อย่างที่ผมเรียนท่านผู้อ่านไปเมื่อวานนี้แล้วว่า...วันนี้ (ศุกร์ 22 กรกฎาคม) จะมีการประชุมใหญ่ของผู้เกี่ยวข้องกว่า 3,000 คน เพื่อพิจารณาร่างแผนพัฒนาฉบับที่ 12 ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้า อิมแพค เมืองทองธานี ตั้งแต่เวลา 09.00 น.

ท่านที่สนใจยังสามารถไปร่วมประชุมทันครับ ไม่ทันภาคเช้า จะไป ภาคบ่ายก็ได้ เขาเริ่มตั้งแต่บ่ายโมงครึ่ง มีการแบ่งกลุ่มออกเป็น 7 กลุ่ม ใน 7 หัวข้อสำคัญที่เป็นประเด็นสำหรับการพัฒนาในช่วงแผน 12 (พ.ศ.2560-2564) น่าสนใจทุกกลุ่ม

แต่ถ้าไปทันภาคเช้าได้ก็ดี จะได้ฟังท่านนายกรัฐมนตรีท่านขึ้นแสดงปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “เป้าหมายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย ในช่วงแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12” ว่าในทัศนะของท่านนั้น ทั้งเป้าหมาย ทั้งยุทธศาสตร์ ในช่วง 5 ปีข้างหน้าของประเทศไทยเราควรจะเป็นอย่างไร

สำหรับประเด็นที่ผมอ่านข่าวเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ของงานนี้ แล้วเห็นว่าควรจะนำมาเผยแพร่ต่อในวันนี้ ได้แก่ ประเด็นว่าด้วยผลการพัฒนาของแผนพัฒนาฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2559 ที่จะถึงนี้น่ะครับ

แม้จะยังไม่ครบกำหนดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เขาก็มีตัวเลขที่สำคัญๆเท่าที่รวมได้ใน 4 ปี ของแผน 11 มาฝาก ทำให้พอจะมองเห็นภาพรวมๆ อย่างกว้างๆได้พอสมควร

สภาพัฒน์บอกว่า ในช่วง 4 ปี ของแผน 11 นั้น ดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด

จากร้อยละ 71.62 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 72.83 ในปี 2557 และร้อยละ 72.87 ในปี 2558

ถือว่าปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ ปานกลาง หรือมีความอยู่เย็นเป็นสุขในระดับปานกลาง ว่าอย่างนั้นเถอะ

แต่ก็ดีกว่าในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 10 ก่อนหน้านี้เยอะเลยทีเดียว เพราะเมื่อสิ้นแผน 10 นั้น ดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขของไทยอยู่ในระดับที่เขาใช้คำว่า “จะต้องปรับปรุง” (เสียดายมิได้บอกคะแนนดัชนีมาด้วย)

...

เอาเป็นว่า จาก “ต้องปรับปรุง” มาสู่ขั้น “ระดับปานกลาง” ก็ถือว่าดีขึ้นเยอะแล้วละครับ

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยดีขึ้นนั้น ...สภาพัฒน์ระบุว่า เป็นเพราะ เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็ง และ

เป็นธรรมเพิ่มขึ้น จากการที่เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำและความยากจนลดลงในช่วงแผน 11

ขณะเดียวกัน คนไทยเราก็มี สุขภาวะดีขึ้น เพราะมีสุขภาพกายแข็งแรงขึ้น ในขณะที่สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศก็สมดุลเพิ่มขึ้น

แม้ว่าใน 2 ประการหลังนี้ยังอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องปรับปรุงต่อไป แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าก่อนๆ

สำหรับตัวถ่วงที่ทำให้ดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขของสังคมไทยเราไม่สูงมากขึ้นเท่าที่ควร และเป็นประเด็นที่จะต้องจับตาต่อไป ได้แก่ ชุมชนมีความเข้มแข็งลดลง ความอบอุ่นในครอบครัวลดลง มีการหย่าร้างมากขึ้น และมีผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียวมากขึ้น

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คะแนนอยู่เย็นเป็นสุขแม้จะดีขึ้น แต่ก็ยังดีไม่เต็มที่ ก็คือดัชนี ความเป็นประชาธิปไตย กับ ธรรมาภิบาล ยัง อยู่ในระดับที่จะต้องแก้ไขต่อไปอีก

โดยเฉพาะด้านความสมานฉันท์ทางสังคม และการมีจิตสำนึกประชาธิปไตยนั้นกลับมีคะแนนดัชนีลดลง

ก็ไม่ทราบว่าเราควรจะดีใจหรือไม่ที่ผลการพัฒนาในแผน 11 ที่กำลังจะผ่านไป ที่บอกว่าดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขของคนไทยเราดีขึ้นเยอะ

เพราะเวลาไปดูรายละเอียดดัชนีย่อย ที่เป็นตัวถ่วง รู้สึกว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ประเทศไทยเรากำลังเผชิญอยู่ทั้งสิ้น

อย่างเรื่องธรรมาภิบาล เรื่องประชาธิปไตย เรื่องความสมานฉันท์ของสังคมไทย ดัชนีลดลงหมดถึงขั้นสภาพัฒน์ใช้คำว่าต้องแก้ไขเลยทีเดียว

แต่ก็เอาเถอะ เรากำลังจะคืนสู่โหมดประชาธิปไตย ด้วยการโหวตรับไม่รับรัฐธรรมนูญ และตามโรดแม็ป เราจะเลือกตั้งกันปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาของแผน 12 พอดิบพอดี

หวังว่าดัชนีคะแนนประชาธิปไตยและความสมานฉันท์ของเราจะเพิ่มขึ้นบ้างนะครับในช่วงโน้น!

“ซูม”