กลายเป็นพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับ สำหรับคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แบ่งรับแบ่งสู้ ไม่ยอมรับแต่ไม่ปฏิเสธคำเชิญเป็นนายกรัฐมนตรี ยังไม่ถึงเวลา “ถ้าหาคนดีไม่ได้ค่อยมาพูดกับผม” นับว่าเป็นท่าทีที่ “เปลี่ยนไป” หลังชัยชนะประชามติ ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเคยยืนยันไม่สนใจตำแหน่งนายกฯ และไม่สืบทอดอำนาจ
ช่องทางที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง มีอยู่สองช่องทาง ช่องทางแรกให้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ชิงนายกฯ ของพรรคใดพรรคหนึ่ง หนทางที่สองเป็น “นายกฯคนนอก” โดยใช้มาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อคำถามพ่วงผ่านประชามติ จึงมีปัญหาเถียงกันยังไม่จบว่า จะให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ ในขั้นตอนใด
จากการสดับตรับฟังเสียงนักลากตั้งบางส่วน เห็นว่า ส.ว.ต้องร่วมเลือกนายกฯตั้งแต่เริ่มต้น และมีสิทธิเสนอชื่อผู้ที่สมควรเป็นนายกฯ และให้มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติยกเว้นไม่จำเป็นต้องเสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีรายชื่อของพรรค แต่เสนอชื่อ “คนนอก” ได้เลย แต่นักการเมืองประเภทเลือกตั้ง และนักวิชาการยืนกรานว่าไม่สามารถทำได้
หลังจากคำถามพ่วงผ่านประชามติ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีหน้าที่จะต้องแก้ไขบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มเติมอำนาจในการเลือกนายกฯของ 250 ส.ว. ที่มาจากแต่งตั้ง นักวิชาการเตือนว่าต้องยึดเนื้อหาสาระที่ผ่านประชามติเท่านั้น จะแก้ไขเกินเลยหรือ “เหาะเกินลงกา” ไม่ได้ และยืนยันว่าต้องแบ่งการเลือกนายกฯเป็น 2 ขยัก
ขยักแรกให้ ส.ส.เสนอชื่อผู้สมควรเป็นนายกฯ จากบัญชีรายชื่อที่พรรคแจ้งไว้ และให้ ส.ส.ลงมติ หาก ส.ส.เลือกไม่ได้จึงจะเข้าขยักที่ 2 ตามมาตรา 272 ให้สองสภาลงมติด้วยเสียง 2 ใน 3 เพื่อยกเว้นให้เสนอชื่อ “คนนอก” เป็นนายกฯได้ ให้สองสภาลงมติ “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” และยืนยันว่าสิทธิในการเสนอชื่อนายกฯเป็นของ ส.ส.ฝ่ายเดียว
...
บทหลักของร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ให้ ส.ส.เป็นผู้เสนอชื่อผู้ที่สมควรเป็นนายกฯ โดยมี ส.ส.อย่างน้อย 1 ใน 10 รับรองการเลือกนายกฯขยักแรก ต้องเลือกจากผู้ที่มีชื่อในบัญชีรายชื่อของพรรค ถ้าจะให้ ส.ว.เป็นผู้เสนอ จะเสนอชื่อใคร เพราะ ส.ว.ไม่มีพรรค หากจะเสนอชื่อบุคคลจากบัญชีรายชื่อของพรรค ต้องถือว่าเสียมารยาทก้าวก่ายพรรคการเมือง
การแก้ไขบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ จึงต้องยึดตามตัวอักษร และเจตนารมณ์ของประชามติอย่างเคร่งครัด จะตกแต่งให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เคยมีบทเรียนนักการเมืองที่เป็นอดีต ส.ส. หรือ ส.ว. ถูกถอดถอนหลายคน เพราะจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ยังมีบทลงโทษนัก การเมืองที่จงใจทำผิดรัฐธรรมนูญ.