นายกฯ เตรียมเปิดงาน "70 ปี ครองราชย์ ประชารัฐรวมใจภักดิ์ รักษ์น้ำ ตามรอยพ่อ" จัดขึ้นที่คลองบางสองร้อย จ.ราชบุรี...
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะเป็นประธานเปิดงาน "70 ปี ครองราชย์ ประชารัฐรวมใจภักดิ์ รักษ์น้ำ ตามรอยพ่อ" บริเวณคลองบางสองร้อย ต.ธรรมเสน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำตามนโยบายรัฐบาล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิ.ย. 2559 ในงาน มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ จากส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการน้ำคลองบางสองร้อยแบบประชารัฐ การแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ การนำผักตบชวาไปใช้ประโยชน์และการแปรรูป การแสดงสินค้า OTOP บริการซ่อมเครื่องยนต์ทางการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า บริการเสริมสวย การให้บริการทางการแพทย์ กิจกรรมปลูกหญ้าแฝก/ต้นไม้ และพิธีมอบถังน้ำขนาด 2,000 ลิตร จำนวน 70 ถังให้กับชุมชน เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งของ จ.ราชบุรี
...
ทั้งนี้ ในการนี้ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก.ได้จัดนิทรรศการความสำเร็จการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยมีตัวอย่างชุมชน 3 พื้นที่ ที่ประสบผลสำเร็จในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การบริหารจัดการแหล่งน้ำ
และการจัดการคุณภาพน้ำ ได้แก่ ชุมชนบ้านห้วยปลาหลด ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ประสบผลสำเร็จในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และฟื้นฟูป่าอย่างยั่งยืนเมื่อประมาณ 60 ปีก่อน ชาวมูเซอดำได้ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่บ้านห้วยปลาหลด อ.แม่สอด จ.ตาก ชาวมูเซอเกือบทั้งหมู่บ้านทำมาหากินโดยปลูกและค้าฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย ทำให้ป่าเสื่อมโทรม ดินเสื่อมสภาพ และเกิดความแห้งแล้ง ซึ่งเป็นผลจากการขาดความรู้และไม่เห็นความสำคัญของป่า
จนกระทั่งเมื่อเดือน ม.ค. 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยปลาหลดและมีพระราชกระแสให้ชุมชนปลูกต้นไม้พันธุ์ต่างๆ เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านหันมาปลูกพืชผักหลากหลายชนิด ที่สร้างรายได้ทดแทนฝิ่น เช่น ฟักแม้ว หรือมะระหวาน ซึ่งให้ผลผลิตตลอดปี และปลูกกาแฟผสมในพื้นที่ป่า นำไปสู่การดูแลรักษาป่า โดยชุมชนร่วมกันฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ปลูกพืชเสริมพื้นที่ป่า แบ่งขอบเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า กำหนดระยะเวลาเก็บผลผลิตในป่า ให้ป่าฟื้นฟูตัวเอง รวมถึงทำเกษตรผสมผสานหลากหลายประเภท ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี และนำส่งขายในตลาดมูเซอ ซึ่งเป็นแหล่งรองรับผลผลิตการเกษตรของชุมชนโดยตรง ปัจจุบันพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 14,500 ไร่ มีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่านานาชนิด เช่น นกป่า เก้ง ลิง เขียดแลว และชุมชนยังมีรายได้จากพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ หน่อไม้ ลูกเนียง มะขามป้อม ฟักแม้ว โดยนำไปขายที่ตลาดมูเซอ สร้างรายได้เฉลี่ยเดือนละ 20,000-35,000 บาทต่อครัวเรือน
สำหรับชุมชนบ้านกุดใหญ่ ต.หนองเต็ง อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการแหล่งน้ำ กันแนวเขตและรักษาพื้นที่หนองน้ำสาธารณประโยชน์ และปรับแนวคิดการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ชุมชนแห่งนี้ ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและน้ำท่วมขังมาเป็นระยะเวลานาน และอ่างเก็บน้ำหนองกุดใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญในเขตพื้นที่บ้านกุดใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียง จากเดิมมีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ประสบปัญหาตื้นเขิน เกษตรกรบุกรุกพื้นที่ เนื่องจากขาดระบบกระจายน้ำสู่พื้นที่การเกษตรอย่างทั่วถึง เหลือพื้นที่ใช้ประโยชน์เพียง 200 ไร่ ต่อมาในปี 2557 มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กองทัพบก สภาเกษตรกร จ.บุรีรัมย์ เทศบาล ต.หนองเต็ง และประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันสำรวจ ปรับปรุงแหล่งน้ำ และเสริมโครงสร้างน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำบ้านกุดใหญ่ ต.หนองเต็ง อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ จนสามารถเป็นแก้มลิง ใช้กักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลาก บรรเทาปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง มีผู้ได้รับประโยชน์ 1,500 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่เกษตรประมาณ 10,000 ไร่
...
