เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่ “อาสาม” แห่งทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เวียนผ่านอยู่เนืองๆ แต่ก็ไม่ค่อยได้สังเกตหรือมองเท่าใดนัก เพราะหากเป็นช่วงกลางวันจะมองเข้าไปแทบไม่เห็นอะไร แต่ถ้าเป็นกลางคืนจะดูวังเวงเป็นพิเศษ เพราะเห็นแต่ต้นไม้ใหญ่ ผ่านรั้วกำแพงสีเหลือง 

บ้านหลังนี้ถือว่ามีสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นบ้านประจำตำแหน่งของ “นายกรัฐมนตรี” ในฐานะผู้นำประเทศ บ้านรับรองถือเป็นหน้าตาประเทศ แต่เมื่อพลิกดูประวัติศาสตร์ทางการเมืองกลับไม่ค่อยมีนายกรัฐมนตรีคนใดเข้าพำนัก ใช่แล้ว...บ้านที่ “อาสาม ไทม์แมชชีน” กำลังกล่าวถึงก็คือ “บ้านพิษณุโลก” จะด้วยอาถรรพณ์ตามเสียงลือเสียงเล่าอ้าง หรือเพราะไม่ได้รับความสะดวกสบาย เราจะมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน...

เปิดประวัติศาสตร์ “บ้านพิษณุโลก” เรือนพระยา “อนิรุทธเทวา” อายุร่วม 100 ปี

จากประวัติที่ศูนย์ข้อมูลไทยรัฐเก็บไว้ ทราบว่าเจ้าของเดิมบ้านหลังนี้คือ พล.อ.เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา ราชองครักษ์พิเศษ บุตรชายคนเดียวของพระยาอนิรุทธเทวา คือ ทายาทเจ้าของบ้านคนแรกซึ่งมีความผูกพันกับบ้านหลังนี้

จากบันทึกของทายาท ของพระยาอนิรุทธเทวา ระบุว่า...บ้านพิษณุโลก เดิมคือ บ้านบรรทมสินธุ์ เป็นบ้านพระราชทานโดยสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างขึ้นโดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แล้วพระราชทานให้กับมหาเสวกเอก พลตรีพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.พื้น พึ่งบุญ) บุตรชายคนเล็กของพระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ร.ว.ลม้าย พึ่งบุญ) กับ พระนมทัต (คุณหญิงประสิทธิ์ศุภาการ )

...

บ้านพิษณุโลก ก่อสร้างขึ้นโดยช่างชาวอิตาลี เมื่อปี 2465 หรือ 94 ปีที่แล้ว ซึ่งช่างผู้นี้เป็นช่างคนเดียวกับที่เคยสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่ง บ้านบรรทมสินธุ์ มีพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ ประกอบด้วย ตึกนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นตึกประธาน และ มีตึกบริวาร เช่น ตึกเย้าใจ เรือนคู่ใจ เรือนณรงค์ เรือนกลัมพากร และ โรงรถเดิม เรียงรายกันไป โดยมีการจัดสวนและสระน้ำขนาดใหญ่แบบธรรมชาติ โดยมีสวนป่า “เขาดิน” ภูเขาจำลองขนาดย่อม มีน้ำตกเล็กๆ ไหลริน บนยอดดอยมีศาลเทพารักษ์ “ศาลท้าวหิริญฮู” หรือ "ท้าวหิรัญพนาสูร" ไว้เคารพบูชา

แต่แล้ว ก็ถึงการเปลี่ยนเจ้าของ เมื่อบ้านที่น่าพิสมัยต้องเจอพิษเศรษฐกิจ เจ้าของเดิมจึงนำบ้านบรรทมสินธุ์ ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้เป็นราชสมบัติ แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ตกลงร่วมรบกับญี่ปุ่น และใช้ บ้านบรรทมสินธุ์ เป็นที่รับรอง นายพลโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

19 มิ.ย.2485 ได้มีการแบ่งขายจำนวน 25 ไร่ ในราคา 5 แสน เฉพาะตึกใหญ่และตึกบริวารไปจนถึงธารกำนัล ทางการจึงใช้เป็นที่ทำการประสานงานระหว่างไทยญี่ปุ่นและเปลี่ยนชื่อบ้านบรรทมสินธุ์ เป็น “บ้านไทย-พันธมิตร” กระทั่ง ญี่ปุ่นแพ้สงครามจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านสันติภาพ" และ เมื่อปี 2496 จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีมติให้เปลี่ยนชื่อบ้านเป็น “บ้านพิษณุโลก” ตามชื่อถนน

จากเรือนเก่าแก่...ย่างก้าวไปสู่การเมือง กระทั่งเป็นที่ พำนัก “นายกรัฐมนตรี”

ต่อมา รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้ทำการบูรณะ โดยให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ให้กรมทหารช่างที่ 11 ของกองทัพบกเข้ามาตกแต่ง แต่หลังจากซ่อมแซมอยู่นาน คนที่ได้เข้ามาอยู่กลับเป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้ย้ายเข้ามา ปรากฏว่า ชาวบ้านต่างก็จับตาว่า นายกฯ เจ้าของฉายา “เตมีย์ใบ้” ที่ปกติไม่ค่อยได้ให้สัมภาษณ์นักข่าว ก็ได้พำนักอาศัยเพียง 7 คืน จากนั้นก็กลับไปนอนที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ตามเดิม ทำให้เสียงร่ำลือยิ่งหนาหูมากขึ้น

...

