กรธ.ล้อมคอกสกัดคนไม่ดีร่วมวง ครม. ตั้งเงื่อนไขเพิ่มว่าที่ รมต.ต้องสุจริตชัดเจนไม่มีปัญหาจริยธรรม เล็งตั้งหน่วยงานใหม่ เปิดช่องทางพิเศษรับร้องเรียนสอบ รมต.ทุจริต-ปมจริยธรรม ยกเลิกกรอบเวลาเฟ้นนายกฯภายใน 30 วัน หลังเปิดประชุมสภาฯ เลือกนายกฯเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง พรรคการเมืองต้องรวมเสียงใหม่ ถ้าไม่ได้ถึงขั้นต้องยุบสภา “บิ๊กตู่” หงุดหงิดคนไทยรู้จักแต่สิทธิเสรีภาพ จี้บรรจุหน้าที่พลเมืองลงใน รธน. มติ ป.ป.ช. 7 ต่อ 2 เลือก “วัชรพล” นั่งประธาน ป.ป.ช. “บิ๊กกุ้ย” ปัดวุ่นใบสั่ง คสช.ส่งมาเป็นตัวแทนกุมบังเหียน “ปรีชา” ติงสังคมจ้องตาเขม็ง อย่าทำอะไรตามอำเภอใจ “ประวิตร” ซัดสื่อมโนไปเอง คสช.ล็อบบี้ กกต.สั่งฝ่ายกฎหมายฟ้องหมิ่นฯ “ภุชงค์” กล่าวหามีผลประโยชน์ทับซ้อนพิมพ์บัตรเลือกตั้ง

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เร่งกำหนดบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมกำหนดคุณสมบัติบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรี ต้องมีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์และไม่มีปัญหาเรื่องจริยธรรม พร้อมเปิดช่องให้ผู้ที่พบเห็นกรณีไม่สุจริตหรือปัญหาด้านจริยธรรมของรัฐมนตรี ยื่นร้องเรียนต่อหน่วยงานที่จะตั้งขึ้นใหม่ได้ด้วย

กรธ.ตั้งเงื่อนไข รมต.ต้องสุจริต–ไร้ราคี

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 15 ธ.ค.ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาหมวดคณะรัฐมนตรี (ครม.)โดยนายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กรธ.ได้พิจารณาจำนวนครม.ให้มีรัฐมนตรี 35 คน และให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกตามสูตรเดิมของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยคุณสมบัติของผู้เป็นรัฐมนตรีเบื้องต้นยังคล้ายกับรัฐธรรมนูญ 50 แต่ กรธ.วางเงื่อนไขเพิ่มว่าต้องเป็นผู้มีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีปัญหาเรื่องจริยธรรม เพื่อเป็นเกณฑ์ให้นายกฯพิจารณาเพื่อเป็นหลักให้สังคมยอมรับ ไม่ใช่เอานายบ่อนหรือคนไม่ดีเข้ามาบริหาร นอกจากนี้ในกรณีที่รัฐมนตรีถูกตรวจสอบพบว่าไม่สุจริต มีปัญหาด้านจริยธรรม สามารถให้ผู้ที่พบเห็นร้องเรียนต่อหน่วยงานที่ กรธ.จะกำหนดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการให้พ้นจากตำแหน่งได้ ยืนยันว่า กรธ.กำหนดให้ ส.ส.สามารถเป็นรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องลาออกจากตำแหน่ง

...

ยกเลิกกฎเฟ้นนายกฯให้ได้ใน 30 วัน

นายอุดมกล่าวอีกว่า ขณะที่เรื่องของนายกฯกำหนดให้ต้องเลือกนายกฯผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และเพื่อให้สอดคล้องกับกรณีที่ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกฯจำนวน 5 รายชื่อนั้น จึงได้กำหนดเกณฑ์ว่า พรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อให้สภาผู้แทนฯโหวต ต้องได้จำนวน ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เสียงโหวตของสภาฯยึดเกณฑ์เดิมคือ เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนฯ ทั้งนี้ กรธ.ได้ตัดประเด็นที่เคยกำหนดในรัฐธรรมนูญ 50 ที่กำหนดว่า เมื่อพ้น 30 วันนับจากการเปิดประชุมสภาฯเพื่อเลือกนายกฯแล้ว ไม่มีผู้ใดได้รับเลือกด้วยเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนฯ ให้ประธานสภาฯทูลเกล้าฯชื่อบุคคลผู้ได้รับเสียงข้างมาก เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็น และหากคนที่เป็นนายกฯไม่ได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง อาจมีปัญหาต่อการยอมรับในสภาได้ ดังนั้นหากเกิดกรณีเสียงไม่ถึงเกณฑ์เกิดขึ้น พรรคการเมืองต้องไปหาเสียงมาให้ได้ หากทำไม่ได้ในระยะเวลาหนึ่งอาจต้องยุบสภา