นอกจากนี้ชุมชนยังได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำในพื้นที่ โดยส่งเสริมและสร้างกลุ่มตัวอย่างของการทำเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ 20 ครัวเรือน เปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแบบผสมผสานชุมชน
ขณะที่บ้านศาลาดิน ต.มหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ซึ่งประสบผลสำเร็จในการจัดการคุณภาพน้ำ ฟื้นฟูคลองสาธารณะ สร้างมูลค่าเพิ่มจากผักตบชวาชุมชนนี้ ประสบปัญหาการขยายตัวของเมือง คลองมหาสวัสดิ์ที่เคยใช้เป็นเส้นทางสัญจรในอดีตไม่ได้รับการดูแล เกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำเสีย วัชพืชหนาแน่น มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้เข้ามาสนับสนุน ทั้งด้านเครื่องมือ การให้ความรู้ และร่วมกันแก้ปัญหา ชุมชนได้เรียนรู้ถึงวิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้เหตุและผลตามหลักวิทยาศาสตร์ ได้เรียนรู้วิธีการทำแผนที่ การใช้ GPS และแผนที่วางแผนแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนอย่างเป็นระบบ ชาวบ้านได้ร่วมกันปรับปรุงคุณภาพน้ำและเฝ้าระวังปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ติดตั้งถังดักไขมันครัวเรือน และพัฒนากังหันเติมอากาศในน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันลำคลองและภาพรวมของชุมชนมีความเรียบร้อยสวยงาม หมดปัญหาเรื่องผักตบชวาและน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็นรบกวน ระบบนิเวศในลำคลองต่างๆ ดีขึ้น
ที่ผ่านมาชุมชนยังได้แก้ปัญหาผักตบชวาได้ในระยะยาว โดยการนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำดินพร้อมปลูกผสมผักตบชวา เพื่อแก้ปัญหาของชุมชนและเกิดรายได้ การแก้ปัญหาครั้งนี้ยังทำให้เกิดกองทุนดูแลและจัดการน้ำและมีผลให้เกิดการดูแลรักษาคูคลองอย่างยั่งยืน ผลสำเร็จจากการบริหารจัดการน้ำที่เห็นได้ชัดเจนอีกประการหนึ่งของบ้านศาลาดิน คือ นาบัว พื้นที่ 20 ไร่ สามารถสร้างรายได้ ทั้งรายวัน รายเดือน และรายปี เกษตรกรมีรายได้จากการตัดดอกบัวขายทุกวัน เฉลี่ยวันละประมาณ 2,000 บาท และยังมีรายได้จากปลาที่เลี้ยงในแปลงบัว ปีละไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท รอบคันของแปลงบัวยังปลูกพืชล้มลุก พืชผักสวนครัว เช่น ตะไคร้ กะเพรา โหระพาเตยหอม เพื่อนำไปขายเป็นรายได้รายวันได้อีกไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท
...
นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านชุมชนบ้านหนองตาจอน ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี หนึ่งในชุมชนเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ นำผลผลิตทางการเกษตรมาแสดงภายในงาน ให้เห็นผลสำเร็จที่ได้จากการบริหารจัดการน้ำของชุมชน ที่ร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบาย กักเก็บและการกระจายน้ำสู่พื้นที่การเกษตรในชุมชนจนเกิดความมั่นคงด้านน้ำ เกิดรายได้ และผลผลิตจากการทำเกษตรผสมผสาน 8,000–10,000 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน และรายได้จากการทำนา 12,500 บาท ต่อครัวเรือน ปัจจุบันยังได้ขยายผลความสำเร็จไปสู่ชุมชนข้างเคียง เพื่อนำแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนด้วย.