ต่อมา ถึงคิวสมัยของ นายอานันท์ ปันยารชุน ท่านแสดงเจตจำนงชัดเจนว่าจะไม่เข้าไปอยู่ กระทั่งนายชวน หลีกภัย สมัยแรก ก็ยังไม่เข้าพำนัก แต่ก็ใช้ประชุมแกนนำรัฐบาล ครั้งสำคัญๆ เป็นครั้งคราว

นายบรรหาร ศิลปอาชา ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร กระทั่ง มาถึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีรายงานว่าได้ใช้งบประมาณกว่า 8 ล้านบาทในการบูรณะซ่อมแซม และที่นี่เอง คือ สถานที่ประชุมลับ เพื่อเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท แต่เกิด “ข่าวรั่ว” ไปถึงหูนักธุรกิจใหญ่ ทำให้มีหลายคนรวยอู้ฟู่แบบทันตาเห็น!

...

จากนั้น ผู้มาเยือนก็เป็นคนเก่า อย่าง นายชวน หลีกภัย ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2 ครานี้ “นายหัวชวน” ได้มาพักอาศัยอยู่สักพักใหญ่ เพราะที่บ้านซอยหมอเหล็งได้มีการซ่อมแซม ทำให้นักข่าวยุคนั้นค่อนข้างฮือฮาถึงกับตามไปเก็บภาพ นายหัวชวน ออกมาวิ่งรอบบ้านช่วงเช้า จนมีข่าวลือต่างๆ นานา ว่านายหัวชวนเจออาถรรพณ์ แต่เมื่อนักข่าวถามไถ่ นายหัวชวน จะไม่ตอบเพราะไม่เชื่อเรื่องแบบนี้

กระทั่งเข้าสู่ยุค “ทักษิณ ชินวัตร” เรืองอำนาจ บ้านพิษณุโลก ถูกใช้รับรองแขกจากนานาชาติ และมีการแวะเวียนของบุคคลกลุ่มต่างๆ เข้ามาหา เช่น "มหาจำลอง" พลตรี จำลอง ศรีเมือง ผู้นำพา ทักษิณ เข้ามาเล่นการเมือง นอกจากนี้ ยังมี นายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ต่อมากลายเป็น แกนนำ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคนอื่นๆ อีกหลายคน 

กระทั่งเข้าสู่ยุคของ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เข้ามามีอำนาจ บ้านหลังนี้ก็ไม่ค่อยได้ใช้การ เพราะมีการประชุมค่ายทหารแทน...ส่วน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ค่อยได้มีเวลาใช้ เนื่องจากปัญหา (ม็อบ) รุมเร้า ส่วนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รายต่อมา ก็ใช้เป็นที่รับรองแขกจากต่างประเทศ กระทั่งถึงคิว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของนายกฯ ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ค่อยได้ใช้ เนื่องจากกำลังซ่อมแซมอยู่

...

เรื่องเล่าจากอดีตนักข่าวอาวุโส อาถรรพณ์ ผีดุ หรือ สถานที่ไม่เหมาะแก่การพักอาศัย!

จากการพูดคุยกับ อดีตนักข่าวอาวุโสรายหนึ่ง ได้ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า แทนที่จะพูดแต่เรื่องผีๆ สางๆ แต่หากให้มองถึง "ความพร้อม" ในการ "อยู่อาศัย" ของบ้านพิษณุโลก ก็นับว่าไม่ค่อยเหมาะเท่าใดนัก

อดีตนักข่าวอาวุโส ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่นายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่ไม่เข้าพำนัก เพราะบ้านพิษณุโลก เป็นบ้านเปล่าๆ ไม่มีอุปกรณ์ เครื่องเรือน สำหรับอาศัย อีกอย่าง คือลักษณะ เป็นเรือนรับรองขนาดเล็ก ยิ่งเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้หญิง ยิ่งไม่สะดวกในการที่จะอาศัยในบ้านหลังดังกล่าว เพราะถ้าจะไปคงต้องไปทั้งองคาพยพ ความจริงบ้านหลังนี้ ก็คือบ้านรับรองแขก ไม่สามารถมาพักอาศัยได้

