มีรายงานข่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (อังคารที่ 29 มีนาคม) กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และช่วยเหลือบุคลากรภาครัฐ ด้วยการแจกเงินให้ในจำนวนต่างๆ

ตามวิธีการและเงื่อนไขต่างๆเช่น ในกรณีข้าราชการจะเสนอให้เพิ่มเงินค่าครองชีพข้าราชการตั้งแต่ระดับซี 7 ลงไปจนถึงลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราว ได้รับค่าครองชีพคนละ 1,000 บาท โดยกรมบัญชีกลางจะจ่ายเงินเข้าบัญชีให้เพียงครั้งเดียว ซึ่งจะใช้เงินทั้งสิ้น 1,570 ล้านบาท

สำหรับประชาชนในระดับฐานรากนั้น กระทรวงการคลังจะเสนอให้เปิดจดทะเบียนคนจนผ่านคลังจังหวัด ผ่านธนาคารออมสิน ผ่าน ธ.ก.ส. โดยกำหนดให้ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 300 บาทต่อวัน หรือเดือนละ 9,000 บาท เป็นคนจนที่สมควรแก่การได้รับความช่วยเหลือตามนัยนี้

จากนั้น กระทรวงการคลังจะจ่ายเงินให้ครบทุกราย โดยระบบ e-payment และจะจ่ายให้คนละ 1,000 บาท เช่นกัน

เงินทั้งหมดที่จะนำมาใช้เพื่อการนี้ เป็นเงินที่กรมบัญชีกลางประหยัดมาได้จากการเปิดประมูลประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ของโครงการต่างๆภาครัฐ ทำให้มีเงินเหลือถึง 30,000 กว่าล้านบาท

กระทรวงการคลังจึงมีความประสงค์ที่จะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการให้ค่าครองชีพแก่ข้าราชการ และคนยากจนดังกล่าว

ผมเป็นคนที่ไม่ชอบให้รัฐบาลแจกเงินแก่ใครต่อใครได้ง่ายๆ และจะคัดค้านทุกครั้งที่มีข่าวการแจกเงินในลักษณะนี้

เหตุผลข้อแรกเพราะเงินที่จะนำไปแจกนั้นเป็นเงินที่ได้มาจากภาษีอากร ซึ่งเป็นหยาดเหงื่อของประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ทำงานมีรายได้ และทำหน้าที่เป็นพลเมืองดีเสียภาษีให้รัฐ

ถึงแม้จะบอกว่าเงินที่จะแจกคราวนี้เป็นเงินที่ประหยัดได้ถึง 30,000 ล้านบาท แต่ก็เป็นการประหยัดจากภาษี หรือหยาดเหงื่อของประชาชนนั่นเอง

...

จึงควรที่จะนำมาใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและส่วนรวมที่เป็นชิ้นเป็นอันมากกว่านี้

หากจะนำมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะเมื่อถึงคราวเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลควรจะจ่ายเงินกระตุ้นลงไปบ้าง

แต่ก็ควรจะเลือกวิธีกระตุ้นที่เหมาะสม และมั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์ในการทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือฟื้นฟูขึ้นได้อย่างแท้จริงเท่านั้น

ผมชอบวิธีกระตุ้น...ด้วยโครงการใหญ่ๆ ที่มีการจ้างงานเยอะๆ อย่างที่สหรัฐอเมริกาเคยใช้เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการสร้างเขื่อนฮูเวอร์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวคิดของลอร์ด เคนส์

เป็นการกระตุ้นที่ได้ผลทั้งทำให้คนมีงานทำมีรายได้ จึงนำเงินออกมาใช้จ่ายก่อให้เกิดการหมุนเวียน...เสร็จแล้วก็จะได้เขื่อนไว้สร้างประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าระยะยาว 1 เขื่อน ปัจจุบันก็ยังผลิตไฟฟ้าได้และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทำรายได้อย่างต่อเนื่อง

ผมจึงอยากเห็นรัฐบาลเอาเงินที่ประหยัดได้ 30,000 กว่าล้านบาท ที่ว่าไปใช้ประโยชน์ในลักษณะนี้บ้าง

ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเอาไปสร้างเขื่อน แต่สร้างอย่างไรก็ได้ที่เป็นสาธารณสมบัติก่อให้เกิดสาธารณประโยชน์ที่จะใช้ร่วมกันทั้งในวันนี้ และต่อไปในวันข้างหน้า

ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีแจกเงิน เพราะจะเป็นการสร้างความเคยตัวให้แก่ผู้รับแจก จะทำให้มีความรู้สึกว่าอยู่เฉยๆก็ได้เงิน ไม่ต้องทำอะไรก็ได้เงิน ซึ่งจะทำให้ขาดความกระตือรือร้น

ที่สำคัญในทางเศรษฐกิจการกระตุ้นด้วยการแจกเงินแม้จะเพิ่มการใช้จ่ายด้านการบริโภคได้ก็จริง แต่เป็นการเพิ่มแค่วูบเดียวเท่านั้น จึงไม่ควรที่จะนำมาใช้บ่อยเกินไป

บ้านเราใช้มาหลายรอบแล้วครับ แจกกันมานับครั้งไม่ถ้วน มาแจกอีกคราวนี้จะกลายเป็นตำนํ้าพริกละลายแม่นํ้าไปเสียเปล่าๆ

การลงทะเบียนคนจนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การคัดกรองว่าใครเป็นคนยากจนจริงหรือยากจนไม่จริงแต่แกล้งจนเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือจะทำด้วยความลำบาก

คงจะเคยได้ยินคำว่า “ยากจน” กับ “อยากจน” กันมาแล้ว พอถึงเวลาที่จะมีการทำอะไรเพื่อช่วยคน “ยากจน” จะมีคน “อยากจน” หรือแกล้งทำเป็นจนมาขอรับประโยชน์ด้วยมากมาย

หวังว่า ครม. คงจะพิจารณากันอย่างรอบคอบว่าควรจะอนุมัติหรือไม่? ท่านรัฐมนตรีฝ่ายสังคมฝ่ายวัฒนธรรมที่เข้าใจคำว่า “ศักดิ์ศรีมนุษย์” และเห็นว่าการแจกเงินเป็นการทำลายศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์...ช่วยผมค้านด้วยนะครับ.

“ซูม”