มติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ตั้งไข่กำหนดแนวทางแจก “คูปองส่วนลด” มูลค่า 690 บาท...ให้กับผู้บริโภค 22 ล้านครัวเรือน ใช้งบ 15,190 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีระบบดิจิตอล
หลังจากนั้น คณะกรรมการกองทุนฯก็มีมติเห็นชอบอนุมัติเพิ่มมูลค่าคูปองเป็น 1,000 บาท แจกให้ผู้บริโภค 25 ล้านครัวเรือน...
แต่ใช้งบเพิ่มขึ้นอีก 10,000 ล้าน รวมแล้วอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท
ปัญหามีว่า การเพิ่มมูลค่าคูปอง เพิ่มด้วยเหตุผลใด...เพื่อใครกันแน่ เพราะไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ไม่มีการเปิดเผยต้นทุนต่อสาธารณะและไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการตรวจสอบ
สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า สาเหตุที่องค์กรผู้บริโภคออกมาคัดค้านการแจกคูปอง 1,000 บาท เพราะจากการเพิ่มมูลค่าคูปองแม้ว่าผู้บริโภคจะได้เงินมากขึ้น แต่ในความเป็นจริง “ผู้บริโภคต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากขึ้น” เพราะราคากล่องรับสัญญาณในท้องตลาดปรับราคาสูงขึ้น
เรียกว่า คนได้ (คูปอง 1,000 บาท)...มีแต่เสีย
ครั้งแรกที่ กสทช.มีมติราคาคูปอง 690 บาท สำรวจตลาดวันที่ 7 เมษายน 2557 พบว่ามีกล่องราคา 690 บาทจำหน่าย หลัง กสทช.อนุมัติคูปองเพิ่มเป็น 1,000 บาท สำรวจครั้งที่ 2 วันที่ 28 เมษายน 2557 พบว่า ราคากล่องที่ขายขยับขึ้นไปเป็นตั้งแต่ 1,290 บาท... 1,390 บาท...และในรุ่น HD คอมโบ 3 in 1 ราคาอยู่ที่ 2,290 บาท
ครั้งที่ 3 หลังกรรมการกองทุนฯ มีมติเห็นชอบแจกคูปอง 1,000 บาท สำรวจตลาดวันที่ 9 มิถุนายน 2557 อีกครั้ง พบว่าราคากล่องบางรุ่นเริ่มขยับตัวเพิ่มอีก 200-300 บาท และในรุ่น HD คอมโบ 3 in 1 ราคาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3,490 บาท...เลยทีเดียว
...
ผลจากการแจกคูปองสะท้อนอะไรบางอย่าง ถ้าแจกคูปองส่วนลดราคา 690 บาท ผู้บริโภคอาจจะไม่ต้องเสียเงินซื้อกล่อง HD คอมโบ 3 in 1 แต่เมื่อขึ้นราคาคูปองเป็น 1,000 บาท...ผู้บริโภคจะต้องเสียเงินเพิ่มอีก 2,490 บาท สำหรับซื้อกล่องยี่ห้อเดียวกัน
สารี บอกอีกว่า ยังไม่นับเรื่องต้นทุนราคากล่องบวกกำไร ที่ไม่น่าจะเกินกล่องละ 500 บาท กสทช.ต้องสั่งซื้อในปริมาณมากถึง 25 ล้านกล่อง ต้นทุนจะยิ่งถูก เท่ากับใช้งบเพียง 12,500 ล้านบาท
ปุจฉา?สำคัญ...งบแจกคูปองแลกซื้อกล่อง25,000ล้านบาท อาจ ทำให้ประเทศชาติสูญเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็นสูงถึง12,500ล้านบาท
ประเด็นต้นทุนกล่องเป็นเรื่องบาดใจ เป็นโอกาสเกิดช่องว่างกระบวนการฉ้อฉลได้ จากการศึกษาพบว่า กล่องรุ่น DVB T2 ตามมาตรฐานที่ กสทช.กำหนด ราคาจำหน่ายไม่เกิน 512 บาท ก็มีกำไรแล้ว
ข้อมูลสนับสนุนการจำหน่ายจากเว็บไซต์อาลีบาบาดอทคอม ซึ่งมีการซื้อขายทั่วโลกพบว่า กล่องรุ่นนี้มีราคาเพียง 403 บาท หากสั่งซื้อจำนวน 5,000 ชิ้น
เรื่องอย่างนี้ ถ้าตั้งใจรู้ก็รู้ได้ไม่ยาก เพียงแต่ใครบางคนอาจไม่อยากรู้...หรือแกล้งโง่ทำเป็นไม่รู้ กสทช.มีอำนาจขอตรวจสอบโครงสร้างราคาต้นทุนที่แท้จริงได้ ต้องไม่ปล่อยให้ความสูญเสียนับหมื่นล้านเกิดขึ้น
ต่อเนื่องกับอีกปัญหาที่เกี่ยวพันกับเทคโนโลยีปัจจุบัน สารี อ๋องสมหวัง ย้อนรอยกรณีข่าว แม่ชาวนาถูกเรียกเก็บค่าบริการ 2 แสนกว่าบาท เพราะลูกเอาโทรศัพท์มือถือไปซื้อไอเท็มในคุกกี้รัน เกมฮิตจนเป็นข่าวใหญ่โต
กรณีนี้...ส่งผลให้สำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล การให้บริการโทรศัพท์มือถือ ต้องเข้ามาดูแล เรียกบริษัทมือถือค่ายต่างๆ และบริษัทกูเกิลที่เป็นเจ้าของระบบ Google Play ซึ่งเป็นช่องทางซื้อขายแอพพลิเคชั่น เข้ามาหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา
