ประวิตร ประชุมคณะกรรมการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาปรับริมสองฝั่งเป็น Landmark ให้ปชช.ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและทั่วถึง เตรียมเยียวยาปชช.ริมฝั่งแม่น้ำได้รับผลกระทบ

วันที่ 27 ก.พ. ที่ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้งที่ 1/2558 เพื่อหารือถึงการดำเนินงาน รูปแบบโครงการ รวมถึงปัญหาอุปสรรค ผลกระทบ และแนวทางแก้ไขเบื้องต้นในการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมการประชุม อาทิ สำนักพระราชวัง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ในวันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ซึ่งประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการฯ ด้านการบริหารโครงการ ซึ่งจะมีอำนาจหน้าที่ในการศึกษาความเหมาะสม กำกับ ติดตาม และให้ข้อเสนอการปฏิบัติงานแก่อนุกรรมการต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและวัตถุประสงค์โครงการรวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการอำนวยการและคณะรัฐมนตรีทราบ 2.คณะอนุกรรมการฯ ด้านการออกแบบและภูมิสถาปัตย์ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำองค์ประกอบของการก่อสร้าง กำกับการออกแบบ กำหนดเวลา แผนปฏิบัติการ และงบประมาณในการก่อสร้างให้เหมาะสม คุ้มค่า

3.คณะอนุกรรมการฯ ด้านกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ในการศึกษาระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ 4.คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ มีอำนาจหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินโครงการต่อสาธารณะ เพื่อดำเนินการด้านต่างๆ และคณะอนุกรรมการแต่ละชุดสามารถแต่งตั้งคณะทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะได้นำเสนอให้รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบลงนามต่อไป

...

สำหรับการดำเนินการตลอดเส้นทาง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทางรวม 14 กิโลเมตร จะผ่านวัด 8 แห่ง ท่าเรือ 36 แห่ง โรงแรม/ร้านอาหาร 6 แห่ง สถานที่สำคัญขนาดใหญ่ 19 แห่ง โดยมีประชาชนรุกล้ำพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง จำนวน 268 หลังคาเรือน ซึ่งการรุกล้ำพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายจำเป็นจะต้องมีการรื้อ ย้าย บ้านเรือนและประชาชนออกจากพื้นที่เพื่อจัดระเบียบตามดำริของนายกรัฐมนตรีในการคืนพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์มากขึ้น อย่างไรก็ตามจะมีการหารือแนวทางดำเนินการตลอดจนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการดังกล่าวเริ่มตั้งแต่วันนี้ และจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

สำหรับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดขึ้นตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศให้เกิดทัศนียภาพสวยงาม ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เพื่อการพักผ่อน การออกกำลังกาย การจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพและนันทนาการ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างสัญลักษณ์แห่งใหม่ (Landmark) ให้แก่กรุงเทพมหานครและประเทศไทย จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 6 ม.ค.58 จำนวน 34 คน

โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาและกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ในส่วนของคณะกรรมการ ได้แก่ เลขาธิการสำนักพระราชวัง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการวุฒิสภา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มีหน้าที่ กำหนดแนวทางในการดำเนินโครงการ รวมถึงจัดทำแนวทางการศึกษาความเหมาะสม จัดทำรายละเอียดการออกแบบและการก่อสร้าง ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแต่งตั้งอนุกรรมการและคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนโครงการ และมอบหมายให้กรุงเทพมหานครศึกษาแนวคิด การออกแบบและงานด้านภูมิสถาปัตยกรรม ตลอดจนแนวทางการพัฒนาพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

ภายหลังจากรับมอบนโยบาย กทม.ได้ดำเนินการศึกษารายละเอียด พร้อมทั้งจัดทำแนวคิดและออกแบบพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเบื้องต้น ช่วงตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ทั้งสองฝั่ง รวมระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ให้เป็นพื้นที่ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า มีความปลอดภัย และรองรับการสัญจรด้วยจักรยาน (Bike lane) เพื่อให้ประชาชนสามารถชมทัศนียภาพริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และการท่องเที่ยว

พร้อมกันนี้ กทม.ได้แต่งตั้งและจัดประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้แทนจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์และผังเมืองเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ อาทิ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมธนารักษ์ กองทัพเรือ กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้ประกอบการโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อเสนอแนะความคิดเห็น ข้อสังเกต รวมถึงผลกระทบของโครงการที่อาจเกิดขึ้น ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการฯ เพื่อให้โครงการเป็นรูปธรรม มีความเหมาะสม และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน