บันทึกการแต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูงชุดใหม่ๆมีอธิบดีและรองปลัดกระทรวงตลอดจนรองหัวหน้าหน่วยงานเทียบเท่ากระทรวงอีกจำนวนมากพอสมควร
เริ่มที่ กระทรวงพลังงาน ให้ นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ รองปลัดกระทรวง เป็น อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สลับกับ นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็น รองปลัดกระทรวง และ นายสมนึก บำรุงสาลี ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็น รองปลัดกระทรวง อีกคนแล้วให้ นางบุญบันดาล ยุวนะศิริ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ขึ้นเป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ไปเป็น อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สลับกับ นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มาเป็น อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ นายสากล ฐินะกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็น อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผู้ตรวจราชการกระทรวง 2 คน คือ นายเสริมยศ สมมั่น กับ นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ เป็น รองปลัดกระทรวง
ที่ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ มีการแต่งตั้งรองหัวหน้าหน่วย 2 รายคือ นายธวัชชัย ฤทธากรณ์ ที่ปรึกษาด้านการดำเนินงานข่าวกรองในต่างประเทศ (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็น รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และ นายวิม ยาหิรัญ ที่ปรึกษาด้านข่าวกรองความมั่นคงและสถาบันหลัก (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็น รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
นอกจากนั้นยังมีการจ้างข้าราชการภายหลังครบเกษียณอายุราชการเป็นลูกจ้างชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอการจ้าง นายชลิต มานิตกุล เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เป็นลูกจ้างชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ภายหลังครบเกษียณอายุราชการ เป็นเวลา 2 เดือน 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม-15 ธันวาคม 2559 โดยให้ได้รับค่าจ้างเท่ากับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ (พ.ข.ต.) รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับตามตำแหน่งเอกอัครราชทูต ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดำรงอยู่ก่อนการเกษียณอายุราชการ ส่วนค่าย้ายถิ่นที่อยู่และค่าพาหนะเดินทางกลับประเทศไทยให้เป็นไปตามสิทธิที่พึงได้รับจากการพ้นหน้าที่ราชการในต่างประเทศตามปกติ
...
หลายกระทรวงมีการแต่งตั้งวางตัวผู้บริหารกันค่อนข้างครบถ้วนแล้วยังเหลือของ กระทรวงการต่างประเทศ ที่มีตำแหน่ง เอกอัครราชทูต ว่างอยู่หลายเมืองและต้องมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทั้งภายในภายนอกประเทศด้วย เช่น อธิบดีและรองปลัดกระทรวงออกไปเป็นเอกอัครราชทูต เป็นต้น
กระบวนการแต่งตั้งของกระทรวงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอกอัครราชทูต จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศที่จะไปประจำอยู่เสียก่อนจึงค่อยนำมาขออนุมัติจาก ครม. ผลการแต่งตั้งจึงออกมาค่อนข้างช้ากว่ากระทรวงอื่นๆ กว่าจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์อาจล่วงไปถึงเดือนธันวาคม
บางครั้งบางหนที่มีภารกิจสำคัญรออยู่หลัง เอกอัครราชทูต เกษียณแล้วและทูตใหม่ก็ยังไม่มีมาก็จำเป็นต้องจ้างทูตคนเก่าทำหน้าที่ต่อไปอย่างที่เห็น.
“ซี.12”