“เสรี” ชง 6 ข้อพลิกโฉมการเมืองไทย

เมื่อเวลา 15.00 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท.เพื่อสรุปประเด็นแนวทางการปฏิรูปการเมือง ส่งต่อให้ กรธ.ในวันที่ 21 ธ.ค. โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง เปิดเผยว่า สาระสำคัญ 6 ข้อที่จะเสนอต่อ กรธ. คือ 1.การปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2.การปฏิรูประบบพรรคการเมือง 3.การปฏิรูปการกำกับควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 4. การปฏิรูปการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม 5.การปฏิรูปการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และ 6.การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง กระบวนการทั้งหมดจะเน้นตัดวงจรไม่ให้กลุ่มทุนเข้ามาหาผลประโยชน์กัดกินประเทศเหมือนที่ผ่านมา กมธ.เชื่อว่าจะเป็นการปฏิรูปเพื่อพลิกโฉมหน้าการเมืองไทย

“บิ๊กตู่” จี้ระบุหน้าที่พลเมืองใน รธน.

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวภายหลังการประชุม ครม.ว่า ได้มีโอกาสดูในโทรทัศน์ไม่ว่าจะคณะโฆษกใดๆ แถลงเรื่องรัฐธรรมนูญ ต้องพูดถึง “พลเมือง” และ “ประชาชน” เป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ ต้องมีสิทธิเสรีภาพ แต่หายไปหนึ่งคำคือคำว่า “หน้าที่” หน้าที่พลเมืองสำคัญ ตกลงพลเมืองไม่ต้องมีหน้าที่หรือจะมีแต่สิทธิเสรีภาพเหรอ หน้าที่สำคัญที่สุดคือการเคารพกฎหมาย แล้วจะไม่ยุ่งเหยิงไม่วุ่นวาย รู้ขั้นตอนการบริหารราชการบ้างว่าแต่ละเรื่องเป็นอย่างไร ไม่ใช่ตีรวนทุกเรื่องไม่ได้ ต้องดูความตั้งใจดูเจตนารมณ์ แล้วมาเสนอแนวคิดต่างๆ ว่าจะเพิ่มตรงนี้อย่างไร ไม่ใช่ล้มมันทุกเรื่อง เมื่อถามว่า เรื่องหน้าที่พลเมืองจะสั่งการไปยัง กรธ.หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ตนไม่ได้สั่งการไปแต่ให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำข้อหารือจาก ครม.ไปประสานงานร่วมกับ กรธ.อีกทีหนึ่ง เราได้หารือกันแล้วว่าควรจะมีเรื่องหน้าที่พลเมืองด้วยเพราะปัญหาหนึ่งคือปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาเรื่องความร่วมมือ ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ส่งผลให้ทำอะไรไม่ได้ จะทำทางทั้งทีติดอยู่ 3-4 ปี กว่าจะทำได้ เพราะไม่ยอมกัน บางทีติดอยู่บ้านหลังเดียว บางที 20 หลัง แต่คนอีก 2,000 คน ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่รู้จะทำอย่างไร เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ตนยังไม่ไปฝืนเลย

อย่าอ้างแต่เสรีภาพอย่างเดียว

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุม ครม.ว่า นายกฯกล่าวในที่ประชุมถึงกระบวนการทำงานของแม่น้ำ 5 สาย ทั้งการร่างรัฐธรรมนูญ หลักการกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะหลักการประชาธิปไตย ที่คนมักจะพูดถึงสิทธิเสรีภาพ แต่ประเทศไทยจะสงบเรียบร้อย ขับเคลื่อนไปข้างหน้า มีความสุขได้ สังคมต้องตระหนักถึงหน้าที่ ความรับผิดชอบที่มีต่ออาชีพ และประเทศชาติ การคิดถึงแต่สิทธิเสรีภาพอย่างเดียว เหมือนเป็นฝ่ายรับอย่างเดียว นายกฯอยากให้สังคมไทยเป็นผู้รับและเป็นผู้ให้ด้วย

หนุนนายกฯต้องรับผิดชอบตอบกระทู้

นายไชยวัฒน์ ไตรยสุนันท์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี กรธ.วางกรอบการควบคุมการบริหารแผ่นดิน กำหนดให้นายกฯต้องมาตอบกระทู้ด้วยตนเองว่า เห็นอย่างยิ่งเพราะเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ก่อนจะขึ้นมาเป็นนายกฯยังต้องขอความไว้วางใจจากสภาฯและแถลงนโยบายต่อสภาฯก่อนเข้าบริหารประเทศ จึงเป็นภาระหน้าที่โดยตรงของนายกฯต่อรัฐสภา แต่ที่ผ่านมาเกิดปัญหาจากนายกฯบางคนไม่ยอมรับการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐสภา มองข้ามการตอบกระทู้ในสภา ทั้งที่เป็นปัญหาของชาวบ้านฝากตัวแทนมาเป็นปากเสียง แต่กลับใช้เสียงข้างมากปกป้องและสร้างระบบองครักษ์พิทักษ์นาย เช่น ถ้ามีมติ ครม.ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส.ส.ต้องถามโดยตรงกับนายกฯ ที่ใหญ่สุดในคณะรัฐบาล

คกก.กลางอิสลามฯขอโควตา ส.ว.

