น ซึ่งในชุมชนขณะนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 มีสถานะเป็นเพียงผู้เช่า ซึ่งเจ้าของได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ กทม.และออกไปแล้ว
สำหรับผู้เช่าในที่นี้มี 3 ประเภท ได้แก่ 1.เช่าที่ดินของวัดราชนัดดารามเพื่อปลูกบ้าน 2.เช่าบ้านของวัดฯ และ 3.เช่าบ้านของคนที่มาบุกรุกหรือเอาบ้านที่เจ้าของย้ายออกไปมาปล่อยเช่า บางรายอ้างว่าซื้อเซ้งจากเจ้าของเดิมมา
ปัจจุบันเหลือบ้านในพื้นที่กี่หลัง กทม.จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ผอ.กองจัดกรรมสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้เหลือบ้านเพียง 43 หลัง เป็นบ้านที่โอนกรรมสิทธิ์ให้ กทม.แล้ว 31 หลัง ยังไม่เจรจาตกลง แต่รับเงินชดเชยไปแล้วจำนวน 7 หลัง และบุกรุกที่ กทม. สร้างบ้านทับที่ของผู้ที่ย้ายออกไปแล้วจำนวน 5 หลัง กทม.อยู่ระหว่างประสานชุมชนเพื่อขอรื้อถอนบ้านว่างและบ้านที่เจ้าของแจ้งความประสงค์ขอให้ กทม.รื้อถอนเพิ่มเติมอีก 5 หลัง หากได้รับคำตอบ กทม.พร้อมดำเนินการทันที นอกจากนี้ กทม.มีแผนอนุรักษ์บ้านไม้เก่าในจำนวนดังกล่าวไว้ 4 หลัง อย่างไรก็ตาม กทม.ยังคงตั้งเป้าขอคืนพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อดำเนินการพัฒนาพื้นที่ต่อไป.