ชาวคณะ 20 คน ขับรถคาราวานทะลุอาเซียนครั้งที่หนึ่ง ที่ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ นำทีมเก็บข้อมูลการค้าและการลงทุนในประเทศประชาคมอาเซียน ขณะนี้ขับรถจากกรุงพนมเปญไปถึงนครโฮจิมินห์ซิตี้แล้วครับ และ 12-17 เมษายน ก็จะไปขับรถในลักษณะนี้อีกที่เมียนมาร์

ไปบรรยายกับพ่อเมื่อเดือนที่แล้ว มีคนถามเรื่องลัทธิชาตินิยมคลั่งชาติ ว่าเคยมีบ้างไหมในประเทศอาเซียน? พ่อบอกว่าเคยมีครับ ประเทศที่มีประวัติก่อจลาจลต่อต้านผู้คนที่มาจากอารยธรรมใหญ่กว่าก็คือ เมียนมาร์ พ่อก็ยกตัวอย่างเรื่องที่ชาวเมียนมาร์ก่อจลาจลต่อต้านชาวอินเดียเมื่อ ค.ศ.1930 และ ค.ศ.1938 จากนั้น ชาวเมียนมาร์ก็ก่อการจลาจลต่อต้านชาวจีนเมื่อ ค.ศ.1967

คนอินเดียขยัน เมื่อเข้าไปทำมาหากินในเมียนมาร์ ก็สร้างฐานะชนะคนพื้นเมืองได้ไว สมัยก่อนตอนที่ยังไม่มีปัญหากันนั้น เมียนมาร์ขาดทั้งแพทย์ นักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านตำรวจ ผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟ ฯลฯ คนอินเดียส่วนหนึ่งจึงถูกนำเข้าไปทำอาชีพพวกนี้ในเมียนมาร์ นอกจากนั้น ยังมีชาวอินเดียไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม บริษัท ห้างร้าน รวมทั้งมีชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยที่ไปเป็นกรรมกรค่าแรงถูกในโรงงาน และเข้าไปบุกป่าฝ่าดงเข้าไปรับจ้างทำงานในภาคเกษตรในเมียนมาร์

ค.ศ.1926-1929 มีคนอินเดียเดินทางโดยทางทะเลเข้าไปทำงานในเมียนมาร์เฉลี่ยมากถึงปีละ 400,000 คน

ค.ศ.1930 เกิดเหตุการณ์คนเมียนมาร์ไล่ฆ่าชาวอินเดียในย่างกุ้ง ทำให้ชาวอินเดียตายไปกว่า 500 คน บาดเจ็บอีกหลายพัน ต่อมาก็มีจลาจลในเรือนจำที่ย่างกุ้ง เพราะนักโทษชาวเมียนมาร์ไม่พอใจผู้คุมซึ่งเป็นชาวอินเดีย จึงวางแผนฆ่าผู้คุม แต่ก็ถูกสารวัตรทหารของเรือนจำที่เป็นชาวอินเดียปราบ หลังจากนั้น เหตุการณ์ก็ถูกปลุกปั่น จนการจลาจลลามไปทั้งประเทศ

เหตุการณ์ต่อต้านชาวอินเดียในช่วงนี้ ทำให้คนอินเดียทยอยเดินทางกลับประเทศ จากนั้นเป็นต้นมา คนอินเดียก็กลายเป็นเครื่องมือในการหาเสียงของนักการเมือง ถ้านักการเมืองเมียนมาร์คนไหนต้องการคะแนนก็จะตะโกนด่าคนอินเดีย เท่านี้ก็จะมีความนิยมเพิ่มขึ้น

...

นักการเมืองเมียนมาร์ที่ไม่คิดเรื่องเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ ได้กระตุ้นสังคมจนทำให้เกิดการจลาจลต่อต้านชาวอินเดียอีกครั้งใน ค.ศ.1938 มีคนบาดเจ็บและล้มหายตายจากไปหลายพัน ถึงคราวนี้คนอินเดียได้อพยพออกไปจากเมียนมาร์ครั้งใหญ่ เมื่อคนอินเดียออกไปก็ไม่มีคนเก่งธุรกิจเหลืออยู่ในประเทศ เศรษฐกิจของเมียนมาร์จึงเหี่ยวเฉาเบาลงไปทุกวัน

ยังมีคนอีกเผ่าพันธุ์หนึ่งซึ่งขยันและทำธุรกิจเก่งอยู่ในดินแดนของเมียนมาร์เช่นกัน นั่นคือชาวจีน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคนจีนทำธุรกิจอยู่ในเมียนมาร์ 3 แสนคน จนถึงปี ค.ศ.1960 มีตัวเลขคนจีนอยู่ในเมียนมาร์มากถึง 6 แสนคน คนจีนเก่งธุรกิจ เมื่อมาอยู่ในดินแดนที่อุดมสมบูรณ์อย่างเมียนมาร์ คนจีนก็สร้างฐานะได้รวดเร็วมาก

27 มิถุนายน 1967 คนเมียนมาร์จำนวนหนึ่งออกมาฆ่าฟันทำร้ายคนจีน จากนั้น ก็ตระเวนปล้นและเผาร้านค้าบ้านเรือนของคนจีน ชาวเมียนมาร์อีกส่วนก็บุกเข้าไปในสถานทูตจีนและฆ่านักการทูตจีน จนรัฐบาลจีนต้องออกคำสั่งให้ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนที่ไปช่วยเมียนมาร์เดินทางกลับประเทศ ส่วนเมียนมาร์ตอบโต้ด้วยการปิดโรงเรียนสอนภาษาจีน รวมทั้งไล่คณะผู้สื่อข่าวจีนที่มาประจำอยู่ที่สำนักข่าวนิวไชน่ากลับประเทศเช่นกัน

รัฐบาลปากีสถานเห็นว่าสถานการณ์ชักจะลุกลาม จึงอาสามาเป็นกาวใจเป็นตัวกลางเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเมียนมาร์ แม้ว่าความสัมพันธ์จะกลับมาดีเหมือนเดิม แต่คนจีนก็อพยพออกจากเมียนมาร์ไปแล้วเป็นจำนวนมาก

ผู้อ่านท่านครับ ถ้าคนอินเดียกับคนจีนยังอยู่ในเมียนมาร์ เศรษฐกิจของเมียนมาร์อาจจะดีกว่านี้ ลูกหลานเมียนมาร์อาจจะไม่ต้องมาทำงานในเมืองไทยอย่างเช่นทุกวันนี้ก็เป็นได้.