เรารู้กันแต่ท่านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) นั้น เป็นประธาน การแปลเรื่องสามก๊ก ของจีน เป็นต้นแบบการใช้ภาษาไทย กะทัดรัด หมดจดงดงามนัก...

ที่ไม่ค่อยรู้กัน ในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ.2328 ท่านเจ้าพระยาพระคลังหนคนเดียวกัน เป็นประธานแปล เรื่องราชาธิราช ซึ่งถือเป็นพงศาวดารมอญให้คนไทยได้เรียนรู้

ผมเคยอ่านตอน พระยาน้อยสึกชี หาคนเหมาะเป็นเจ้าเมืองหงสาวดีไม่ได้ ก็นิมนต์พระระดับสมภาร ไปชักนิยาย สวรรค์ในจินตนาการ หรือจะสู้สวรรค์จากสาวสวย ที่นั่งมองเมียงเอียงอายชะม้อยสายตา ตรงหน้า

แล้วพระยาน้อย ก็สึกพระเป็นเจ้าเมืองตะเกิงสมใจ

เรื่องของเมืองหงสาวดี ดูจะนิยมสึกพระเป็นเจ้า ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา เล่าไว้ใน “สำนวนไทยในวรรณคดี” ว่า สมัยหนึ่งตะละนางพระยาท้าว ผู้ครองเมืองหงสาวดี ชื่อแสจาโป ได้ชื่อว่าโฉมงามเลิศล้ำนัก

พระเจ้าอังวะ แมงเรฉะเวกี (มังรายกะยอชะวา) ไปเจรจาสู่ขอไม่ได้ ก็ใช้วิธียกทัพไปจับเอาตัวมาเป็นอัครมเหสี

เวลาผ่านไป ตะละนางพระยาท้าวอายุได้ 50 ปี พระสิริโฉมที่เคยเปล่งปลั่งสดใสก็ลดลง พระเจ้ากรุงอังวะเริ่มคลายเสน่หา ขณะตะละนางพระยาท้าว ก็เบื่อหน่ายอยู่เมืองพม่า นัดแนะลูกเลี้ยงที่บวชเป็นพระอยู่หงสาวดี ให้มาพาหนีกลับครองราชย์หงสาวดี อีกครั้ง

มังรายกะยอชะวา อดีตพระสวามีจากกรุงอังวะ ก็ไม่มาวอแวอะไรด้วย

ต่อมา ตะละนางพระยาท้าว ก็ขอให้พระลูกเลี้ยงสึกออกมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนาม สมเด็จพระเจ้ามหาปิฏกธร เมื่อตะละนาง–พระยาท้าวสิ้นพระชนม์ พระเจ้าหงสาวดีมีความอาลัยเป็นอันมาก ให้จัดการพระศพเป็นงานยิ่งใหญ่

ลองอ่านสำนวนทีมงานท่านเจ้าพระยาพระคลังหน ดูสักตอน... สองตอนพระเจ้าหงสาวดีจึงให้ตั้งขบวนแห่ อัญเชิญพระศพสมเด็จตะละนางพระยาท้าว ลงสู่บุษบกบัลลังก์เหนือหลังเหรา แล้วตรัสสั่งเสนาบดีให้แยกกันเป็นสองพวก จะได้แย่งชิงพระศพอันเป็นผลานิสงส์

...

เสนาบดีทั้งปวงจึงแบ่งกันเป็นสองแผนก พระเจ้าหงสาวดีจึงเสด็จดำเนินด้วยพระบาท ทรงจับเชือกแล้วตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ข้าพเจ้ามีความกตัญญูรู้พระคุณสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยง จึงคิดทำการให้ลือปรากฏไปทุกพระนคร

ถ้าบุญข้าพเจ้าจะวัฒนาการสืบไปแล้ว ขอให้ชิงพระศพ...จงได้มาดังใจคิดเถิด”

ครั้นตั้งสัตยาธิษฐานแล้ว จึงตรัสสั่งให้จับเชือกชักพร้อมกัน

ขณะนั้นเป็นการโกลาหลสนุกยิ่งนัก เสนาบดีและไพร่พลทั้งปวง ก็เข้าแย่งชักเชือกเป็นอลหม่าน พระศพนั้นก็บันดาลได้มาข้างพระเจ้าหงสาวดี เสียงชนทั้งปวงโห่ร้องพิลึกพิลั่นทั้งพระนคร พระเจ้าหงสาวดีทรงพระโสมนัสนัก

ครั้นกาลเสร็จแล้ว พระเจ้าหงสาวดีจึงตรัสว่า เราทำการทั้งนี้เป็นผลานิสงส์สนุกยิ่งนัก แต่นี้ไปใครจะทำศพบิดามารดาผู้มีคุณ ก็ให้ชิงศพ เหมือนเราซึ่งทำไว้เป็นอย่างฉะนี้

จึงได้เป็นประเพณีฝ่ายรามัญ สืบกันมาจนถึงบัดนี้

ประเพณีนี้สืบทอดกันมา จนเกิดสำนวน “แย่งกันเป็นศพมอญ” อาจารย์ศักดิ์ศรีอธิบายว่า ความหมายไม่ลงลึกไปถึงการกตัญญูรู้คุณ แต่ใช้กันตื้นๆแค่การแย่งชิงหรือยื้อกันชุลมุนวุ่นวาย

จะเอาตัวอย่าง ตัวเลือก 200 กรรมการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป 200 คน มาใช้กับสำนวนแย่งกันเป็นศพมอญ ก็คงไม่ได้...เพราะงานนี้ชัดเจน ตัดเกรดเอาอดีต สปช.กลุ่มไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คุณสมบัติ ก็เป็นเช่นที่นายกฯประยุทธ์แย้มไว้ รู้ใช้ คสช.

ส่วน สปช.กลุ่มโลกสวย เอาร่างรัฐธรรมนูญ...กลุ่มรู้ใจ คสช.น้อยไปหน่อย ว่ากันว่าจะได้โควตา 5–10 คน

รวมข้าราชการตัวแทนกระทรวง รวมกลุ่มอดีต 40 ส.ว.เข้าไป ก็คงได้เข้าไปช่วยกันขับเคลื่อน...ได้แข็งขันมากขึ้น

แต่ความจริงนั้น...ถ้ารู้ถ้าเลือกได้ ใครที่เลือกถือเชือกสายศพเจ้า...ก็คงได้ใจไปจากเจ้า...ที่ตั้งท่าแย่งกันเป็นศพมอญนั้น เป็นงานประเพณีตามใบสั่งเจ้า ใครจะมาใครจะไป รู้ทางกันตั้งแต่เริ่ม.

กิเลน ประลองเชิง