สธ.พัฒนาด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ให้มีคุณภาพตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ โดยเฉพาะบุคลากรด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ ภาษาเมียนมา ตรวจจับโรคได้รวดเร็ว ทั้งนี้รวมถึงจังหวัดชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านอีก 31 จังหวัด...
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.58 ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมด่านควบคุมโรคอำเภอแม่สอด จ.ตาก ว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญในการพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 31 จังหวัด ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ซึ่งมีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยจำนวนมาก เช่น ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี ระนอง เชียงราย อุบลราชธานี สุรินทร์ ตราด สระแก้ว เป็นต้น โดยมีความร่วมมือกันในการควบคุมป้องกันโรคและปัญหาด้านสุขภาพด้านอื่นๆ อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีนี้ที่เป็นปีแห่งประชาคมอาเซียน
สำหรับชายแดนด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก ในปี 2558 มีผู้เดินทางผ่านด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ 1,284,770 ราย เฉลี่ยเดือนละ 107,064 ราย ได้พัฒนาสมรรถนะด่านควบคุมโรครองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด 3 ด้าน ดังนี้ 1. คุณภาพตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ทั้งการประสานงาน การสื่อสารข้อมูลข่าวสาร มาตรการต่างๆ พัฒนาช่องทางเข้า-ออกประเทศ ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ และการแก้ไขเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ 2. พัฒนาบุคลากรด้านการสื่อสาร ภาษาอังกฤษ ภาษาเมียนมา
3. พัฒนาการตรวจจับ โดยใช้เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายอัตโนมัติ (Thermoscan) 4. พัฒนาศูนย์ปฏิบัติการและระบบการสื่อสารในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ เพื่อขจัดหรือป้องกันการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งภัยคุกคามทางสาธารณสุขระหว่างประเทศตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005) ผลการดำเนินงานในปี 2558 ได้มีการสุ่มตรวจเฝ้าระวังโรคในผู้เดินทาง 6,339 คน คัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากเขตติดโรคไข้เหลือง 34 คน จากการดำเนินงานเฝ้าระวังคัดกรองโรค ไม่พบผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ต้องรายงานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และตามประกาศ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองแห่งชาติ
ทั้งนี้ ประเทศไทย-เมียนมา มีความร่วมมือด้านสาธารณสุขตั้งแต่ พ.ศ.2543 โดยกระทรวงสาธารณสุขไทย-เมียนมา ได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเพื่อพัฒนาความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ชายแดนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ล่าสุดปี 2558 นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 ประเทศ ทำแผนปฏิบัติการร่วม พ.ศ.2559-2561 ร่วมมือกันดำเนินการ 7 เรื่อง ได้แก่ การเฝ้าระวังโรค การควบคุมมาตรฐานอาหารและยา การแพทย์พื้นบ้าน การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง การควบคุมโรคติดต่อและโรคติดต่ออุบัติใหม่ โรคระบาดข้ามแดน และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับแรงงานต่างชาติ เน้นแลกเปลี่ยนข้อมูลและพัฒนาบุคลากรร่วมกันใน 4 จังหวัดคู่แฝด ได้แก่ เชียงรายกับท่าขี้เหล็ก ตากกับเมียวดี กาญจนบุรีกับทวาย ระนองกับเกาะสอง
...
ผลความร่วมมือทำให้ผู้ป่วยโรคมาลาเรียชาวเมียนมาลดลงถึงร้อยละ 50 ผู้ป่วยวัณโรคเข้าถึงการรักษาเพิ่มมากขึ้น รักษาหายขาดสูงถึงร้อยละ 80 ผู้ป่วยเอชไอวีได้กินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น.