สำหรับนักอนุรักษ์และนักท่องเที่ยว ที่ผ่านมามีการพูดถึง 'ปากบารา' กันอย่างมากมาย ครึกโครม ไทยรัฐออนไลน์จะพาไปถอดรหัสความงาม นิเวศมหัศจรรย์ จังหวัดสตูล...
กล่าวสำหรับ ชายฝั่งตะวันตกใต้สุดของประเทศไทย มีชายฝั่งทะเลยาว 144.88 กิโลเมตร ติดพื้นที่ 4 อำเภอ 20 ตำบล 115 หมู่บ้าน มีระบบนิเวศที่น่าทึ่ง ตั้งแต่แนวเกาะไกลสุดเข้ามาจรดชายฝั่ง ประกอบด้วยแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ เกาะน้อยใหญ่ 104 เกาะ ร่องน้ำลึกและสันดอน
ใต้ทะเล จนถึงป่าชายเลน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12.37 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด และวัดความบริสุทธิ์ของธรรมชาติด้วยแหล่งหญ้าทะเลซึ่งมีฝูงพะยูนเข้ามาวนเวียนหากิน ความโดดเด่นของแนวชายฝั่งอีกอย่างคือ เป็นแหล่งหอยปูที่หลากหลาย ที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ หอยตะเภา (ส่งต่างประเทศกิโลกรัมละ 2-3 พันบาท) และ ”ปูทหารปากบารา” ปูสายพันธุ์ใหม่ของโลกซึ่งถูกค้นพบที่นี่
ทะเลสตูล แบ่งเป็นสองระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกันอย่างน่าตื่นใจ ทะเลด้านนอก คือ “หมู่เกาะตะรุเตาและบริวาร” ซึ่งเรียงตัวเป็นกำแพงธรรมชาติรายล้อมเวิ้งอ่าวไปจนจรดน่านน้ำมาเลเซีย ในปี พ.ศ.2525 อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves) ส่วนนิเวศทะเลด้านใน คือ “หมู่เกาะเภตราและชายฝั่งใกล้เคียง” ซึ่งรวมถึงบริเวณเวิ้งอ่าวปากบาราที่ตั้งของท่าเรือท่องเที่ยว กับหมู่เกาะเภตราซึ่งมีเกาะน้อยใหญ่กระจายตั้งแต่เขตอำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ไปจนจรดอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง
...
ระบบนิเวศทั้งสองเป็นเสมือนคู่แฝดสยามที่ทั้งแข่งขันและพึ่งพากัน อ่อนโอนเผื่อแผ่กัน และร่วมกันสร้างสรรค์ปะการังน้ำตื้น ให้กำเนิดปะการังน้ำลึกเจ็ดสี อุทยานสวรรค์ใต้น้ำ และสัตว์น้ำสารพัดรูปทรงสีสัน กระแสน้ำวนได้สร้างหาดหินงาม หาดทรายขาว เกาะหินซ้อน ให้โลกทะเลอันดามันเป็นสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยว ปัจจุบัน หน่วยงานต่างๆ กำลังช่วยกันผลักดันให้อุทยานแห่งชาติฝั่งอันดามันได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก มีอะไรในเวิ้งอ่าวปากบารา
