"สามารถ" เกาะติดจัดซื้อระบบกลั่นกรองผู้โดยสารของทอท.ส่อกลิ่นเหม็นฟุ้ง แฉ ทีโออาร์ขัดก.ม. ตั้งราคากลางสูงเกินจริง หวัง "บิ๊กตู่" ที่ถูกอ้างชื่อ จะไม่นิ่ง เร่งแก้ปัญหาตรวจสอบการประมูล...
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.58 นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลังการจัดซื้อระบบตรวจสอบและกลั่นกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (Advance Passenger Processing System หรือ APPS) โดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ (ทอท.) ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงว่า 1. ทีโออาร์ของ ทอท.ขัดต่อกฎหมาย 2. ราคากลางที่ ทอท.กำหนดไว้สูงเกินความเป็นจริง แต่ ทอท.ยังเปิดซองราคาและยอมเซ็นสัญญากับบริษัทผู้รับจ้างไปได้อย่างไร เพราะขัดต่อ พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 มาตรา 4 ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 13 และพ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 24 วรรค 1 รวมทั้งเรื่องราคากลางที่สูงเกินความเป็นจริง
ทั้งนี้ทราบว่า มีการเจรจาต่อรองระหว่าง ทอท. กับบริษัทผู้รับจ้าง ซึ่งสรุปได้ดังนี้ 1. ทอท. มีหนังสือลงวันที่ 16 ม.ค.2558 ถึงประธานกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) มีข้อความตอนหนึ่งว่า "…ทอท.เห็นว่าหาก คตร.จะพิจารณาให้ ทอท.ดำเนินการเปิดซองด้านราคาของผู้เสนอราคาต่อ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดย ทอท.จะเจรจาต่อรองราคาให้ราคาสอดคล้องกับอัตราการเติบโตของผู้โดยสารที่ได้วิเคราะห์ไว้ข้างต้น ทั้งนี้ หากผลการเจรจาต่อรองไม่สามารถลดลงได้ในอัตราร้อยละ 10 ขึ้นไป จากราคา 32 บาท ทอท.จะพิจารณายกเลิกการประมูลต่อไป" บริษัทผู้รับจ้างจึงลดราคาลงเหลือ 27.50 บาทต่อผู้โดยสาร 1 คน หรือลดลงร้อยละ 14 แต่เมื่อคำนวณเป็นค่าจ้างที่บริษัทจะได้รับในช่วง 5 ปี ที่ ทอท.ว่าจ้างบริษัท พบว่า ยังเป็นค่าจ้างที่สูงมากถึง 10,445.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากราคากลาง 7,190.4 ล้านบาท ถึง 45% ชี้ให้เห็นว่า ทอท.พยายามแสดงให้สาธารณชนเห็นว่าได้เจรจาต่อรองให้อัตราค่าบริการของบริษัทผู้รับจ้างต่อผู้โดยสาร 1 คน ลดลงมากกว่าร้อยละ 10 ตามเงื่อนไขที่ตนเองกำหนดไว้ได้แล้ว แต่ไม่ได้กล่าวถึงค่าจ้างที่ ทอท.จะต้องจ่ายจริงซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าราคากลางมาก
...
ส่วนประเด็นที่ ทอท.เสนอว่า หากไม่สามารถเจรจาต่อรองให้บริษัทผู้รับจ้างลดราคาลงได้ในอัตราร้อยละ 10 ขึ้นไป จากราคา 32 บาทต่อผู้โดยสาร 1 คน ทอท.จะพิจารณายกเลิกการประมูลต่อไปนั้น ซึ่งตนเห็นว่า ทอท.ไม่สามารถใช้ราคาค่าบริการต่อผู้โดยสาร 1 คน เป็นเงื่อนไขในการเปิดซองราคาและเซ็นสัญญาได้ เพราะทีโออาร์ของ ทอท.ขัดต่อกฎหมายที่ระบุ ดังนั้น ทอท.จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องยกเลิกการประมูลเท่านั้น และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อบริษัทอื่นที่ซื้อซองประกวดราคาทุกราย แต่ไม่ได้ยื่นซอง เพราะเห็นว่าทีโออาร์มีปัญหา การที่ ทอท.แก้ปัญหาด้วยการตัดข้อความที่ขัดต่อกฎหมายในทีโออาร์ออกหลังจากมีการยื่นซองประกวดราคาแล้ว และเดินหน้าเปิดซองราคานั้น จึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
นายสามารถ กล่าวอีกว่า ต่อจากนั้นในวันที่ 11 ก.พ. 2558 คตร.มีหนังสือตอบ ทอท.ว่า "หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้อนุมัติตามมติคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2558 เห็นชอบให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการเปิดซองพิจารณาด้านราคา รวมทั้งเจรจาต่อรองราคาให้ลดราคาลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 จากราคา 32 บาท
"จึงแปลกใจมากว่า เหตุใด คตร.จึงเห็นชอบตามข้อเสนอของ ทอท. อยากถามว่า เมื่อ คตร.รู้ว่าการประมูลครั้งนี้ มีปัญหาทั้งทีโออาร์และราคากลาง แต่เหตุใดจึงเห็นชอบตามข้อเสนอของ ทอท. โดยให้ ทอท.เดินหน้าเปิดซองราคาหลังจากแก้ทีโออาร์ จึงหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ซึ่งถูกอ้างชื่อ คงจะไม่นิ่งนอนใจที่จะหาข้อเท็จจริงในการประมูลครั้งนี้ เพราะท่านประกาศต่อสังคมไทยว่ามีความมุ่งมั่นที่จะปราบการทุจริตคอร์รัปชันให้ราบคาบ"