ช่วงบ่าย ที่รัฐสภา พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือต่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อขอให้พิจารณาจัดสรรโควตา ส.ว.ให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการกลางอิสลามฯ โดย พล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าวว่า ขอให้มีตัวแทนที่มาจากการคัดเลือกโดยคณะกรรมการกลางอิสลามฯที่เป็นผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญ เป็นตัวแทนของพี่น้องชาวมุสลิมเข้ามาทำหน้าที่ ส.ว. ที่ผ่านมาคณะกรรมการกลางอิสลามฯ เคยเสนอบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่ง ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก หากเข้าไปทำงานจะช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ได้ แม้ ส.ว.ชุดที่ผ่านมาจะมีผู้นับถือศาสนาอิสลามเข้าไปทำหน้าที่ แต่ไม่ใช่เป็นตัวแทนขององค์กรฯ ที่เชื่อมโยงกับพี่น้องมุสลิมทั่วประเทศ

“วัชรพล” ตีตั๋วซิวประธาน ป.ป.ช.

อีกเรื่อง เมื่อเวลา 09.00 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จ.นนทบุรี มีการประชุม ป.ป.ช.ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 45/2558 ที่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดเดิม 4 คนได้แก่ นายปรีชา เลิศกมลมาศ นายณรงค์ รัฐอมฤต พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กับว่าที่กรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่ 5 คนได้แก่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ หรือบิ๊กกุ้ย พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ และนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร ประชุมเพื่อคัดเลือกตัวประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ มีนายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช.ที่มีอาวุโสสูงสุด ทำหน้าที่ประธานการประชุมชั่วคราว ก่อนเริ่มการประชุม ฝ่ายเลขาธิการ ป.ป.ช.ได้แจ้งกฎเกณฑ์การลงมติคัดเลือกให้ที่ประชุม ป.ป.ช.ทราบว่า จะใช้วิธีลงคะแนนลับ ผู้ที่ได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 5 คะแนนจากจำนวนกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งหมด 9 คน จะได้รับเลือกเป็นประธาน ป.ป.ช. จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเลือกตัวประธาน ป.ป.ช. โดยมีผู้เสนอตัวลงสมัคร 2 คนคือนายปรีชา เลิศกมลมาศ กับ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ที่ประชุมใช้วิธีการลงคะแนนลับ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงมีมติเลือก พล.ต.อ.วัชรพล เป็นประธาน ป.ป.ช.ด้วยคะแนน 7 ต่อ 2

“สถาพร” ถอดใจถอนตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเสียงข้างมาก 7 คนที่เลือก พล.ต.อ.วัชรพลประกอบด้วย ตัว พล.ต.อ.วัชรพลเอง พล.อ.บุณยวัจน์ นายวิทยา นางสุวณา นายสุรศักดิ์ โดยมีคะแนนเสียงจากกรรมการ ป.ป.ช.ชุดเดิมอีก 2 คนช่วยเทคะแนนให้ด้วยคือนายณรงค์ และ น.ส.สุภา ขณะที่เสียงข้างน้อยที่เลือกนายปรีชา ประกอบด้วยตัวนายปรีชาและ พล.ต.อ.สถาพร ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดย พล.ต.อ.วัชรพลก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ขณะที่ พล.ต.อ.สถาพรที่ก่อนหน้านี้ขอเสนอตัวลงสมัครชิงตำแหน่งประธาน ป.ป.ช.ด้วยนั้น ปรากฏว่าเปลี่ยนใจในนาทีสุดท้าย ไม่ขอลงสมัคร เนื่องจากประเมินแล้วเห็นว่าไม่มีเสียงสนับสนุนเพียงพอ จึงหันมาเทคะแนนให้นายปรีชาแทน

ส่งรายชื่อให้ สนช.นำขึ้นทูลเกล้าฯ

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้สำนักงานเลขาธิการ ป.ป.ช.จะนำรายชื่อประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ และว่าที่กรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่ 5 คน ส่งให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 15 ธ.ค. นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