ลึกเข้าไปในแผ่นดิน ยังมีแหล่งโบราณคดีที่ขุดพบซากดึกดำบรรพ์ต่างๆ มากมาย รวมทั้งช้างโบราณสเตโกดอน และฟอสซิลสัตว์น้ำหรือพืชดึกดำบรรพ์ในถ้ำต่างๆ ที่กำลังพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ นักมานุษยวิทยาพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐาน จากกลุ่มชนเร่ร่อนทั้งชาวเลและชาวป่าจนตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชน ซึ่งปัจจุบัน แม้ผู้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็ยังมีประเพณีการละเล่นต่างๆ และการเยี่ยมเยียนไปมาหาสู่ระหว่างกลุ่มและเกาะดังเช่นครั้งโบราณกาล
สำหรับการดำรงชีพของมนุษย์ ทะเลสตูลเป็นแหล่งประมงและแหล่งอาหารที่สำคัญ สัตว์น้ำส่งออกของจังหวัดในปี 2553 มีมูลค่าสูงถึง 108, 661,252.37 บาท โดยปลาไส้ตัน/กะตัก มีมูลค่าส่งออกเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือหอยลาย หอยตลับ กุ้งแชบ๊วย ปลาหางแข็ง ปลาทูลัง และปลาเก๋า ในจังหวัดมีแพปลาเอกชนถึง 163 แห่ง แพปลาชุมชน 6 แห่ง สะพานปลาท่าเทียบเรือ 6 แห่ง โรงงานเล็กและใหญ่ 19 แห่ง
ดังนั้น อาชีพหลักของชุมชนชายฝั่งก็คือการทำประมงพื้นบ้านโดยใช้ “เรือหัวโทง” จับสัตว์น้ำส่งขาย ในฤดูมรสุมเรือเล็กออกห่างฝั่งไม่ได้ก็มีสวนยาง สวนปาล์ม สวนมะพร้าว นาข้าว ให้ทำกิน ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและจำนวนประชากรที่เบาบางอำนวยให้ ชาวบ้านในเวิ้งอ่าวปากบาราตั้งหลักอยู่กันมานานอย่างมีความสุข พอเพียง ไม่เคยเดือดร้อนจนต้องคิดจะอพยพโยกย้ายไปที่อื่น
และแม้ท้องทะเลยังอุดมสมบูรณ์ แต่ชาวบ้านที่นี่ก็พยายามรักษาสมดุลธรรมชาติ เพื่อการทำมาหากินอย่างยั่งยืน เป็นต้นว่า ตั้งกฎระเบียบห้ามใช้ตะแกรงตะกร้ากวาดหาหอยบนหาดทราย ให้ใช้ช้อนขุดเฉพาะตัวที่เติบโตได้ขนาดแล้ว หรือร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ คอยสอดส่องป้องกันเรืออวนลากอวนรุนที่ล่วงล้ำเข้ามา
...
รวมทั้งก่อตั้ง “ธนาคารปู-ฝาก 1 ตัว ดอกผล 100,000 ตัว” ใครจับได้แม่ปูที่ไข่กำลังโผล่ออกนอกกระดอง จะนำมาฝากไว้ 2-5 วัน ให้แม่ปูเขี่ยไข่ออกลูกปูนับแสนๆ ตัว ก่อนรับกลับไปขาย แล้วอาสาสมัครจะนำลูกปูไปปล่อยคืนทะเลเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป แหล่งท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ แม้สตูลไม่มีสนามบินหรือสถานีรถไฟ ต้องอาศัยหาดใหญ่หรือตรังเป็นประตูด่านหน้า แต่ความงามบริสุทธิ์ของโลกทะเลอันดามัน ทั้งหาดทราย หมู่เกาะ และอุทยานใต้ทะเลซึ่งได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 แหล่งดำน้ำชมปะการังที่สวยงามของโลก ก็สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ดั้นด้นไปถึงปีละไม่ต่ำกว่า 6 แสนคน นำรายได้มหาศาลสู่ชุมชนและธุรกิจท้องถิ่น
...