“ยอมรับว่าลักษณะบ้านดูค่อนข้างน่ากลัว มีต้นไม้เยอะ ยิ่งเป็นเวลากลางคืนเมื่อมองเข้าไปจะดูวังเวง นอกจากนี้ สภาพบ้านยังเป็นบ้านไม้ เวลาเดินก็จะมีเสียงดัง กึก กึก โดยเฉพาะชั้น 3 ซึ่งเอาไว้เก็บของโบราณ อย่างไรก็ตาม ก็มีกลุ่มข้าราชการ เจ้าหน้าที่ยานพาหนะ ได้เข้าไปอาศัย แต่ก็ไม่ได้อาศัยที่ตัวเรือนหลักซึ่งเป็นบ้านเจ้าของ แต่เขาจะนอนในเรือนบริวาร โดยคนเหล่านี้มีหน้าที่ดูแลบ้านพิษณุโลก ส่วนตัวเรือนที่เป็นบ้านเจ้าของอยู่ใกล้สระน้ำนั้น ไม่ค่อยมีใครกล้าเข้าไปอยู่ เพราะน่ากลัว พวกฝ่ายยานพาหนะ เขาก็บอกว่า ไม่กล้าอยู่หรอก เขากวน”

นักข่าวอาวุโส รายเดิม คาดการณ์ว่า แต่ละปีต้องใช้งบประมาณในการดูแลหลักล้าน เพราะมีค่าตัดหญ้า ดูแลสวน บูรณะซ่อมแซม ปัจจุบัน ใช้เป็นสถานที่เก็บรถที่ไม่มีที่จอดในทำเนียบ เช่น รถบางคันใช้ไม่ได้ก็จะไปเก็บที่บ้านพิษณุโลก เรียกว่า บ้านหลังนี้ไม่ค่อยได้ใช้อะไร ถ้าจะรับรองคนระดับผู้นำส่วนใหญ่เขาจะใช้โรงแรมมากกว่า มีบ้างที่จะใช้ประชุม

“กรมศิลปากร” เร่งบูรณะ เจ้าหน้าที่อาศัยมา 30 ปี  ลั่น "ไม่เคยเจออะไร...!"

ขณะเดียวกัน “อาสาม” ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจบ้านพิษณุโลก พบว่า ปัจจุบันกำลังมีการบูรณะซ่อมแซมอยู่ จึงได้เข้าสอบถามกับ “บุญถิ่น แปนเมือง” เจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ดูแลรักษาความปลอดภัยหน้าประตูบ้านพิษณุโลก จึงได้พูดคุยกันเล็กน้อย โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปด้านใน เพราะบ้านหลังนี้เป็นบ้านส่วนบุคคล ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

บุญถิ่น เล่าให้ฟังว่า เขาประจำอยู่ที่บ้านหลังนี้มากว่า 30 ปี เห็นคนเข้าออกเป็นนักการเมืองชื่อดังมากมาย นักธุรกิจก็มี ผู้นำชาติอื่นๆ ก็มีมาแล้ว บุญถิ่น ยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “ผมอยู่มา 30 ปี ไม่เคยเจอเรื่องอาถรรพณ์ หรือ ผีสางแต่อย่างใด” แต่การที่เขาไม่เจอ ก็ไม่ได้แปลว่าคนอื่นจะไม่เจอ

“ที่ผ่านมา มีเสียงร่ำลือเยอะ เสียงม้าร้อง ม้าวิ่ง เชื่อว่ามาจากรูปปั้นม้าทองแดง สนามหญ้าหน้าบ้าน นอกจากนี้ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ก็มีวัยรุ่นในสภาพเมาๆ เข้ามาเจอผู้หญิงชุดไทย ซึ่งตรงนี้ไม่รู้เป็นเพราะผีหลอก หรือ เพราะความเมากันแน่ นอกจากนี้ ภายในยังมีศาลเจ้าพ่อหิรัญ (ท้าวหิรัญพนาสูร) บางครั้งจะมีตำรวจมีไหว้ขอพรให้ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง หรือ นักการเมืองก็มาไหว้ขอพรกัน” เจ้าหน้าที่หนุ่มใหญ่เล่าให้อาสาม ฟัง

อย่างไรก็ดี สถานที่แห่งนี้ นับเป็นสมบัติล้ำค่าที่ตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น นายกรัฐมนตรี ส่งต่อให้ นายกรัฐมนตรี ถ้าจะปล่อยทิ้งไว้ เสียงบประมาณบูรณะซ่อมแซมโดยไม่ทำอะไรเลยก็ดูน่าเสียดาย อาสามฯ จึงสอบถามไปยัง พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ก็บอกว่า ตอนนี้กำลังบูรณะซ่อมแซม โดยกรมศิลปากร บ้านพิษณุโลกหลังนี้มีไว้ใช้รับรองแขก ส่วนใหญ่จะไม่ใช้พักอาศัย เมื่ออาสามฯ ถามว่า ที่ผ่านมาก็เคยมีนายกรัฐมนตรีมาอาศัย พล.ต.สรรเสริญ จึงกล่าวแบบติดตลกว่า แล้ว “คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้ามาอยู่หรือไม่...?” อันนี้ก็คงแล้วแต่ท่านนายกฯ ลุงตู่แล้วล่ะ? แต่เมื่อหันมาถามกรมศิลป์ฯ ก็ได้รับคำตอบว่าควรไปถามสำนักนายกรัฐมนตรีมากกว่า เพราะกรมศิลป์มีหน้าที่ซ่อมแซมเท่านั้น...!

อาสาม ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

  • สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