“บิ๊กกุ้ย” ปัดใบสั่ง คสช.ส่งนั่งประธาน

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ว่าที่ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า แนวทางการทำงานของ ป.ป.ช.หลังจากนี้ คงต้องรอกระบวนการโปรดเกล้าฯลงมาก่อน จากนั้นจะเรียกประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อวางยุทธศาสตร์การทำงานของ ป.ป.ช. ซึ่งจะต้องใช้มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ร่วมกัน เพื่อวางแนวทางการทำงาน โดยเฉพาะในระยะสั้นที่มีเรื่องท้าทายมาก เช่น จำนวนคดีที่ค้างอยู่จำนวนมาก จะทำให้ ป.ป.ช.มีความโปร่งใส ส่วนข้อครหาว่า ตนมีที่มาจาก คสช.นั้น ยืนยันว่าไม่ใช่ แม้จะเคยถูกเรียกมาช่วยงานเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ แต่เมื่อตนเห็นโอกาสที่จะมาช่วยงานในมิติอื่น ในฐานะที่เคยผ่านงานมามากมาย จึงมาสมัครเป็น ป.ป.ช. ตนไม่รู้สึกหนักใจที่ถูกตั้งข้อครหา เพราะคิดว่าคนเพียง 1 คน จะไปมีอิทธิพลเหนือคนอีก 8 คนได้อย่างไร มั่นใจว่าการทำงาน ป.ป.ช.จะมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ถือเป็นเรื่องดีที่สื่อมวลชนสนใจตรวจสอบเรื่องนี้ จะช่วยให้การทำงานของ ป.ป.ช. มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

“ปรีชา” เตือนอย่าทำอะไรตามใจชอบ

นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ยอมรับมติที่เป็นไปตามขั้นตอนและกติกา แม้จะแพ้แต่ทำงานร่วมกันต่อไปได้ ไม่มีปัญหา ยินดีที่ได้ร่วมงานกับกรรมการชุดใหม่ 5 คน จะได้มาช่วยสะสางงานในภาวะวิกฤติเช่นนี้ ส่วนข้อครหาว่า คสช.หนุน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน ป.ป.ช.นั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองแต่ละคน ขอให้รอดูผลงานที่จะปรากฏดีกว่า อย่าเพิ่งตัดสินใครเพียงแค่ภาพ กรรมการ ป.ป.ช.ทุกคนเข้าใจดีว่า ต้องถูกจับตามองอยู่แล้ว สังคมจับตาดูอยู่ ต้องทำงานให้เต็มที่ อย่าคิดว่าทำอะไรได้ตามใจ เพราะ ป.ป.ช.สมัยนี้เปิดเผยตรวจสอบได้และถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว คิดเสมอว่าทำงานเพื่อแผ่นดิน ต้องทำงานสุดชีวิต สุดฝีมือ

“สุวณา” ให้เวลาพิสูจน์ฝีมือ

นางสุวณา สุวรรณจูฑะ ว่าที่กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การพบกันเป็นครั้งแรกของกรรมการ ป.ป.ช. 9 คน เป็นบรรยากาศดีมาก ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี เลือกครั้งเดียวจบ ได้คะแนน 7 ต่อ 2 ซึ่ง พล.ต.อ.วัชรพลได้กล่าวขอบคุณที่ประชุมว่า มีความมุ่งมั่นตั้งใจเข้ามาช่วยกันทำงานให้เป็นที่เชื่อมั่น หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกคน ส่วนกรณีถูกมองว่าได้รับแรงสนับสนุนจาก คสช. ขอให้ไปถามเจ้าตัวเอง คิดว่าต้องดูที่ผลการทำงานมากกว่า ต้องใช้เวลาพิสูจน์ มั่นใจว่า ทุกคนมีความมุ่งมั่นในการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

“บิ๊กตู่” โบ้ยคนละนามสกุลกับ “บิ๊กป้อม”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 7 ต่อ 2 เสียง เลือก พล.ต.อ.วัชรพลเป็นประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ ว่า ใครได้เป็น ใครเป็นคนเลือก เมื่อ ป.ป.ช.เป็นคนเลือกต้องไปถาม ป.ป.ช. เมื่อถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นคนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า ใกล้ชิดใคร คลานตามกันออกมาหรือเป็นคนในครอบครัวเดียวกันหรืออย่างไร คนละนามสกุลจะใกล้ชิดได้อย่างไร พล.ต.อ.วัชรพลเป็น ข้าราชการ ตนรู้จักทุกคน ทุกคนทำเพื่อประเทศชาติ ใครจะเป็นอะไรต้องรักกัน เรื่องความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม อย่าไปฟังกระแสให้มาก เพราะจะทำให้ตีกันไปมา แล้วจะทะเลาะกันไม่เลิก