(ภาพ: AFP)
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เผยแพร่รายงานประจำปีเมื่อ 21 มี.ค.ว่า เดือน ม.ค.และ ก.พ.ปี 2559 อุณหภูมิโลกพุ่งสูงที่สุด ทำลายสถิติเดิมทั้งหมด พร้อมทั้งเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกที่เป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อนทวีขึ้นในอัตราที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยอุณหภูมิโลกเดือน ก.พ. ปีนี้สูงที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกในยุคใหม่ คือสูงขึ้นเฉลี่ย 1.21 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20
รายงาน WMO มีขึ้นหลังเคยระบุว่าอุณหภูมิโลกปี 2558 สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ และว่าอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นต่อไปเป็น “ภาวะปกติใหม่” ชาวโลกไม่ควรนิ่งนอนใจแม้จะมีข้อตกลงด้านสภาพอากาศโลกที่กรุงปารีสปีที่แล้ว ด้านผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ตีพิมพ์ในวารสาร “ภูมิศาสตร์ธรรมชาติ” ระบุว่า อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนยุคนี้สูงถึง 10,000 ล้านตันต่อปี สูงที่สุดในรอบ 66 ล้านปีตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ ทำลายสถิติเก่าเมื่อ 56 ล้านปีก่อน ซึ่งมีอัตรา 1,100 ล้านตันต่อปี
“วอเตอร์ เอด” องค์กรการกุศลระหว่างประเทศ เผยแพร่รายงานเมื่อ 21 มี.ค.ว่า อินเดียมีประชากรที่ยังไม่เข้าถึงน้ำสะอาดมากที่สุดในโลกถึง 75.8 ล้านคน หรือราว 5% ของประชากรทั้งประเทศ 1,250 ล้านคน ซึ่งต้องซื้อน้ำในราคาแพง หรือใช้น้ำผ่านท่อประปาปนเปื้อนสิ่งสกปรกหรือสารเคมี โดยชาว อินเดียจำนวนนี้มีสัดส่วนกว่า 10% จากทั้งหมด 650 ล้านคนทั่วโลกที่ไม่มีน้ำสะอาดใช้ และมีมากกว่าประเทศใดๆในแอฟริกาหรือในจีนที่มี 63 ล้านคน.