สภาเกษตรกรจังหวัดภูเก็ต พร้อมเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดภูเก็ต ยื่นหนังสือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ ไม่เอาปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม GMO ถึง นายกรัฐมนตรี ชี้เป็นการทำลายเศรษฐกิจ สังคม...

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 ธ.ค.ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ต คณะกรรมการสภาเกษตรกรจังหวัดภูเก็ต นำโดยนายสมชาย สกุลชิต ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพร้อมด้วยสมาชิกสภาเกษตรกรและเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดภูเก็ตกว่า 30 คน นำโดยนายสมชาย หยีสัน เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีผ่านนายโชคดี อมรวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมชูแผ่นป้ายข้อความต่างๆ อาทิ ไม่เอา GMO ผู้บริโภคภูเก็ต, ไม่กิน ไม่ปลูก ไม่ขาย Thailand No GMOs, เกษตรนิเวศดีกว่า จีเอ็มโอ, ไม่กินไม่ซื้อ ไม่ปลูก NO GMOs เป็นต้น

ทั้งนี้ นายสมชาย สกุลชิต ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.58 ซึ่งหากร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารความหลากหลายทางชีวภาพ ชีวิตเกษตรกรและเศรษฐกิจการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทยอย่างประเมินค่ามิได้ เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดหลักการ เพื่อควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ แต่รายละเอียดที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติฯ กลับไม่สอดคล้องกับหลักการที่วางไว้ โดยขาดหลักการป้องกันเอาไว้ก่อน รวมทั้งมิได้นำเอาหลักการของพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งเป็นหลักการสากลมาบัญญัติไว้ ทำให้ประเทศไทยต้องรับความเสี่ยงจากการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายเกี่ยวกับการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรและระบบเกษตรกรรมของประเทศอย่างร้ายแรงในอนาคต ดังนั้นสภาเกษตรกรจังหวัดภูเก็ตในฐานะตัวแทนของภาคเกษตรกรรมของจังหวัดภูเก็ตร่วมกับสถาบันเกษตรกร/องค์กรต่างๆ รวมทั้งเครือข่ายของภาคประชาชนในจังหวัดภูเก็ตขอคัดค้านพร้อมทั้งขอให้ชะลอร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยให้มีการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ทั้งขบวนการและเนื้อหา เพื่อให้สามารถป้องกันกิจกรรมเกี่ยวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมไม่ให้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการด้านการเกษตรและอาหาร ผู้บริโภค อํานาจอธิปไตยและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ รวมทั้งเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของรัฐบาล จึงขอเสนอให้มีการดำเนินการดังนี้

...

1. ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เพื่อปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยให้มีตัวแทนจากสถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม กลุ่มผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรสาธารณประโยชน์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ-เกษตรอินทรีย์และนักวิชาการด้านกฎหมายที่ได้ติดตามประเด็นความปลอดภัยทางชีวภาพเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพฉบับนี้ และ/หรืออนุมัติให้มีตัวแทนจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม กลุ่มผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรสาธารณประโยชน์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรอินทรีย์และนักวิชาการด้านกฎหมายที่ได้ติดตามประเด็นความปลอดภัยทางชีวภาพร่วมเสนอความเห็นในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งให้โอกาสเสนอร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพฉบับประชาชน ประกอบการพิจารณาด้วย

2. พิจารณานำข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ-กระทรวงพาณิชย์ไปใช้ประกอบในการปรับปรุงร่างกฎหมายนี้

3. นำหลักการป้องกันไว้ก่อน การคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพและข้อเสนอแนะอื่นที่สำคัญตามข้อเสนอของคณะกรรมการในข้อ 1 เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น