ที่สำคัญธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ไร้มลภาวะและสิ่งก่อสร้างใหญ่โต เป็นพื้นฐานที่ดีเยี่ยมสำหรับการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยและอนุรักษ์ ซึ่งเป็นแนวนิยมใหม่ของโลกที่ภาครัฐสมควรต้องปรับทิศทางนโยบายให้เท่าทัน
แม้รัฐจะขยับตัวช้าและยังคงวัดผลสำเร็จของการท่องเที่ยวด้วยปริมาณมากกว่าคุณภาพ กลุ่มคนในท้องถิ่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยวก็พยายามประคับประคอง ดูแลรักษาเกาะและหาดต่างๆ ให้เป็นสวรรค์อันดามันอย่างยั่งยืน ที่น่าทึ่งก็คือกลุ่ม Reef Guardian ซึ่งเป็นไกด์ท่องเที่ยวทางเรือและไกด์ดำน้ำดูปะการัง รวมตัวกันเป็นอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม คอยดูแลลูกทัวร์ให้ดำน้ำดูปะการังโดยไม่แตะต้องทำลาย ห้ามปรามการหยิบหินหรือเปลือกหอยกลับบ้าน หรือการโปรยเศษขนมปังให้ปลาการ์ตูน ซึ่งจะทำให้สัตว์ทะเลเปลี่ยนพฤติกรรมและเกิดผลร้ายตามมา ในยามว่างเว้นจากงานก็จัดกิจกรรมเก็บขยะ ผูกทุ่น ติดสติกเกอร์ข้อห้ามต่างๆ ในเรือท่องเที่ยว ช่วยเก็บบันทึกภาพใต้น้ำเพื่อการศึกษาวิจัย และเป็นวิทยากรบรรยายตามสถานศึกษาต่างๆ ฯลฯ
...
ส่วนกิจกรรมบนบกก็มีเทศกาลประจำปี “ปากบาราหัวโทงฟิชชิ่งคัพ” จัดแข่งขันตกปลานานาชาติด้วยเรือหัวโทง โดยมีสโลแกนว่า “ปลาใหญ่ เรือเล็กก็จับได้” งานนี้จัดขึ้นที่ชายหาดอ่าวนุ่นข้างที่ทำการอุทยานแห่งชาติฯ มีกิจกรรมหลากหลายที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสตูล ทั้งการแข่งขันขุดหอย กินปลา การแสดงพื้นบ้าน และออกร้านแสดงผลิตภัณฑ์ นิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์น้ำและอื่นๆ
ปากบารา-อันดามัน สวรรค์ทะเลใต้ ท่าเรือท่องเที่ยวปากบารา คือ ประตูสู่สวรรค์ทะเลใต้ แต่นักท่องเที่ยวน้อยคนที่จะให้ความสนใจกับพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง ด้วยมุ่งหวังเพียงจะลงเรือไปท่องโลกทะเลอันดามันให้สำราญใจ แต่วันนี้ อ่าวปากบารากำลังจะถูกพิจารณาพัฒนาพื้นที่ ไปใช้เป็นที่ตั้งของโครงการท่าเรือน้ำลึกและแหล่งอุตสาหกรรม โดยอันดับแรก พื้นที่ไข่แดงบริเวณหน้าอ่าวปากบารา คือ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา-ตะรุเตา จะต้องถูกเพิกถอนสภาพความเป็นอุทยาน
โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเพียงใด และจะเกิดผลได้ผลเสียอย่างไรต่อประเทศชาติ ภูมิภาคและชุมชนท้องถิ่น.. หลายฝ่ายรีบฟันธงตัดสินไปตามข้อมูลข่าวสารสำเร็จรูปที่ได้รับมาอย่างจำกัด ชุมชนชาวบ้าน สำนักข่าว และองค์กรเอกชนต่างๆ ที่ต้องการให้มีการสื่อสารวิจารณญาณอย่างถ่องแท้ในสังคม
จิระนันท์ พิตรปรีชา ประธานกลุ่มสห+ภาพที่นำช่างภาพอาสาไปบันทึกภาพปากบาราหลายครั้งในช่วงสองปี และคัดส่วนหนึ่งมาแสดงในงานนี้ บอกทิ้งท้ายผ่านไทยรัฐออนไลน์ว่าได้ร่วมมือกันจัดงานเทศกาลศิลปะ “ปากบารา อันดามัน สวรรค์ทะเลใต้” ในวันที่ 24-26 เมษายน นี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยยกภาพรวมของอ่าวปากบารา-ทะเลเภตรา-ตะรุเตา มาให้คนกรุงได้รับรู้ผ่านนิทรรศการศิลปะ จิตรกรรม ภาพถ่าย ดนตรี การแสดง เสวนา และผลิตภัณฑ์พื้นบ้านต่างๆ ที่ห้ามพลาดเลยทีเดียว