สารี ย้ำว่า ปัญหาข้างต้นดูแล้วยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร เพราะเกิดขึ้นกับบริษัทใหญ่ที่มีตัวตน มีระบบชัดเจน แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่าก็คือ ปัญหาเอสเอ็มเอส (sms)...ถูกคิดค่าบริการ ทั้งที่ไม่ได้สมัคร
ไม่ว่าจะเป็น sms ดูดวง ใบ้เลขเด็ด ทำนายผลฟุตบอล คลิปสยิว ฯลฯ บริการ sms พวกนี้แม้จะถูกเรียกเก็บครั้งละไม่มาก แต่รวมๆแล้ว เดือนหนึ่งผู้บริโภคก็ต้องจ่ายเป็นร้อย และที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ ส่วนใหญ่ของบริการ sms พวกนี้ ตั้งใจโกงเงินจากกระเป๋าของคนใช้มือถือกันดื้อๆ
ที่กล้าใช้คำว่า “โกง” ก็เพราะมีการเขียนโปรแกรมล้วงเงินจากมือถือ ที่เรียกว่า “Hack jaking” ซ่อนอยู่กับตัวแบนเนอร์โฆษณาในเว็บไซต์ต่างๆทันทีที่เราเอานิ้วลากผ่านไปสัมผัสโดนแบนเนอร์พวกนี้ โปรแกรมก็จะส่งสัญญาณยืนยันการสมัคร sms ไปยังบริษัทมือถือ ให้คิดเงินค่าบริการข้อมูลข่าวสารทันที
ยิ่งทุกวันนี้ คนนิยมใช้สมาร์ทโฟนหน้าจอสัมผัส โอกาสที่นิ้วจะเผลอไปสัมผัสโดนแบนเนอร์โจรพวกนี้ก็ยิ่งมีมากขึ้น กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เงินหมดโทรศัพท์ไปแล้วสำหรับคนที่ใช้แบบเติมเงิน
ส่วนผู้ที่ใช้แบบรายเดือนดีหน่อย ยังมีโอกาสตรวจสอบบิลเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่เคยสมัคร ไม่เคยใช้ประโยชน์...เมื่อโทร.ร้องเรียนกับบริษัทมือถือ ส่วนใหญ่ก็จะยอมยกเลิกไม่เก็บค่าบริการ พวกนี้ให้แต่โดยดี ราวกับค่ายมือถือรู้ดีว่า เบื้องหลังของบริการ sms พวกนี้มีความไม่ชอบมาพากลอย่างไร
อาจเพราะบริษัทมือถือได้รับส่วนแบ่งคนละครึ่งจากค่า sms ซึ่งข้อมูลจากแหล่งข่าววงในระบุว่าในแต่ละเดือนมีคนตกเป็นเหยื่อ sms โกงพวกนี้เดือนละประมาณ 1 ล้านคน ค่าบริการเดือนละ 10-50 บาท/บริการ คนโกงก็รับทรัพย์ไปหลายสิบล้านบาท แต่คนรับกรรมก็คือผู้บริโภค
ด้านการกำกับดูแล ป้องกัน แก้ไข สำนักงาน กสทช. รับทราบถึงปัญหานี้มาโดยตลอด เพราะเรื่องร้องเรียนปัญหาถูกคิดค่าบริการจาก sms ที่ไม่ได้สมัครนี้ อยู่ในกลุ่มปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามามากที่สุดในแต่ละปี
แต่...สิ่งที่สำนักงาน กสทช.ทำก็แค่ขอให้บริษัทมือถืออย่าคิดเงินกับคนที่ร้องเรียน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะมีผู้บริโภคอีกมากที่ไม่อยากเสียเวลาร้องเรียน เพราะถูกโกงเงินไปแค่หลักสิบ หลักร้อย ประเด็นสำคัญมีว่า...จริงๆแล้วปัญหา sms...เข้าข่ายการฉ้อโกงประชาชนเลยทีเดียว
ตามพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 31 วรรค 2 และมาตรา 77 กฎหมายให้อำนาจ กสทช. ที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ได้ว่า...การกระทำในลักษณะใดเข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ และ กสทช.มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวได้
ซึ่งหากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมผู้ใด ได้รับคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตาม กสทช. ก็มีอำนาจปรับทางปกครองไม่เกินห้าล้านบาท และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งแสนบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติตามคำสั่ง
สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทิ้งท้ายว่า กฎหมายได้ให้ “ดาบ” กสทช.ไว้จัดการปัญหาบริการ sms เอาเปรียบผู้บริโภคไว้แล้วตั้งแต่ปี 2553 แต่ดูเหมือนที่ผ่านมา กสทช. จะยังไม่ได้มีความเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง หรือว่าปัญหาต่างๆในประเทศนี้จะต้องจัดการด้วย “ปืน” จึงจะเห็นผล?