ประเทศไทยของเราเต็มไปด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในความทรงจำ โดยหนึ่งในที่ประทับของเจ้านายหลายพระองค์ ที่อบอวลไปด้วยเรื่องราวความรักความผูกพันของพระราชวงศ์ชั้นสูงก็คือ “วังสระปทุม”
เพื่อสืบสานตำนานแห่งพระตำหนักเปี่ยมรัก “เดอะวิสดอม ธนาคารกสิกรไทย” จัดกิจกรรม “THE WISDOM Heritage : Exclusively visit Queen Savang Vadhana Museum and Exhibition” ณ วังสระปทุม พาเหล่าสมาชิกวิสดอมไปร่วมย้อน รำลึกถึงเรื่องราวความรักความผูกพันที่อบอวลอยู่ในพระตำหนักนี้ โดยมี “คุณชวลี อมาตยกุล” รองราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์
“วังสระปทุม” เป็นพระตำหนักที่ประทับของ “สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” ตั้งแต่ พ.ศ. 2459 ตราบจนเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2498 โดยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชนนีคือ เจ้าจอมมารดาเปี่ยม เป็นพระเจ้าลูกเธอองค์ที่ 60 ในจำนวนพระราชโอรสพระราชธิดา 82 พระองค์ อย่างไรก็ดี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดที่ดินผืนนี้มาก และมีพระราชดำริสร้างวังเป็นที่ประทับกับพระราชโอรสในบั้นปลายพระชนม์ชีพ ระยะแรกโปรดเกล้าฯให้สร้างเรือนพลับพลาเป็นที่ประทับชั่วคราว และพระตำหนักเขียวเป็นที่ประทับหลัก ต่อมาใน พ.ศ. 2456 โปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักใหญ่ และหมู่เรือนภายในวังสระปทุม เพื่อเป็นที่ประทับตราบจนเสด็จสู่สวรรคาลัย
...
“คุณชวลี” บอกเล่าเพิ่มเติมว่า นอกจาก “วังสระปทุม” จะเป็นพระตำหนัก ที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ยังเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ในเวลาต่อมา เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “วังสระปทุม” ให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นแหล่งศึกษาพระราชกรณียกิจอย่างสมบูรณ์ ครบถ้วน ตามพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระตำหนักแห่งนี้ ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญอันเป็นมงคลยิ่งในประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จ พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) เสด็จกลับจากต่างประเทศ ก็ได้มาประทับ ณ วังสระปทุม และโปรดเกล้าฯให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระองค์กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครั้งยังทรงเป็น “นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฎ” ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2463 โดยได้รับพระราชทานน้ำสังข์จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกสำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์ ได้เสด็จฯกลับประเทศไทย พร้อมสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระราช โอรสพระราชธิดา “สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” ทรงยกพระตำหนักใหญ่พระราชทานเป็นที่ประทับ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยและทรงลงพระนามในสมุดพระทะเบียนราชาภิเษกสมรส ณ ห้องพิธี พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม โดยมีสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นประธานประกอบพระราชพิธี
...
แม้กาลเวลาล่วงมาเกือบ 100 ปีแล้ว “พระตำหนักวังสระปทุม” ยังคงงดงามด้วยสถาปัตยกรรมอันล้ำค่า และตราตรึงด้วยสายใยความรักความผูกพันของเจ้านายหลายพระองค์ที่อบอวลอยู่ในความทรงจำ.